ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ่งหนึ่งที่ทั้ง “คนชอบ” และ “คนไม่ชอบ” ใน “พรรคอนาคตใหม่” ต้องตระหนักให้มากก็คือ ไม่ว่าจะ “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” มิได้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างกับ “พรรคอนาคตใหม่” เท่าใดนัก เพราะถึงอย่างไร “พรรคส้ม” ก็จะเดินหน้าทำงานการเมืองกันต่อไป เพียงแต่ “กรรมการบริหารพรรค” จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปก็เท่านั้น
“แถว 1” พลาด ก็ต้องถอยฉาก
จากนั้นก็ปล่อยคิวให้ “แถว 2” ได้ฉายแสงบ้าง...ก็เท่านั้น
ที่สำคัญคือ การสลับหน้าฉากให้ “คนใหม่ๆ” อย่าง “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หรือ “ดร.ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล” เข้ามาเล่นบ้าง ก็น่าทำให้ “ภาพลักษณ์” ของพรรคดีขึ้น ไม่ใช่ “ไต่เส้นลวด” ในเรื่อง “สถาบัน” ให้เป็นที่หวาดเสียวอย่างที่ “3 แกนนำ” คือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช” กระทำ
ที่ผ่านมาสังคมได้เห็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของ ส.ส.คนรุ่นใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ หลายต่อหลายคนทำหน้าที่ได้ดีในสภาผู้แทนราษฎร ทำการบ้านและศึกษาข้อมูลอย่างเอาจริงเอาจัง แตกต่างจากบรรดา “นักการเมืองเก่า” ที่เล่นการเมืองแบบน้ำเน่าแย่งชิงเก้าอี้และรับบทองครักษ์พิทักษ์นายกันแบบตะพึดตะพือ
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาจากตัวเลขแคมเปญ “SAVE อนาคตใหม่” ก็ยิ่งเห็น “ข้อเท็จจริง” บางประการ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มากเท่าที่ควรเพราะมีแค่ราวๆ 3 หมื่นรายชื่อ ขณะที่สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่มีร่วม 7 หมื่นคน
เป็นไปได้หรือไม่ว่า สมาชิกจำนวนไม่น้อยก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของแกนนำพรรครุ่นเก่าที่พวกเขาเห็นว่าไม่สามารถนำพาพรรคให้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
ปัญหาก็คือ “นายทุนพรรค” อย่าง “เสี่ยเอก” จะยอมหรือไม่ก็เท่านั้นเพราะลงทุนลงแรงและลงเงินไปเยอะ
ยิ่งดูแต่ละโพสต์ของ “แกนนำค่ายสีส้ม” ที่เรียงคิวออกมา “สั่งเสีย” นับถอยหลังที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดหมายอ่านคำวินิจฉัย “ยุบพรรค” ตามคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจาก “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ก็ยิ่งเห็นว่า “เถียงคำไม่ตกฟาก”
โดยเฉพาะ “ธนาธร” ที่อ้างว่า การกู้เงินทำอย่าง โปร่งใส แต่กลับโดนสกัด พร้อมประชดว่า ประเทศไทยคงต้องงุบงิบกันเหมือนเดิม
ขณะที่ “จารย์ป๊อก” ปิยุบตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ก็ยังหมกมุ่นอยู่กับประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดีพอวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม
ทำให้ “ค่ายเฮียทอน” ออกมาโวยวายใหญ่โต หวังให้ศาลเปิดการไต่สวน นัยหนึ่งเพื่อ “ประวิงเวลา” ให้ผ่านพ้นภารกิจสำคัญ คิวการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลที่กำหนดเริ่มต้นในวันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นไปเสียก่อน
แต่เมื่อไม่เป็นผล ขุนพลศึกซักฟอกหลายรายก็เริ่มทำใจว่าจะไม่ได้ร่วมโชว์ฟอร์มอภิปรายไม่ไว้วางใจ “รัฐบาลประยุทธ์” เป็นครั้งแรกเสียแล้ว
