xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งไป จีนมา ญี่ปุ่นผวา ภูมิทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมรถยนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ยี่สิบปีพอดี สำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของจีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกจากสหรัฐอเมริกา

จีเอ็มเข้ามาปี 2543 ตั้งโรงงานผลิตรถยี่ห้อเชฟโรเลตขายเอง ทำการตลาดเอง แม้จะไม่ใช่ค่ายรถอเมริกันรายแรก เพราะฟอร์ดมาก่อนแล้ว 4-5 ปี แต่ความเป็นเบอร์หนึ่งจากดีทรอยต์ ทำให้การมาของจีเอ็มเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของจีเอ็มในไทย ไม่ได้รุ่งโรจน์อย่างที่คาดหวังไว้ “เชฟโรเลต” แม้จะเป็นชื่อติดปาก แต่คนไทย แต่ยอดขายเป็นคนละเรื่อง ตลาดรถเมืองไทย ถูกยึดครองด้วยค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นมาช้านาน เครือข่ายการตลาด การบริการหลังการขายที่กว้างขวาง และมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้รถญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของผู้ใช้รถ

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีเอ็มไม่ประสบความสำเร็จในไทย คือ คุณภาพรถที่มักจะมีปัญหาจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ และการแก้ไขปัญหาเมื่อมีผู้ร้องเรียนที่ไม่ยอมรับผิดชอบ แต่แก้ปัญหาแบบขอไปที ทำให้ภาพลักษณ์ “เชฟโรเลต” ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว ก็ต้องยกเลิกการผลิตรถเก๋งหันไปผลิตและขายแต่รถกระบะ และเอสยูวี โดยเน้นที่การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

การขายโรงงานประกอบ และโรงงานผลิตเครื่องยนต์ที่ระยองให้กับบริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ จากประเทศจีน เป็นการตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย แม้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของบริษัทแม่ ที่ทยอยขายกิจการ ถอนตัวจากการลงทุนในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตามนโยบายของ แมรี่ บาร์ร่า ซีอีโอหญิงของจีเอ็ม ที่จะเลิกผลิตรถพวงมาลัยขวา เพื่อเน้นไปที่การลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคตคือ รถยนต์ไฟฟ้า และรถที่ขับเคลื่อนเองโดยอัตโนมัติ

สำหรับผู้มารับเซ้งต่อศูนย์การผลิตเชฟโรเลต คือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน ผู้ผลิตรถกระบะ และรถเอสยูวีที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นผู้ผลิตรถจากจีนรายที่สองที่เข้ามาลงทุนฐานการผลิตในประเทศไทย เพื่อขายในประเทศ และส่งออกไปอาเซียน

รายแรกคือ เอสเอไอซี หรือเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเข้ามาได้ประมาณ 6-7 ปีแล้ว โดยร่วมทุนกับเครือซีพีสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ยีห้อ “MG” ซึ่งจนถึงขณะนี้ ต้องบอกว่า ได้รับความสำเร็จบนท้องถนนจะเห็นรถเอ็มจีมากขึ้น เพราะมีดีไซน์ทันสมัยทั้งภายใน ภายนอก และใช้กลยุทธ์ราคาบุกตลาดอย่างได้ผล

การเข้ามาลงทุนแบบเต็มตัว คือ ลงทุนสร้างฐานการผลิตของค่ายรถจากจีน 2 รายนั้น จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไปจากเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะมาทีหลัง แต่ก็มีความพร้อมในเรื่องเงินทุน ผลิตภัณฑ์แบรนด์เทคโนโลยี
แม้จะเป็นรถยนต์แบรนด์จีนที่คนไทยไม่คุ้นเคย แต่ถ้าดูจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ MG แล้ว แสดงว่า คนไทยสมัยนี้ไม่ปฏิเสธรถจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีราคาต่ำกว่ารถญี่ปุ่น แต่คุณภาพไม่ห่างกันมากนัก เรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว

เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การตลาด และการบริการหลังการขาย ที่จะชี้ขาดว่า ในระยะยาวแล้ว รถยนต์ค่ายจีนจะเขย่าบัลลังก์แย่งชิงส่วนแบ่งจากรถญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตลาดตลอดกาลได้หรือไม่

ผู้ผลิตรถยนต์จีนนั้น มีเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกราย เพราะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นที่หนึ่งของโลกภายในปี 2025 จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

สองปีก่อน เกรท วอลล์ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์คือ Great Wall C 30 EV และร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ BMW ผลิตรถ Mini EV สำหรับขายในจีน

จีนนั้นมาทีหลังในอุตสาหกรรมรถยนต์แบบสันดาปภายใน คือ ใช้น้ำมัน แก๊ส ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ไม่มีทางไล่ทันผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ในตลาดโลก จึงก้าวกระโดดไปหาเทคโนโลยีใหม่คือ รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเริ่มต้นพร้อมกับผู้ผลิตจากประเทศอื่นๆ ไม่เสียเปรียบกัน

รถยนต์ยี่ห้อเอ็มจีของเอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพีก็มีรถยนต์ไฟฟ้า โดยเปิดตัวเมื่อกลางปีที่แล้ว ชื่อรุ่น “New MG ZS Ev” เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของเอ็มจีในประเทศไทย ในราคาเพียง 1.19 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพงเกินกว่าคนทั่วไปจะเอื้อมถึง

รถไฟฟ้าแซดเอส อีวี นี้ โฆษณาว่า วิ่งได้ไกล 350 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งตามทฤษฎี น่าจะพอกับการขับขี่ในเมือง แต่ในสภาพการใช้งานจริง อย่างในกรุงเทพฯ มีการจราจรติดขัด คงจะวิ่งไม่ถึง 350 กิโลเมตร ส่วนเวลาในการชาร์จไฟแบบปกติใช้เวลานานถึง 6.5 ชั่วโมง แบบชาร์จด่วนหรือควิกชาร์จใช้เวลา 30 นาที

ข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้คือ ราคาแพง วิ่งได้ไม่ไกล ใช้เวลาชาร์จไฟนาน และไม่มีสถานีชาร์จไฟอย่างทั่วถึง และมากพอ เรื่องราคา ระยะทาง เวลาชาร์จไฟ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสามารถลดข้อจำกัดเหล่านี้ลงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว เรื่องจำนวนสถานีชาร์จไฟนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว หากต้องการส่งเสริม อุตสาหกรรมรถยนต์ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามนโยบายที่ประกาศไว้

การจากไปของจีเอ็ม และการเข้ามาของเกรท วอลล์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้ลงทุนจากอเมริกันเป็นจีนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ ยกระดับเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยค่ายรถยนต์จากจีน 2 รายนี้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ที่จะเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น