xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่แบงก์ชาติ เอื้ออาทรประชาชน

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



บทบาทหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) หรือแบงก์ชาติ คือ กำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์ฐานะ และการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเพื่อให้มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้ง การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินปี 2540 หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งในครั้งนั้น แบงก์ชาติถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า หละหลวม ไม่รู้ ตามไม่ทัน ปล่อยให้เศรษฐกิจเกิดภาวะฟองสบู่ ต้องยอมรับว่า ธปท.ได้ปฏิรูปบทบาทการกำกับสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกล่าวได้ว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยในปัจจุบันมีความมั่นคง ทันสมัย และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน” หรือ Distruption ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บทบาทในเรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างจริงจัง ยังถูกละเลย เท่าที่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันก็มีแต่เรื่องปกป้องลูกหนี้จากการถูกเจ้าหนี้ที่เป็นทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงินติดตามทวงหนี้โดยไม่เลือกเวลา ด้วยการออกมาตรการห้ามเจ้าหนี้ติดตามทวงหนี้นอกเวลาราชการ

ส่วนเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ คิดดอกเบี้ยสูง ค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ยุบยับ โดยผู้ใช้บริการถูกมัดมือชก ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่ถูกแตะต้อง อ้างว่า เป็นเรื่องของกลไกตลาด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ก็รู้อยู่ว่า ระบบแบงก์ไทยนั้น เป็น “คาร์เทล” คือ รวมหัวกันกำหนดราคา

นโยบายใหม่ของแบงก์ชาติในการ “รื้อ” สูตรคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินที่นำร่องใช้เป็นครั้งแรก เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงถือเป็นมิติใหม่ ของธนาคารกลาง ที่เข้ามา “กำกับ” สถาบันการเงิน ไม่เอาเปรียบผู้ใช้บริการทางการเงินตามใจชอบอีกต่อไป

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563 ธปท.ได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชน และเอสเอ็มอี และปรับปรุงให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น ได้แก่

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเอสเอ็มอี ให้คิดค่าปรับจากยอดเงินต้นที่เหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับโดยใช้เงินต้นทั้งหมด เป็นฐาน

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อส่วนบุคคล ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นงวดที่ผิดนัดเท่านั้น จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือทั้งหมด ทั้งๆ ที่เงินต้นส่วนนั้นยังไม่ผิดนัด เพราะยังไม่ถึงกำหนดนัดชำระ

3. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต กรณีผู้ใช้ยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องร้องขอ จากเดิมที่แบงก์ไม่คืนให้ หรือเจ้าของบัตรต้องทวง และถ้าผู้ใช้บริการขอออกบัตรทดแทนหรือรหัสทดแทนไม่ให้เก็บค่าธรรมเนียมเหมือนที่ทำกันมา

เฉพาะกรณีที่ 2 ดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ธนาคารได้กำไรจากวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยใช้เงินต้นที่ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้มาเป็นฐานคำนวณดอกเบี้ยเป็นเงินมหาศาล อาจจะสูงถึงหลักหมื่นล้านก็เป็นไปได้ และกรณีนี้ ทำให้ลูกหนี้ แม้จะรู้ว่าถูกเอาเปรียบ แต่ไม่รู้ว่าถูกเอาเปรียบอย่างไร ได้ตาสว่าง รู้แจ้งว่า แบงก์มีวิธีขูดดอกเบี้ยอย่างไรแบบไม่ผิดกฎหมาย

ล่าสุด ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ภายในไตรมาส 3 แบงก์ชาติจะออกประกาศแนวปฏิบัติการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบ เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม

การคิดค่าธรรมเนียมใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วยค่าธรรมเนียม 200-300 รายการ ครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจรายใหญ่เอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย

ปีที่แล้ว ค่าธรรมเนียมเป็นรายได้เกือบ 30% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมดของระบบธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่งที่มีฐานลูกค้ารายย่อยมาก เมื่อข่าวนี้ออกมา วันรุ่งขึ้นหุ้นของธนาคารทุกแห่งจึงปรับตัวลดลงทันที

ถือเป็นผลกระทบที่มีความรุนแรงต่อธนาคารพาณิชย์ เป็น Regulartory Disruption การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากระเบียบ กติกาใหม่ที่ ธปท.พยายามควบคุมไม่ให้แบงก์พาณิชย์เอาเปรียบลูกหนี้เหมือนที่ทำกันมาสิบกว่ายี่สิบปีอีกต่อไป

เป็นมิติใหม่ของ ธปท.ที่บรรลุภารกิจการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้ทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้ใช้บริการทางการเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น