xs
xsm
sm
md
lg

"สมคิด"ย้ำ5Gพลิกโฉมประเทศ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ1.77แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"ย้ำประมูล 5G ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พลิกโฉมประเทศไทยทั้งวงการธุรกิจ อุตสาหกรรมและการบริการ อ้อนค่ายมือถือเข้าร่วมประมูล ยันไม่ใช่การผลักภาระให้ภาคเอกชน ย้ำรัฐพร้อมช่วยทุกเรื่อง กสทช.คาด 5G สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปี 63 กว่า 1.77 แสนล้านบาท ด้าน "เอไอเอส-ทรู" แจงปัญหาไม่ได้อยู่ที่การประมูล ขอรัฐคืนเงินบางส่วนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมขอกสท โทรคมนาคม-ทีโอที ไม่ควรแข่งกับเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27 ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นำคณะเข้าหารือการขับเคลื่อน 5G กับพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. รวมทั้ง ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รวม 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส , บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นายสมคิดกล่าวว่า ตั้งใจมารับฟังความคืบหน้าการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรับรอง 5G ใน 4 ย่านความถี่ คือ คลื่นย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิร์ตซ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ วันที่ 16 ก.พ.2563 เพื่อที่ประเทศไทยจะต้องมี 5G ช่วยพลิกประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผลในวงการธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการบริการในอนาคต เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยดี แต่ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สะดุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ต่างมีการลงทุนด้านดิจิทัล ต้องบอกว่าสัญญาณเศรษฐกิจไม่มีอะไรเลยที่จะไม่ผูกติดกับเทคโนโลยี การหารือครั้งนี้ต้องการให้เอกชนช่วย ไม่เช่นนั้นภาครัฐเดินต่อไปไม่ได้ เพราะ 5G ไม่เพียงแค่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในการสร้างสมรรถนะของประเทศ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

"ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะผลักภาระให้เอกชนอย่างเดียว หากเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเรื่องไหน ค่อยมาหารือกันได้ ส่วนเรื่องแบงก์การันตี ตนเองรับปากว่าจะไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ แต่เอกชนรายไหนจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ อย่างไรต้องรอลุ้นกันเอาเอง"

ทั้งนี้ หลังมี 5G จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามการดำเนินการพัฒนาระบบ 4G ควบคู่กันไปด้วย พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและทำประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ด้านนายฐากรกล่าวว่า ตัวเลขในปี 2563 จากการขับเคลื่อน 5G จะมีมูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสมาคมจีเอสเอ็มแจ้งว่า ขอแสดงความยินดีกับไทยที่จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะขับเคลื่อน 5G เป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียและเวียดนาม

ส่วนเงินที่ได้จากการประมูล หากต้องการให้รัฐบาลช่วยในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5G รัฐบาลต้องระบุว่าเวลาส่งเงินเข้ารัฐ ต้องการให้ กสทช. นำเงินที่ส่งเข้ารัฐ แปรเป็นงบประมาณในการสนับสนุน 5G อย่างไร เช่น โครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ โครงการเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น เพราะ กสทช. ไม่สามารถนำเงินส่งกลับให้เอกชนโดยตรงได้ ต้องส่งเงินให้รัฐเพื่อให้จัดสรรงบประมาณแทน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อตัดสินใจเรื่องการประมูล 5G ส่วนเอไอเอสจะประมูลคลื่นใดบ้าง ต้องรอดูการตัดสินใจของบอร์ด แต่เอไอเอสไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน สามารถบริหารจัดการได้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการประชุม ผู้บริหาร เอไอเอส และทรู ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กสท โทรคมนาคมและทีโอที ไม่ควรประมูลแข่งกับเอกชน และระบุว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินประมูล แต่อยู่ที่การลงทุนมากกว่า จึงขอให้รัฐบาลนำเงินที่ได้จากการประมูลไม่ต้องส่งเข้ารัฐทั้งหมด เพื่อนำเงินบางส่วนกลับคืนให้เอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น