มาวันนี้...สงสัยคงต้องชวนให้ร่อนไปดูแถวๆ ดินแดนหมีขาว หรือแถวๆ รัสเซียกันโน่นเลย เพราะเมื่อช่วงวันจันทร์ (23 ธ.ค.) ที่ผ่านมา เห็นว่ากระทรวงสื่อสารโทรคมนาคมของรัสเซีย เขากำลังจัดให้มีการ “ทดสอบ” ครั้งใหญ่ สำหรับระบบสื่อสาร การติดต่อเชื่อมโยงภายใน “โลกเสมือนจริง” หรือในระบบอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ออกมาบังคับใช้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เรียกๆ กันว่า “กฎหมายอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต” หรือ “Sovereign Internet” อะไรประมาณนั้น...
คือเป็นกฎหมายที่วางเอาไว้รองรับสถานการณ์ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตจากภายนอก...ไม่ว่าจะเป็นการปลุกปั่น ยุแยงตะแคงรั่ว การปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม ไปจนถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ฯลฯ ที่กลายเป็นเรื่องที่ยากจะป้องกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภายใต้ความเป็นไปของ “โลกเสมือนจริง” ที่มันแทบไม่เหลือพรมแดน ไม่เหลือเส้นแบ่งใดๆ อีกต่อไป แถมยังมีบทบาทและอิทธิพลต่อความเป็นไปใน “โลกแห่งความเป็นจริง” เพิ่มขึ้นๆ ไปตามลำดับ จนกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อประเทศเล็ก ประเทศน้อย ไปจนกระทั่งประเทศใหญ่ๆ ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการทหาร ฯลฯ โน่นเลย...
ความพยายามหาทางปกป้องตัวเองจากบรรดา “ภัยคุกคาม” เหล่านี้...จึงปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยมาตรการหรือกฎหมายนานาชนิด ที่แต่ละประเทศพยายามงัดออกมาใช้กันอุตลุด ดังที่เคยบอกเล่าเก้าสิบไปมั่งแล้ว โดยสำหรับรัสเซียนั้น การงัดเอากฎหมาย “อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต” มาลองทดสอบ ว่ามันจะมีความลื่นไหล ไม่ขัดแย้ง แปลกแยกกับความเป็น “Free Internet” หรือกับเสรีภาพส่วนบุคคลของบรรดาชาวรัสเซียทั้งหลาย ดังที่ผู้นำรัสเซีย ประธานาธิบดี “ปูติน” ท่านได้ออกมาให้ความมั่นอก-มั่นใจว่า “ฟรีอินเทอร์เน็ตกับอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต...ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน” อะไรประมาณนั้น แต่สุดท้ายแล้ว...มันจะมีความเป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ เป็นไปอย่างลื่นไหล หรือต้องติดๆ ขัดๆ ตะกุกตะกักกันในแบบไหน อย่างไร? นั่นคือสิ่งที่คงต้องนำเอามาประเมินค่า ภายหลังจากการทดสอบครั้งนี้...
แต่จะยังไงก็ตาม...ภายใต้การทดสอบในลักษณะที่ว่านี้ ย่อมหนีไม่พ้นต้อง “ตัดขาด” การเชื่อมโยง ระหว่างระบบอินเทอร์เน็ตภายในรัสเซีย กับระบบอินเทอร์เน็ตโลก หรือ “World-Wide-Web” อย่างมิอาจปฏิเสธได้ โดยที่บรรดาข้อมูล การสื่อสาร การส่งข้อความ อีมง-อีแมว ฯลฯ อะไรทั้งหลาย ของบรรดาชาวหมีขาว มีแต่ต้องไหลมารวมกันอยู่ที่หน่วยงานซึ่งเรียกๆ กันในภาษารัสเซียว่า “Roskomnadzor” หรือหน่วยงาน “Federal Service for Supervision of Communications, Information Technology and Mas Media” ซะก่อน ก่อนที่จะเชื่อมต่อ เชื่อมโยงไปถึงภายนอกและภายใน หลังได้รับการตรวจสอบ กลั่นกรอง ว่าไม่มีพิษมีภัย หรือไม่ได้ก่อให้เกิด “ภัยคุกคาม” ต่อ “อธิปไตย” ของประเทศรัสเซียในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณี...
ซึ่งอันนี้...มันจะต้องอาศัยขีดความสามารถในทางเทคโนโลยีระดับไหน ต้องอาศัยเงินทุน เครื่องไม้ เครื่องมืออันสลับซับซ้อนไปถึงขั้นใด ถึงจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในแบบ “ลื่นๆ ไหลๆ” ไม่ตะกุกตะกัก ติดๆ ขัดๆ จนอาจส่งผลให้ชาวหมีขาวทั้งหลาย เกิดอาการหุดๆ หิดๆ เกิดความรู้สึกว่า “เสรีภาพส่วนบุคคล” กำลังถูกคุกคาม รวมทั้งอาจส่งผลให้ธุรกิจ ธุรกรรม ทางการค้า การติดต่อ-ซื้อขาย-แลกเปลี่ยน ฯลฯ ที่ต้องอาศัยความเป็นไปในโลกเสมือนจริงยิ่งเข้าไปทุกที ต้องพลอยเสียหายไปด้วย อันนี้นี่แหละ...คงไม่ใช่เรื่องที่ทุกๆ ประเทศจะสามารถทำได้ง่ายๆ หรือทำได้แบบลื่นไหล ไม่ต้องเกิดอาการตะกุกตะกัก การชั่งน้ำหนักระหว่าง “ภัยคุกคามต่ออธิปไตยของประเทศ” กับ “ภัยคุกคามต่อเสรีภาพส่วนบุคคล” จึงเป็นอะไรที่สุดแสนละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความละเอียด ประณีต อาศัยเครื่องไม้ เครื่องมือ หรือแม้แต่ต้องอาศัยเงินทุนเป็นจำนวนมิใช่น้อย...
