ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Business Analytics and Data Science
หลักสูตร Ph.D. & M.Sc. in Applied Statistics
สาขาวิชา Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตหรือ MBA เป็นหลักสูตรปริญญาโทยอดนิยม ที่เกิดมาจากในสหรัฐอเมริกาก่อนเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว และได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ในประเทศไทยหลักสูตร MBA ก่อตั้งครั้งแรกที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือทางวิชาการจาก Business School ชื่อดังของโลกจากมหาวิทยาลัยอินเดียอาน่า และมีอาจารย์ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่นั่นกันหลายคน
MBA เป็นหลักสูตรยอดนิยมที่ได้รับความแพร่หลายในสังคมไทย นายจ้างก็ให้ทุนเรียน MBA นักศึกษาและคนทำงานมาแล้วก็อยากเรียน MBA จบสาขาวิชาอะไรมาก็เรียน MBA ได้ บางสาขาวิชาเช่น วิศวกรรมศาสตร์ จบ ป.ตรี วิศวะมาต้องต่อ MBA โดยเฉพาะสาขาการเงิน ถนนทุกสายวิ่งเข้าหา MBA และทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็เปิดสอน MBA กันอย่างแพร่หลาย ต่างอำนวยความสะดวกให้คนเรียน MBA ไม่ว่าจะหลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ เรียนตอนเย็นวันธรรมดา หลักสูตรอินเตอร์ I-MBA เรียนเป็นภาษาอังกฤษ หลักสูตร Y-MBA สำหรับผู้บริหารระดับต้น หลักสูตร X-MBA สำหรับผู้บริหารระดับกลางหรือสูง หลักสูตร Flexible MBA ให้จัดตารางเรียนได้เอง เรียนได้นานและยืดหยุ่นไปตามภาระงาน และมีคอร์สสั้น ๆ เช่น MINI MBA หรือ Micro MBA สอนกันอย่างแพร่หลาย เป็น certificate แบบไม่เอาปริญญา และหลักสูตรอื่น ๆ ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับ MBA เช่น การจัดการสำหรับผู้บริหารเป็นต้น
ความยอดฮิตของหลักสูตร MBA ในอดีตทำให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิด MBA แข่งกันเพื่อหารายได้ สร้างเงินให้มหาวิทยาลัยเป็นแม่วัวเงินสด (Cash cow) สำหรับทั้งคณะ มหาวิทยาลัย และตัวอาจารย์ผู้สอนเอง เพราะความนิยมทำให้หลักสูตร MBA สร้างมนุษย์ทองคำ ทำให้เกิดการชุบตัว และทำให้เปลี่ยนงานหรือก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารได้ไวมากขึ้น
อาจารย์สอน MBA บางคนมีสินทรัพย์นับร้อยล้านบาท ซึ่งทำได้ เพราะสอน MBA ภาคพิเศษชั่วโมงละห้าพันบาท บางคนสอนเสาร์-อาทิตย์ รวมกัน 18 ชั่วโมง และสอนวันธรรมดาภาคค่ำด้วยอาทิตย์ละ 3-4 วัน วันละ 3 ชั่วโมง รวมค่าบรรยายแล้วปีหนึ่งมีรายได้เกือบสิบล้านบาท สอนสิบปีและนำเงินไปลงทุนด้วย ทำให้อาจารย์คณะบริหารธุรกิจหลายคนหลายที่มีเงินเป็นร้อยๆ ล้านบาท คนที่ได้ผลประโยชน์มากสุดน่าจะเป็นอาจารย์สอน MBA อาจารย์สอน MBA จึงทะเลาะกันเยอะ เพราะแย่งรายได้กัน แย่งกันสอน เงินทั้งนั้น และอาจารย์บางคนจะปฏิเสธคนที่มีสมัครเป็นอาจารย์สอน MBA ทุกคน เพราะกลัวว่าจะมาแย่งรายได้ตัวเองในวิชาที่ตัวเองเคยสอน
หลักสูตรปริญญาโทบริหารรัฐกิจ (MPA) ที่เคยเป็นแม่วัวเงินสดอีกตัวหนึ่งของแทบทุกมหาวิทยาลัยนั้นเสื่อมมนต์ขลังไปอย่างรวดเร็วก่อน หลายๆ มหาวิทยาลัยต้องอาศัยแม่วัวเงินสดชื่อ MBA เพื่อหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัย แต่ภายใต้ภาวะสังคมผู้สูงอายุและ Digital disruption หรือตลาดที่เริ่มอิ่มตัว MBA โปรแกรมดังๆ หลายแห่ง เริ่มขาดทุนหนัก อาการจะเริ่มต้นที่ MBA ภาคปกติก่อน เช่น เคยรับนักศึกษาห้องละ 60 คน สองห้อง ทุกเทอม และมีคนสมัครเรียนหลายพันหรือหลายหมื่น ก็รับเหลือห้องเดียว และท้ายที่สุดก็ลดขนาดห้องเรียนลงมาจนเหลือ 30 คน และไม่มีโอกาสให้คัดเลือกนักศึกษาเลยก็มี คือรับไว้ทั้งหมด MBA เลยไม่เป็นแม่วัวเงินสดให้มหาวิทยาลัยอีกต่อไป ต้องแจ้งให้ทราบว่าค่าเล่าเรียนภาคพิเศษนั้น มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งหักค่าส่วนกลางหรือค่าธรรมเนียมจากคณะไปร้อยละ 25 บางมหาวิทยาลัยที่ทุกคณะมีนักศึกษาตกลงไปหมดเลยอาศัยแม่วัวเงินสด MBA แต่ต่อไปนี้ก็คงจะยากแล้ว
X-MBA กับ Y-MBA คือสองหลักสูตรที่เคยเฟื่องฟูมาก แต่ขณะนี้เริ่มขาดทุน บางแห่งขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี มีคนเรียนเหลือ 10 กว่าคน แม้จะขาดทุนย่อยยับขนาดนั้น แต่ก็ยังต้องฝืนเปิดต่อไป แต่อาศัยว่ามีเงินทุนคณะที่สะสมกันมาหลายสิบปี บางแห่งมีราว 600 ล้านบาท บางแห่งมีหลายพันล้านบาท ก็ยังเปิดสอน X-MBA และ Y-MBA กันต่อไปได้ โดยยอมขาดทุน อ้างว่าเป็น Flagship Program ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็น Flagship ของอดีตอันรุ่งโรจน์หรือเป็นรายได้ดีในปัจจุบันของกรรมการบริหารหลักสูตรและผองพวกหรือไม่
หลักสูตร I-MBA ที่หลายแห่งเปิด ก็แทบไม่มีนักศึกษาต่างชาติมากนัก มีนักเรียนไทยเป็นส่วนใหญ่ และหลายที่ก็ขาดทุนเช่นกัน
สภาพการณ์ในปีนี้ (และจริงๆ หลายปีที่ผ่านมา) ทำให้ MBA ต่างๆ ในหลายๆ มหาวิทยาลัยทยอยปิดตัวลง หลายแห่งปรับตัวโดยการลดค่าธรรมเนียมพิเศษในหลักสูตร Y-MBA และ X-MBA เพื่อลดการขาดทุน และไม่พานักศึกษาไปดูงานต่างประเทศเหมือนเคย โดยมีความหวังว่าเมื่อลดราคาลงจะทำให้ความต้องการเรียน MBA เพิ่มมากขึ้น
ทำไม MBA ถึงสิ้นมนต์ขลัง?
