xs
xsm
sm
md
lg

มองมะลักกา เห็นยุทธศาสตร์ทางทะเลของสยามและไทย

เผยแพร่:   โดย: เอนก เหล่าธรรมทัศน์



เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
รองอธิการบดี ฝ่ายสังคมศาสตร์ ม.รังสิต

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ผมได้รับเชิญให้ไปพูดที่ ม รังสิต เพื่อแสดงความเห็นว่าไทยเราควรจะขุดคลองเชื่อมสองทะเลของเราที่ภาคใต้ดีหรือไม่ บังเอิญผมต้องไปเยือนมะลักกาในมาเลเซีย จึงต้องปฏิเสธไป แต่ที่จริงสองเรื่องนี้ มะลักกาและการขุดคลองนั้น โยงเข้ามาหากันได้ จึงถือโอกาสนี้เขียนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มะลักกา อยู่ในช่องแคบมะลักกา ซึ่งสำคัญกับการเดินเรือระหว่างจีนกับอินเดียมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 14-15 แล้ว ปัจจุบันนี้ก็สำคัญมาก ไม่น้อยไปกว่าคลองสุเอซและคลองปานามา มะลักกานั้นอยู่ประมาณครึ่งทางระหว่างกัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์ ถ้าท่านนั่งเครื่องบินไปจากกรุงเทพฯ ก็ใช้เวลาสักสองชั่วโมง ถึงมะลักกา แต่เชื่อกันไหมครับ แม้อยู่ไกลขนาดนั้น แต่มะลักกาส่งบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา และเคยถูกสยามลงมาตีคุกคาม

บันทึกของจีนยืนยันว่าเมื่อเจิ้งเหอคุมกองเรือใหญ่แสดงแสนยานุภาพไปทั่วมหาสมุทรอินเดียเจ็ดครั้งในต้นคริสตศตวรรษที่ 15 นั้น สองในเจ็ดครั้งนั้น เจิ้งเหอและกองเรือแวะเข้ามาที่พระนครศรีอยุธยา นำเอาพระราชสาส์นจากจักรพรรดิจีนมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย กำชับกำชาไม่ให้อยุธยาลงไปคุกคามมะลักกา อย่างที่เคยทำมา เพราะ ณ บัดนี้มะลักกา กลายเป็นรัฐในอารักขา และ เป็นเมืองท่าค้าขายของจีนไปเสียแล้ว

อยุธยานั้น ขอย้ำครับ ไม่ได้สนใจแต่การรวมดินแดน หรือ ขยายอำนาจไปในทางบกเท่านั้น สายตาของชนชั้นนำอยุธยาไม่ได้เพ่งไปทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น หากยังสนใจภาคใต้ และทะเล-มหาสมุทร ด้วย สยามแต่โบราณกาล เป็นทั้งพระราชอาณาจักรทางบก และ ทางทะเล

ทะเลนำมาทั้งศาสนาและอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา สุมาตรา ชะวา มาทั้งพราหมณ์ ทั้งพุทธ มาทั้งสันสกฤต ทั้งบาลี มาทั้งศาสนา หลักธรรม และมาทั้งแนวคิดแบบแผนการปกครอง ขณะเดียวกันทะเลและสมุทรก็นำมาซึ่งการค้ากับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทางหนึ่ง และอินเดีย เปอร์เซีย และ ดินแดนที่อยู่ไปทางตะวันตกกว่านั้น ในอีกทางหนึ่ง ความรุ่งเรืองไพบูลย์ของกรุงศรีอยุธยานั้น มาจากการค้าทางไกลผ่านทะเลผ่านสมุทรนี้เอง