อีกทั้งการกระทำในลักษณะเช่นนี้...ย่อมต้องมีทั้ง “เสีย” ทั้ง “ได้” ควบคู่กันไป อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ อย่างเช่นประเทศอินตะระเดียช่วงนี้ แม้ผู้นำอินเดีย อย่างนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” นั้น ท่านจะได้ชื่อ ฉายา ว่าเป็น “เจ้าพ่อแห่งการสื่อสาร” มาโดยตลอด แต่เมื่อต้องเจอกับการลุกฮือของผู้คนภายใน อันเนื่องมาจากความไม่พอใจต่อกฎหมายสัญชาติพลเมือง หรือ “CAA” ระดับแผ่ซ่าน ลุกลามไปทั้งประเทศ การตัดสินใจ “ควบคุมเสรีภาพส่วนบุคคล” เอาไว้ก่อน ด้วยการสั่ง “ปิดอินเทอร์เน็ต” แทบทั่วประเทศ กลับส่งผลให้ “ช่องทางการสื่อสาร” ระหว่างตัวนายกรัฐมนตรีกับชาวอินตะระเดียทั้งหลาย เกิดอาการติดๆ ขัดๆ ตะกุกตะกัก จนต้องหันไปหาวิธีการเก่าๆ นั่นคือ...ต้องระดมมวลชนผู้สนับสนุนตัวเองออกมาเป็นแสนๆ เพื่อให้มาฟังการปราศรัยจากตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง อันเนื่องมาจาก “อินเดียช่วงนี้...เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวปล่อย ที่บิดเบือนและโกหก ซึ่งถูกแพร่กระจายโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่พยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลออกกฎหมายแบบเลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งๆ ที่ดูผลงานผมสิ...คุณจะเห็นว่า ผมได้จัดหาแก๊สไปแจกจ่ายให้คนยากคนจน โดยไม่เคยได้ถามเลยว่า พวกเขานับถือศาสนาไหน” ดังที่ท่านว่าไว้ในระหว่างการปราศรัยต่อมวลชนของตัวเอง เมื่อช่วงวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ที่ผ่านมา เรียกว่า...ต้องออกแรงพ่น ต้องแก้ไข และแก้ตัว ชนิดเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กันไปมิใช่น้อย และเผลอๆ...อาจส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง “มวลชนต่อมวลชน” ไปอีกหรือไม่ ประการใด ก็ยังมิอาจสรุปได้ชัดเจน...
การหา “จุดสมดุล” ระหว่าง “เสรีภาพส่วนบุคคล” กับ “อธิปไตยของประเทศ” จึงไม่ใช่เรื่องหยาบๆ ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความประณีต ละเอียดอ่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเข้าถึง-เข้าใจ” ไม่ว่าต่อโลกภายนอก หรือสังคมภายใน อย่างชนิดรู้เท่าทันสถานการณ์ในแต่ละขั้น แต่ละตอน ได้อย่างถึงน้ำ ถึงเนื้อ การ “เข้าใจ” ความเป็นไปของโลกภายนอกเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คิดจะ “เข้าถึง” ความเป็นไปของสังคมภายในเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกผู้คนภายในสังคมตัวเอง ให้ชัดๆ จะๆ ว่าอะไรเหมาะ-ไม่เหมาะ ควร-ไม่ควร มันก็อาจส่งผลแบบเดียวกับอินตะระเดียขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ ชนิดไม่ว่าตามไป “ปิดอินเทอร์เน็ต” สักกี่ช่อง กี่เครือข่าย กลับยิ่งส่งผลให้ “ข่าวปล่อย-ข่าวลือ” ยิ่งแพร่กระจายมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน...การหมกมุ่นอยู่กับสังคมภายในเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เข้าใจว่าโลกมันไปถึงไหนต่อถึงไหนแล้ว โอกาสที่ต้องเจอกับ “ภัยคุกคาม” ต่ออธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การโจมตีทางไซเบอร์อย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยไม่อาจปัดป้อง ปกป้องใดๆ ได้เลย ก็กำลังกลายเป็น “โจทย์ข้อใหญ่” ของบรรดาประเทศต่างๆ แทบทุกประเทศ ดังนั้น...การมองหา “จุดสมดุล” ที่สอดคล้อง เหมาะสมกับความเป็นไปของโลก และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงภายในสังคมตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ หรือรัฐบาลแต่ละรัฐบาล คงต้องเร่ง “คำตอบ” ให้ได้โดยเร็วที่สุด...