ต้องกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสหรัฐอเมริกา ที่หลักสูตร MBA ที่ไทยไปลอกเขามา เริ่มทยอยปิดตัวลง และที่เปิดอยู่ก็มียอดผู้สมัครลดลงไปอย่างน่าใจหาย หลายแห่งต้องปรับตัวไปเป็น short course และปรับไปเป็น MBA online แทนที่จะสอนในห้องอีกต่อไป
ในสหรัฐอเมริกา นโยบายของ Donald Trump มีส่วนให้การขอวีซ่าประเภท F1 สำหรับนักศึกษาทำได้ยากขึ้น นักศึกษา MBA ต่างชาติจึงลดลงฮวบฮาบ
และค่าเทอมของ MBA ก็แพงมาก ราคาขึ้นสูงรวดเร็วมาก เรียนได้ว่าเงินเฟ้อทางการศึกษา (โดยเฉพาะ MBA) สูงมาก ทำให้การลงทุนนี้อาจจะไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้บริษัทใหญ่ๆ ไม่สนใจปริญญามีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สนใจว่าคนที่มาสมัครจะทำงานอะไรให้ตัวเองได้บ้าง MBA จึงไม่ใช่ของจำเป็นยิ่งขึ้นไปอีก การจบ MBA ไม่ได้สร้างมนุษย์ทองคำอีกต่อไป
อีกทั้งการเรียนการสอน MBA ก็ไม่ได้สอนทักษะหรือความรู้ความสามารถที่บริษัทต้องการเสียทีเดียว ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยของบริษัท (Corporate university) ขึ้นมากมายและประสบความสำเร็จมากด้วย เพราะนายจ้างผันตัวมาเป็นนักการศึกษาและผลิตบัณฑิตหรือมหาบัณฑิตเอง ทำให้ผลิตได้ตรงกับความต้องการของตัวเอง ยิ่งธุรกิจของตัวเองขยายมากเท่าใด และมีการจ้างงานนักศึกษาที่จบไปของตัวเองมาก ยิ่งได้รับความนิยมมาก
ในขณะที่การเรียนรู้ทางออนไลน์มีมากขึ้นทุกที คนต้องการเรียนรู้ให้ลึกเป็นเรื่องๆ และสามารถเรียนออนไลน์ได้ฟรี เนื้อหาของ MBA ในหลักสูตร กลับนิ่งมากว่า 50 ปี การบัญชี การเงิน การตลาด การจัดการ การบริหารงานบุคคล พฤติกรรมองค์การ การจัดการสารสนเทศ วิชาแกนพวกนี้ก็เหมือนเดิมทุกอย่าง และสมัยนี้ก็หาเรียนเองได้ไม่ยากเลยบนโลกออนไลน์และฟรีเสียด้วย
MBA ยังสอนให้เป็นคนรู้กว้างในลักษณะของรู้ทั่วไป (Generalist) มากกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ในขณะที่โลกในปัจจุบันต้องการคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้กว้าง (Specialist, but also generalist) สำหรับการจ้างงาน คือต้องการจ้างงานคนที่มีความรู้เฉพาะทางที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage) แต่ต้องรู้กว้างและทำงานเข้ากับคนอื่นได้ด้วย General MBA จึงเริ่มไม่ตอบโจทย์และโรงเรียนด้านธุรกิจก็หันไปเปิด MBA เฉพาะทางที่มี major มากขึ้นหรือไปสมานกับสาขาวิชาอื่น เช่น MBA in health management, MBA in aviation business เป็นต้น แต่ก็ยังมีปัญหาในการสมานและบูรณาการให้ลงตัว หรือไม่ก็ไปเปิดเฉพาะทางไปเลยเช่น Master of Marketing Management, Master of Science in Finance หรือ Master of International Management เป็นต้น อันเป็นการปรับตัวเคลื่อนคลายของ MBA ให้มีความเป็น specialist มากขึ้น
แนวโน้มอีกประการหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการจบไปเป็นลูกจ้าง ต้องการอาชีพอิสระหรือทำงานส่วนตัวมากกว่าการทำงานเอกชน ไม่ต้องพูดถึงภาคราชการ ที่ไม่มีคนสนใจมากนัก MBA ไม่ได้ผลิตผู้ประกอบการโดยตรง ไม่ได้สร้างเถ้าแก่ โดยตรง หลายคนอาจจะเถียงว่า MBA สาขา Enterpreneurship ก็มี และสอนคนไปเป็นผู้ประกอบการ แต่ในความเป็นจริงเถ้าแก่ที่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องจบ MBA แต่อย่างใด ในขณะที่มี SME incubator ที่ส่งเสริมโดยภาครัฐจำนวนมากมายและภาคเอกชนจำนวนมากก็เข้ามาร่วมทำงานนี้ด้วย โดยที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ฟรี ไม่ต้องมาเสียเงินเรียน MBA นอกจากนี้ MBA ด้าน Enterpreneurship เองก็ถูก digital disruption เพราะธุรกิจยุคใหม่จำนวนมากเป็น tech start-up ต้องเป็นธุรกิจออนไลน์หรือดิจิทัล แต่คนจบ MBA ก็ดูแลด้าน IT หรือสร้าง platform สำหรับเปิดหน้าร้านหรือกิจการของตัวเองไม่ได้ จึงไม่ค่อยตอบโจทย์มากนัก
