ตั้งแต่สองยามเมื่อคืนนี้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ขึ้นอัตราค่าผ่านทางใหม่จากดินแดง-ดอนเมือง ขึ้นอีก 10 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานขึ้นอีก 5 บาท
ราคาเดิมช่วงดินแดงดอนเมือง 70 บาทปรับเป็น 80 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานปรับจาก 30 บาท เป็น 35 บาท จากดินแดง-อนุสรณ์สถาน รวมระยะทาง 21.9 กิโลเมตร รถ 4 ล้อเสียค่าผ่านทาง 115 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ 155 บาท
นับเป็นค่าผ่านทางที่แพงที่สุด แพงกว่าค่ามอเตอร์เวย์ไปพัทยาที่มีอัตราสูงสุด 105 บาท ระยะทาง 96 กิโลเมตร
นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง บอกว่า การปรับราคาเป็นไปตามสัญญา ก่อนปรับได้แจ้งให้กรมทางหลวงทราบแล้ว ทั้งนี้ สัมปทานที่เหลืออีก 15 ปีจะปรับได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 15 บาท
กระทรวงคมนาคม โดยตัวรัฐมนตรี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย ไม่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน สวนทางกับการออกข่าวตลอดเวลาว่า มีนโยบายลดค่าผ่านทาง ค่ารถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน
เป็นท่าทีที่มีแตกต่างโดยสิ้นเชิง กับท่าทีที่มีต่อแนวทางการยุติข้อพิพาททางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ยืดอายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 แลกกับการยุติข้อพิพาท และสร้างทางด่วน 2 ชั้น
กรณีนี้ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย กลับจะได้ประโยชน์จากการที่มีทางด่วน 2 ชั้นเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาการจราจร โดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราเดิม แต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลับยื้อยุดเรื่องนี้ไว้ จนเวลาล่วงเลยไปแล้วหลายเดือน
แต่เรื่องค่าผ่านทางโทลล์เวย์ ซึ่งเห็นได้ชัดๆ ว่า แพงมาก กลับไม่ทำอะไร ไม่เคยปรากฏว่า ศักดิ์สยามมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ อธิบดีกรมทางหลวงคงไม่ได้รายงานให้ทราบหรือว่าพี่ชายไม่ได้สั่งให้ทำอะไร
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และทนายความ เดินทางมาที่ศาลปกครองเพื่อยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการปรับขึ้นค่าผ่านทางทางด่วนโทลล์เวย์ ที่บริษัทจะปรับขึ้นราคารอบใหม่ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ซึ่งแม้เป็นการปรับขึ้นตามสัญญาทุก 5 ปี แต่ก็เห็นว่า ไม่มีความชอบธรรม ซึ่งการปรับขึ้นราคาอีก 15 บาทจะมีผลทั้งกลุ่มรถยนต์ 4 ล้อ และกลุ่มที่มากกว่า 4 ล้อ เป็นสัญญาที่ทำไว้ ในช่วงสัมปทานเดิมเส้นทางดินแดงถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติรวม 21.9 กิโลเมตร
สำหรับการปรับแก้สัญญาที่มีนัยสำคัญเกิดขึ้นอีก 3 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 3 ปี 2550 ให้สิทธิ์บริษัทปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ และขยายระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาจากเดิม 25 ปี สิ้นสุดปี 2557 ขยายออกไปอีก 27 ปีจะสิ้นสุดปี 2577 จึงส่งผลให้การปรับขึ้นค่าผ่านทางเป็นแบบผูกพันระยะยาว ทั้งๆ ที่เป็นโครงการสาธารณะที่มีผลต่อประชาชน
การขึ้นค่าผ่านทาง ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า การทำสัญญาไม่ชอบธรรม เอื้อต่อเอกชน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังรวมถึงการขัดรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และไม่เปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันลงทุนประมูลส่วนต่อขยายช่วงรังสิต และยิ่งประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นมากแล้ว การขึ้นค่าผ่านทาง จึงเป็นการซ้ำเติมประชาชน โดยที่บริษัทไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ
ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลัง บริษัทมีกำไรปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางโทลล์เวย์สามารถรองรับรถยนต์สัญจร ได้มากถึงชั่วโมงละ 1 แสน 8 หมื่นคัน ล้วนเป็นเหตุผลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า ไม่ควรปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงระยะเวลานี้
น.ส.สารี ยังเห็นว่า ข้อแก้ปัญหาของกระทรวงคมนาคม ที่ข้อเสนอการลดราคา 5% ให้ผู้ขับขี่ใช้คูปองส่วนลดค่าผ่านทาง ไม่ใช่การแก้ปัญหาได้จริง แต่เป็นเพียงการส่งเสริมการขายให้เอกชนเท่านั้น
นอกจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแล้ว (เมื่อ 19 ธ.ค.2562) ยังมีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรที่มีมติทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับการปรับขึ้นค่าผ่านทาง และขอให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และคณะรัฐมนตรีร่วมกันหาทางออก เพื่อปกป้องประโยชน์ให้ประชาชน และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม ยกเลิกสัญญากับบริษัทที่ทำไว้ในปัจจุบัน ทบทวนการทำสัญญาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผูกขาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค