xs
xsm
sm
md
lg

วิ่งไล่ลุงและวิ่งเชียร์ลุง : ปรากฏการณ์ในอดีต

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



ถ้าท่านผู้อ่านย้อนไปดูปรากฏการณ์ทางการเมืองในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่า กระบวนการขับไล่และกระบวนการเชียร์ได้เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้งในวงการเมืองไทยคือ

1. ครั้งแรกได้เกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548 กลางปี 2549 ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลมีเสถียรภาพแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาในระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เนื่องจากมีเสียงในสภาฯ ท่วมท้น จึงทำให้ผู้นำรัฐบาลเหลิงและหลงในอำนาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการในระบอบรัฐสภา จะเห็นได้จากการใช้กลไกทางด้านนิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของครอบครัวตนเอง และทำให้รัฐเสียประโยชน์

ในรูปแบบต่างๆ ทั้งมีพฤติกรรมในส่วนของปัจเจก และพฤติกรรมองค์กรของพรรคบางประการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาภายใต้ชื่อย่อ พธม.และในขณะเดียวกัน ก็เกิดกลุ่มปกป้องรัฐบาลภายใต้ชื่อย่อ นปช.โดยที่ทั้งสองกลุ่มนี้มีความขัดแย้งกัน

2. ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นทายาททางสายเลือด และทายาททางการเมืองของผู้นำรัฐบาลในช่วงต้น และบริหารประทศภายใต้การชี้นำของอดีตผู้นำในยุคก่อน จึงมีพฤติกรรมทางการเมืองไม่แตกต่างกันในด้านการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบของการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย จะเห็นได้จากโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง และที่ทำให้เกิดการต่อต้านจนกลายเป็นความวุ่นวายทางการเมือง สืบเนื่องมาจากการเสนอออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมารวม แม้แต่นักโทษในคดีอาญาก็ได้รับอานิสงส์ด้วย จึงเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านเดินออกจากห้องประชุม และชุมนุมต่อต้าน โดยมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นกลุ่มภายใต้ชื่อย่อ กปปส.และมีกลุ่มหนุนรัฐบาลกลุ่มเดิมคือ นปช.

ดังนั้น การวิ่งไล่ลุงและการวิ่งเชียร์ลุง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่ต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และนี่เองคือข้อหักล้างคำพูดที่ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สงบและปราศจากความวุ่นวายทางการเมือง

ถึงแม้ว่าวันนี้ ยังไม่มีข้อขัดแย้งที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น เฉกเช่นในอดีต แต่ต่อไปวันข้างหน้า ถ้ารัฐบาลยังมีพฤติกรรมทางการเมืองแบบเดิมๆ เชื่อว่า ถ้ามีการชุมนุมเคียงคู่กันไป ในทำนองนี้จะต้องมีการกระทบกระทั่งกันแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่า จำนวนผู้มาชุมนุมยิ่งมากขึ้น ยิ่งยากแก่การควบคุมให้อยู่ในความสงบและมีระเบียบวินัย

อนึ่ง ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อจะยิ่งเพิ่มความกดดันให้ผู้ชุมนุมเกิดความเครียด และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย

อีกประการหนึ่ง จะต้องไม่ลืมว่า การชุมนุมทุกครั้งแกนนำในการชุมนุม มักจะถูกจับกุม และการจับกุมแกนนำจะเป็นตัวแปรทางการเมือง ที่จะทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้างออกไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อันที่จริง ถ้ายึดตามแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นสิ่งที่ประชาชนของทุกประเทศ ซึ่งปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตยกระทำกัน และไม่ถือว่าเป็นการทำลายความสามัคคีของคนในชาติด้วย

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานในประเทศไทย จะต้องยอมรับความเห็นต่าง และจะต้องไม่ถือว่าเป็นผู้ทำลายชาติด้วย

ในทางกลับกัน เมื่อประชาชนออกมาชุมนุม และท้วงติงการทำงานของรัฐบาล สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ จะต้องถามตนเองว่าความเห็นต่างในเชิงคัดค้านหรือท้วงติงนั้น ถูกหรือผิด ถ้าถูกก็น้อมรับ และนำไปเป็นแนวทางในการทำงาน ถ้าผิดก็ชี้แจงทำความเข้าใจ และถ้าชี้แจงแล้วไม่ยอมเข้าใจ ยังดื้อดึงทำต่อไป ก็ดำเนินการโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้ความขัดแย้งลดลง และหมดไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น