การไปเรียนต่างประเทศก็ง่ายมากสำหรับสมัยนี้ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ต่างก็เป็นธุรกิจที่ต้องการนักศึกษาต่างชาติเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น และเพื่อทำกำไรและรายได้ให้มหาวิทยาลัย คู่แข่งของ MBA ในไทยจึงเป็นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจำนวนมากที่อ้าแขนรับนักเรียนไทย และทิ้งไว้ให้คนที่ภาษาอังกฤษไม่ดีพอต้องเรียน MBA ภายในประเทศ เป็นส่วนใหญ่
สำหรับในประเทศไทย MBA คือปริญญาโหล ใครๆ ก็จบ MBA ได้ แทบทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอน MBA เพื่อหารายได้กันเป็นล่ำเป็นสัน สมัยหนึ่งอาจารย์สอน MBA ขาดแคลนถึงกับบินไปสอนกันตามต่างจังหวัด หรือวนสอนกันในกรุงเทพ หรือมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด วิ่งมาเปิดสอน MBA ในกรุงเทพ เพื่อหารายได้เป็นการใหญ่ ทำให้ MBA เป็นปริญญาที่เกร่อมาก ใคร ๆ ก็เรียน MBA และทำให้คุณภาพของโปรแกรม MBA ไม่ได้ดีเท่าที่เคยเป็น เพราะได้ input มาไม่ดีเลย เมื่อเปิดแข่งกันมาก ๆ เข้าก็แย่งลูกค้า และถึงวันหนึ่งตลาดก็จะอิ่มตัว
อันที่จริงภาวะตลาด MBA อิ่มตัวก็ได้ปรากฎขึ้นมาแล้ว มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอน MBA ต่อไปอีกไม่ได้ ขาดทุน ไม่มีคนสมัครเรียน เพราะไม่มีชื่อเสียงพอ และไม่มีคุณภาพพอ ในเมื่อตลาดเป็นของผู้ซื้อปริญญา MBA เพราะมีผู้ขายมากรายเหลือเกิน มีอุปทานส่วนเกินมาก ก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อมีพลังอำนาจต่อรอง เลือกเรียน MBA ในโปรแกรมที่มีชื่อเสียงดีกว่า แม้กระทั่ง MBA ในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เอง หลักสูตร MBA ก็มีจำนวนผู้สมัครลดลงจนน่าใจหาย เริ่มลด class size และหลายโปรแกรมก็เริ่มขาดทุนหนัก
จุดจบของ MBA คงไม่ค่อยดีนัก โปรแกรมในมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งจริง มีผู้สอนที่เป็นแม่เหล็ก และสอนในสิ่งที่แตกต่างและทำให้เกิดทักษะที่ไม่สามารถหาเรียนได้บนโลกออนไลน์ และต้องเป็นทักษะที่ทำให้คนมีอาชีพ สามารถร่ำรวยได้ หรือเป็นทักษะที่แตกต่างที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับนายจ้างได้ ต้องทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และเกิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่อาจจะลอกเลียนแบบได้โดยง่าย ซึ่ง MBA แบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
คำทำนายคือ MBA หลาย ๆ โปรแกรมในประเทศไทย จะถึงจุดจบ MBA ของมหาวิทยาลัยเอกชนน่าจะไปก่อน MBA ของมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้สอนด้านธุรกิจโดยตรงแต่ขยับเข้ามาสอน จะปิดตัวไปก่อนเป็นลำดับถัดไป MBA จากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดที่เข้ามาเปิดในกรุงเทพตามตึกสูง น่าจะเป็นคิวถัดไปเช่นกัน เมื่อคนสามารถเข้าเรียนใน MBA ในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงได้อย่างง่ายดาย แทบจะต้องกราบให้นักศึกษาเข้ามาเรียน และเมื่อได้ input ห่วยแล้ว โอกาสที่จะได้ output ดีก็คงยิ่งยาก MBA จะค่อยสิ้นมนต์ขลัง ไม่เป็นแม่วัวเงินสด และหมดคุณค่าลงไปมาก หากไม่มีการปรับตัวให้ดีพอ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดมากคือ MBA ของไทย ตามก้นสหรัฐอเมริกา นิยมมากตามสหรัฐอเมริกา และในสหรัฐอเมริกาเองในตอนนี้ MBA เป็นขาลงอย่างหนัก MBA ของไทยที่ลอกสหรัฐอเมริกามาก็คงจะเป็นขาลงอย่างหนักมากเช่นกัน