ด้วยมีการประเมินกันว่าโทษทัณฑ์ “เลวร้ายที่สุด” ที่พรรคอนาคตใหม่ จะได้รับคือ ยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคด้วย
ขณะที่ “เบาหน่อย” ก็แค่ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด หรือเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับการกู้เงินดังกล่าว
ทั้งนี้ หากติดตาม “โพสต์สั่งลา” ของทั้ง “ธนาธร-ปิยุบตร” หลายต่อหลายครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะพบว่า ในคำอธิบาย “ไม่ยอมความผิด” นั้น ก็แฝงไปด้วยอารมณ์ “ทำใจ” กับผลที่จะตามมา
และพยายามใช้เป็นประเด็น “โชว์หล่อ” อย่างต่อเนื่อง
กระทั่งโพสต์ล่าสุดของ “เสี่ยเอก” ในหัวข้อ “1 วันก่อนการอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่คดีเงินกู้” ที่ระบุช่วงหนึ่งว่า
“หากย้อนเวลากลับไปได้ หากเราถูกกีดกันทุกวิถีทางในการในระดมทุนเหมือนที่ผ่านมา และหากจำเป็นต้องกู้ เราก็จะทำเช่นเดิม จะกู้เงินอย่างเปิดเผยและตรวจสอบได้เหมือนเดิม จะยืนหยัดยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง แม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ตาม”
ถอดรหัสไม่ยากว่า พยายามอ้าง “เจตนาบริสุทธิ์” เพื่อกลบเกลื่อน “ความผิดพลาด” ของตัวเอง
ต่างจากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง “หลังฉาก” ซึ่งว่ากันว่า “เสี่ยเอก” เจ้าของพรรค มักบ่นพึมพำกับคนรอบข้างว่า “รู้งี้คงไม่ทำ...” บ่อยครั้ง ตั้งแต่กรณีการถือหุ้นสื่อ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นความพยายามโอนหุ้นย้อนหลัง จนขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. และถูกสั่งให้พ้นสถานภาพ ส.ส.ไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ “คดีกู้เงิน” นั้น หากได้ติดตามคำชี้แจงมาแต่ต้น ก็จะพบว่าเป็น “ความผิดเต็มประตู” ของ “ทีมกฎหมาย” ในพรรคเอง ซึ่งคงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากนักกฎหมายขั้นเทพอย่าง “จารย์ป๊อก” ที่ตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ยังไปง่วนรื้อแฟ้มงบดุลของหลายพรรคการเมืองมาเทียบเคียงกับการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่
ก่อนที่จะ “หน้าแหก” เพราะปรากฏว่า ที่ “ปิยบุตร” หยิบมาอ้างนั้นเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายคนละฉบับ
กล่าวคือ “กฎหมายเก่า” พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ที่เคยเปิดช่อง “รายได้อื่น” จึงเคยมีรายการ “เงินกู้ยืม” ในบัญชีงบดุลของหลายพรรคการเมือง แต่ “กฎหมายใหม่” พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ใน “มาตรา 62” ระบุว่า พรรคการเมืองมี “รายได้” ได้จาก 7 ช่องทาง เช่น รับบริจาค จัดระดมทุน หรือขายสินค้า แต่ไม่มีกำหนดว่าให้ “กู้เงิน” มาใช้จ่ายได้
พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสัญญาณ “คดีกู้เงิน” ชัดเสียยิ่งกว่า “คดีล้มล้างการปกครอง” ในการยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเป็นความผิดที่ “จับต้องได้” ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ เช่นคดีก่อนที่ “ค่ายเฮียทอน” รอดมาได้
สำคัญที่ในคำร้องของ กกต.ถึงศาลรัฐธรรมนูญ หยิบเอา “มาตรา 72” ที่ว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับเงินโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย” มาเป็น “ข้อหาหลัก” แทนที่ “มาตรา 66” ที่พูดถึงเพดานการรับบริจาคของพรรคการเมือง ที่ผู้ร้องยื่นมา