ด้วยเหตุนี้สยามจึงสายตายาวไกล ถึงกับสนใจและแผ่อำนาจลงไปไกลโพ้น แผ่ใต้ลงไปจนถึงมะลักกา ซึ่งหากคิดเป็นระยะเดินทางแล้ว จากอยุธยาไปจนถึงมะลักกานั้น ระยะทางยาวสองเท่าโดยประมาณ เมื่อเทียบกับอยุธยาไปเชียงใหม่ทีเดียว ครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีอยู่นานถึง 417 ปี ไม่มีย้าย และเมื่อกรุงแตกย่อยยับ จนต้องย้าย ก็ย้ายมาบริเวณกรุงธนบุรี-กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ติดทะเลยิ่งขึ้นไปอีก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางสยามนั้นต้องการกุมทะเลอ่าวไทย แต่ยิ่งกว่านั้น ต้องขอรีบบอกครับ ชนชั้นนำของเราต้องการกุมทะเลอันดามันไว้ด้วย

จากกรุงศรีอยุธยานั้น ไทยเรากุมทะเลอันดามันได้ตั้งแต่ทะวายซึ่งสูงในระดับเดียวกับกาญจนบุรี การเดินทางและลำเลียงขนส่งจากทะวายมาอยุธยานั้น ถือว่าสะดวกและใกล้ยิ่ง ดินแดน-กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี-ที่อยู่ระหว่างเมืองทะวายกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯนั้น คือ “แลนด์บริดจ์” ที่เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ที่อยู่ใกล้เมืองหลวงเราที่สุด นับแต่อดีตกาลมาแล้วครับ

ข้อเสนอในการขุด “คลองกระ” หรือ “คลองไทย” หรือการทำ “แลนด์บริจ” เชื่อมสองทะเลนั้น ดูอย่างนี้แล้ว มิใช่อะไรอื่นไกล หากเป็นการเดินตามรอยยุทธศาสตร์ทะเลอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนไทยนั่นเอง ซึ่ง เรื่องการขุดคลองนั้นขอเพิ่มเติมให้นะครับ ก็มิใช่ข้อเสนอใหม่อะไรนัก สมเด็จพระนารายณ์เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว ก็เคยทรงมีพระราชดำริที่จะขุดมาแล้ว

บรรพชนเรานั้นกุมคาบสมุทรที่เชื่อมต่อสองทะเลสองสมุทรได้ค่อนข้างยาวมาก ฝั่งอ่าวไทยนั้นกุมได้ตั้งแต่ระดับสมุทรสงครามลงมาจนถึงตรังกานูในมาเลเซียทุกวันนี้ ส่วนฝั่งทะเลอันดามันนั้น ในอดีต ทะวาย มะริด ก็อยู่ใต้สยาม สรุปว่าด้ามขวานทองนั้นเราเคยกุมมาตั้งแต่ที่อยู่ติดขวานลงมาจนสุดขวาน สองทะเลนั้นตกอยู่ใต้การควบคุมของเรา คาบสมุทรของเราในอดีตกินแดนตั้งแต่ภาคกลางทุกวันนี้ลงไปจนถึงภาคใต้ทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงกุมการค้า การเดินเรือ ระหว่างฝั่งจีนกับฝั่งอินเดียได้ น่าจะมากกว่าชาติอื่นใดในสุวรรณภูมิ และอย่าลืมว่าในอดีตนั้น จีน และ อินเดีย คือสองชาติที่รวยที่สุดในโลก

น่าจะถึงเวลาแล้วครับ ที่เราต้องมองไปที่ทะเลและมหาสมุทรมากกว่านี้ ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ประเทศเรานั้นเป็นประเทศทางทะเลด้วยอย่างแน่นอน และในอดีตนั้น เราเป็นชาติอำนาจในทางทะเลมาแล้ว ควรรื้อฟื้นยุทธศาสตร์ทางทะเล ยุทธศาสตร์คาบสมุทร และการเชื่อมต่อยึดโยงสองทะเลของบรรพชนขึ้นมาศึกษา เพื่อเป็นเข็มทิศชี้ทางให้กับยุทธศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น