“กาลเวลาย่อมกินตัวมันเอง และสรรพสัตว์รวมไปถึงสรรพสิ่ง” นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเกี่ยวกับกาลเวลาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
โดยนัยแห่งพุทธดังกล่าวข้างต้น อรรถาธิบายขยายความว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปทั้งสรรพสัตว์ และสรรพสิ่งซึ่งเกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดดับ จะอยู่คงที่ไม่ได้ ส่วนว่าจะก้าวไปสู่จุดดับเมื่อใด และใช้เวลานานเท่าไหร่นั้น ปุถุชนคนธรรมดาไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่พระอริยบุคคลผู้บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถมองเห็นและบอกได้
แต่ไม่ว่าจะไปสู่จุดดับเมื่อใด มนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ประเสริฐควรจะใช้เวลาที่ตนเองมีชีวิตอยู่ ทำสิ่งอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมโดยรวมให้มากที่สุด และนี่คือจุดประสงค์ในการสอนด้วยพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพื่อจะเตือนสติให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เราท่านทุกคนก็จะสูญเสียเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ไป 1 ปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ปีนั่นเอง และอีก 1 ปีที่เพิ่มขึ้นนี้ เราได้อะไรเป็นการตอบแทนการสูญเสียบ้าง และถ้าต้องการรู้ก็ลองย้อนไปดู 1 ปีที่ผ่านมาก็จะได้คำตอบว่าท่านได้อะไร ส่วนในปีใหม่ที่จะมาถึง ท่านจะต้องมีการวางแผนว่าจะใช้ชีวิตให้มีความสุข และปราศจากความทุกข์ได้อย่างไร
เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ปราศจากทุกข์ และมีความสุขตามอัตภาพ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอแนวทางในการสร้างความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์ตามครรลองแห่งคำสอนของศาสนาพุทธ ดังต่อไปนี้
ความสุขของคฤหัสถ์เกิดจากเหตุปัจจัย 4 ประการคือ
1. อัตถิสุข ได้แก่ ความสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ซึ่งตนเองหามาได้โดยความชอบธรรม
2. โภคสุข ได้แก่ความสุขอันเกิดจากการได้ใช้ทรัพย์ซึ่งตนเองหามาได้โดยความชอบธรรมนั้น เลี้ยงตนเอง และครอบครัว รวมไปถึงสถานสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์
3. อนณสุข ได้แก่ความสุข อันเกิดจากการไม่มีหนี้
4. อนวัชชสุข ได้แก่ความสุข อันเกิดจากความสุขจากการที่ตนไม่มีพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกติเตียนได้ด้วยศีล ด้วยธรรม และกฎหมาย เป็นต้น
ส่วนแนวทางแห่งการหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ จะต้องไม่ทำเหตุอันก่อให้เกิดทุกข์ เช่น การไม่เป็นหนี้ และการไม่มีพฤติกรรมที่เลวทราม ซึ่งผู้คนตำหนิติเตียนได้ด้วยศีล ด้วยธรรม และด้วยกฎหมาย เป็นต้น
การที่จะทำตนให้ปราศจากเหตุแห่งทุกข์ได้นั้น จะต้องมีศีลอย่างน้อยศีล 5 และมีธรรมอย่างนั้นโดย 3 ประการคือ
1. ยถาลาภ สันโดษ ได้แก่ความยินดีตามที่ตนเองหามาได้โดยชอบธรรม คือ ตนหาสิ่งใดมาได้โดยชอบธรรม ก็ยินดีในสิ่งนั้น ไม่โลภ ไม่อยากได้มากไปกว่านี้
2. ยถาพลสันโดษ ได้แก่ความยินดีตามกำลังของตนคือ ตนหาสิ่งใดมาได้ด้วยกำลังกาย กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์ของตน ก็ให้ยินดีในสิ่งนั้น ไม่ดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มายิ่งกว่านี้
3. ยถาสารุปปสันโดษ ได้แก่ความยินดีตามที่เหมาะสมแก่บุคลิกภาพ และสภาวะทางสังคมของตน
ถ้าท่านดำเนินชีวิตในกรรมแห่งคำสอนดังกล่าวได้ เชื่อว่าท่านจะประสบแต่ความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้แน่นอน
สุดท้ายขอจบด้วยกลอน 2 บทนี้
ถ้าอยากมี ความสุข ปราศทุกข์โศก
อยู่กับโลก ต้องมีธรรม นำวิถี
ละความชั่ว ทุกอย่าง สร้างคนดี
ชั่วชีวี ใช้ธรรม ชำระใจ
ตัดความโลภ ละความหลง ปลงให้ตก
ปิดนรก เปิดสวรรค์ อันสดใส
อย่างอมือ งอเท้า เฝ้าอาลัย
อย่ารอใคร มาช่วย ทำด้วยตน