ที่ว่าสำคัญก็เพราะ ฐานความผิดตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง นั้นคือให้พิจารณา “ยุบพรรค” ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 ของกฎหมายฉบับเดียวกันนั่นเอง
ต่างจาก “มาตรา 66” ที่ “ผู้ร้อง” ยื่นเข้ามาให้ กกต. ซึ่งโทษสูงสุดเพียงแค่ “โดนปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ถูกริบเงินส่วนเกิน และตัดสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี”
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี โดยศาลเห็นว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจำนวนดังกล่าว ถือเป็นการรับเงินบริจาคหรือประโยชน์อื่นใด ฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่นั้น พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 ได้กำหนดแหล่งที่มาไว้ชัดเจน เงินที่ได้มานอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ แม้เงินกู้ไม่เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมือง และการให้กู้ของนายธนาธรเป็นการให้เงินกู้โดยเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปรกติวิสัยสำหรับการกู้เงิน มีพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ไม่เป็นไปตามปกติวิสัยทางการค้า เมื่อรวมเงินที่ได้จากนายธนาธรจึงถือว่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี เป็นการกระทำผิดมาตรา 66 และมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดและถูกยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรรคหนึ่ง (3) ประกอบ มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค พร้อมห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน
เอาเข้าจริง “คนอนาคตใหม่” ก็รู้ตัวว่า “คงไม่รอด” เพราะ “เฮียทอน” ก็ชัดเจนแล้วว่า จะเทกโอเวอร์ “พรรคใหม่” รองรับ ส.ส.ให้มีการสังกัดรักษาสมาชิกภาพเอาไว้ หลังจากพรรคถูกยุบภายใน 30 วัน
คาดว่าหมุดหมายต่อไปของ “ค่ายสีส้ม” น่าจะไปปักหลักที่ “พรรคสามัญชน” ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส.รอบที่ผ่านมาเพียงไม่กี่เขต และไม่ได้ ส.ส. โดยได้คะแนนมากว่า 5 พันคะแนนจากทั่วประเทศ
โดย “ธนาธร” แสดงความเชื่อมั่นว่า จะยังมี “เลือดแท้” ไม่ต่ำกว่า 60 คนที่พร้อมเดินทางไปด้วยกัน
และที่แน่ๆ คือ “แถว 1” ของพรรค ต้องพ้นจาก ส.ส.โดยอัตโนมัติ ไม่รวม “ธนาธร” ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ตั้งแต่ ปิยบุตร แสงกนกกุล - พรรณิการ์ วานิช- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ - ชำนาญ จันทร์เรือง - พล.ท.พงศกร รอดชมภู - ไกลก้อง ไวทยการ - เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ - สุรชัย ศรีสารคาม - เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ - จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ รวมทั้ง นิรามาน สุไลมาน ที่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคไปก่อนหน้านี้ก็ไม่น่ารอด
ซึ่งส่วนใหญ่ อาทิ “จารย์ป๊อก - สาวช่อ - ครูจุ๊ย - ชำนาญ - เสธ.โหน่ง - ไกลก้อง” เป็นอาทิ ถือเป็น “อาวุธหนัก” ในสภาฯของพรรคอนาคตใหม่ และฝ่ายค้านมาตลอดครึ่งค่อนปีที่ผ่านมา
เมื่อการบริหารพรรคเกิดความผิดพลาดขึ้น ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมกันไป
แต่ก็อย่างที่ “หัวหน้าเอก” มั่นใจว่า จะมีเลือดแท้มากกว่า 60 ชีวิต “ไม่ถอย ไม่ทน” ต่อไปด้วยกัน ก็ต้องถือว่า พรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่ได้เสียหายมาก แม้ “คีย์แมน” จะหลุดจาก ส.ส.กันเป็นแถว แต่ต้องยอมรับว่าการทำงานในสภาฯที่มือของฝ่ายค้านน้อยกว่า จะอภิปรายหวือหวาแหลมคมแค่ไหน ก็แพ้โหวตอยู่วันยังค่ำ
ไม่ต้องอะไรมาก ญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการหาแนวทางต่อต้านการรัฐประหาร ที่ “ปิยบุตร” เสนอ ก็ยังถูกสภาผู้แทนราษฎร ที่เต็มไปด้วย “นักเลือกตั้ง” ที่เป็นผู้เสียประโยชน์แรกๆ หากมีการรัฐประหาร โหวตคว่ำอย่างไม่ใยดี
ไม่ใช่แค่ “ส.ส.รัฐบาล” ที่เป็นเบี้ยล่างให้กับ “ท็อปบูต” ยังมี “ส.ส.ฝ่ายค้าน” ที่เบี้ยวไปหลายสิบคนเลยทีเดียว
คงพูดไม่ผิดได้ว่า สู้ให้ตาย ก็เหนื่อยเปล่า ถูกเขี่ยออกจากระบบ แล้วไปเล่น “เกมนอกสภา” อาจดีกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมีประเด็น “ถูกกระทำ” ให้ปั่นกระแสต่อเนื่องอีกด้วย
ส่วน “เกมในสภา-เกมในระบบ” ก็ฝากฝังส่งไม้ต่อให้ “แถว 2” ที่ต้องยอมรับว่าไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ ทำผลงานในสภาฯได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง
โดดเด่นเตะตากว่าใครเพื่อน ไม่พ้น “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่คาดว่าจะรับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทน “เสี่ยเอก” ยังคงสม่ำเสมอโดยเฉพาะแง่มุมการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร และที่ทางทำกิน ครั้งหนึ่ง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถึงกับเอ่ยปากชมกลางสภาฯมาแล้ว
อีกราย “ดร.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล เป็น “ซุป’ตาร์” อีกคนที่รอดพ้นจากการสิ้นสภาพ ส.ส. เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม ถือเป็นดาวเด่นในด้านเศรษฐกิจ-เศรษฐศาสตร์ จนถูกยกชื่อคั่วตำแหน่ง “ดาวสภา” มาตลอด
เรื่องกฎบัตรกฎหมาย ก็ยังมี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ระยะหลังไต่บันไดซัด วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อดีตไอดอลด้านกฎหมายของตัวเองอย่างดุเดือด หรืออย่าง ธีรัจชัย พันธุมาศ ก็ดูเข้าที
ส่วนงานด้านแรงงาน มีตัวชูโรง ทั้ง วรรณวิภา ไม้สน - สุเทพ อู่อ้น สายคมนาคมเมกะโปรเจ็กต์ ก็ต้อง สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ คอยเกาะติด เช่นเดียวกับ “หมอเก่ง” วาโย อัศวรุ่งเรือง ที่ได้หมดทั้งด้านสาธารณสุข-เทคโนโลยี ขณะที่สาย LGBT หรือสายชาติพันธุ์ ก็ยังอยู่กันครบครัน ไม่นับรวม ส.ส.เขตที่งานเข้าตาอีกหลายคน
หรือแนวรบด้านประชาธิปไตย ฟาดฟันกับขุนทหาร ก็หายห่วง ตัวจี๊ดยังเหลือหลายคน ตั้งแต่ “หนุ่มโรม” รังสิมันต์ โรม หรือ “เจ๊เจี๊ยบ คอนถม” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ลุกขึ้นอภิปรายแหลมเปี๊ยบ-หมิ่นเหม่ล้ำเส้น ตามแนวของ “ค่ายสีส้ม” มาตลอด รวมไปถึง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตวิศวกร ที่ช่วงหลังมาแนวฮาร์ดคอร์ไล่หวด “ท็อปบูต” อย่างเมามัน
ที่ไล่เรียงมาแสดงให้เห็นว่า ภายในพรรคอนาคตใหม่ ยังมีคนคุณภาพที่ถูก “ประเมินต่ำกว่าที่ควร” อีกเยอะ เพราะที่ผ่านมาถูกความเด่นของ “ธนาธร - ปิยุบตร - พรรณิการ์” กดทับมาตลอด
เมื่อ “คนแถว 1” บริหารผิดพลาด จนต้องรับผิดชอบผลกรรมของตัวเองไป ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ “คนแถว 2” ขึ้นมาฉายแสงเจิดจ้าแทน “แกนนำไม่กี่คน” ที่เคยขโมยซีนไปจนหมด.