xs
xsm
sm
md
lg

โวย"เสรีพิศุทธ์"เบิ้ล2เสียง โหวตเดินหน้าสอบปมถวายสัตย์ฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (18 ธ.ค.) มีการประชุมกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน และได้เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ถือว่า ขัดรธน.มาตรา 161 หรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า การถวายสัตย์ฯของนายกฯ ไม่ครบถ้วนตามรธน. แต่จะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความตามกฎหมาย ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ และไม่สามารถระบุได้ว่า ปัญหาดังกล่าวจะมีทางแก้ไขอย่างไร หากเกิดขึ้นในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตอนที่ตนเป็นนายกฯ ก็ได้กล่าวตามที่รธน. ได้กำหนดไว้
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถามว่า การที่นายกฯ ถวายสัตย์ฯไม่ครบ จะทำให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ไม่ชอบกฎหมายด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว จึงไม่ทราบแนวปฏิบัติว่า หากถวายสัตย์ฯไม่ครบ จะต้องทำอย่างไร เพราะจากวันนั้นมา ระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว และรัฐบาลก็มีการดำเนินการหลายอย่าง ร่วมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาฯด้วย แต่ส่วนตัวตอบได้แค่ว่าหากตนเองเป็นนายกฯ จะถวายสัตย์ฯให้ครบตามรธน.
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซักถามถึง การบริหารราชการแผ่นดินในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ทราบหรือไม่ว่า มีอดีตรัฐมนตรีหลายคนที่มีโทษถูกพิพากษาจำคุก ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยงบประมาณแผ่นดิน และ งบประมาณปี 63 เมื่อผ่านสภาฯไปแล้ว จะมีการทุจริตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า มีอดีตรัฐมนตรีถูกลงโทษว่าทำผิดกฎหมาย แต่ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับงบประมาณ หรือไม่
"ผมพูดมาตลอดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั้งคนที่เป็นนายกฯ ก็ไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงในงานที่เป็นงานเฉพาะในหลายหน่วยงานได้ แต่ถ้าเรื่องใดที่นายกฯ ผู้บังคับบัญชา สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปดูแล และผมไม่คิดว่า จะมีใครที่สามารถรับประกันได้ว่า จะไม่มีการทุจริต ดังนั้นไม่จำเป็นว่างบประมาณปี 63 ผ่านแล้วจะมีการทุจริต เพราะขณะนี้ก็ทุจริตได้"
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ. ได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ ว่า การที่ศาลรธน. ไม่รับคำร้องดังกล่าว และให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหารนั้น ถือว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นลงแล้ว หรือไม่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ต้องแยกประเด็นให้ออก เพราะหากกมธ. จะตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายกฯ ว่าครบถ้วนหรือไม่ ควรแยกออกจากเรื่องของพระราชอำนาจ
จากนั้น นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้สอบถาม นายอภิสิทธิ์ ถึงการเตรียมการถวายสัตย์ฯ ของนายกฯ ส่วนใหญ่สำนักงานเลขาธิการครม. จะเป็นผู้เตรียมการให้ หรือนายกฯต้องเตรียมการเอง นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่าโดยปกติแล้วสำนักเลขาครม. หรือสำนักเลขาธิการนายกฯ จะเป็นผู้เตรียมไว้ให้ ซึ่งโดยปกติแล้วนายกฯจะต้องกล่าวตามที่รธน.กำหนด ผู้เตรียมเอกสารจะเป็นใครไม่สำคัญ แต่นายกฯ เป็นผู้มีหน้าที่นำครม.ถวายสัตย์ฯ จึงต้องเป็นคนรับผิดชอบ
ทั้งนี้ นายธีรัจชัย ยังถามถึงความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรธน. ที่มีมติไม่รับคำร้องเรื่องการถวายสัตย์ฯของนายกฯ เพราะ ตุลาการ 2 คนมาจากการสรรหาของสนช. มีที่มาจากคสช. และอีก 5 คน ก็ได้รับการต่ออายุมาโดยล่าสุดก็ยังถูกต่ออายุอยู่ ดังนั้น การตัดสินของตุลาการศาลรธน. จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะเป็นการก้าวล่วง แต่นายไพบูลย์ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า การที่นายธีรัจชัย ถามนั้นถือว่านอกกรอบ และเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล หากเกิดอะไรขึ้นตนไม่ขอรับผิดชอบ เช่นเดียวกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เห็นว่านายธีรัจชัยถามนอกประเด็น เห็นด้วยกับนายไพบูลย์และกรรมาธิการคนอื่น
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.ป.ป.ช. เปิดเผยถึงผลการพิจารณาของ กมธ.ฯ กรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 โดยไม่ชอบ เพราะการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนว่า ในช่วงการชี้แจงของ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรมช.คมนาคมว่า นายอธิรัฐ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดกับ กมธ.ฯ ตามประเด็นที่ซักถาม เช่น ทราบหรือไม่ว่าการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน , ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ซักถามด้วยถ้อยคำที่เข้าข่าย ข่มขู่ และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น ทราบหรือไม่ว่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล เป็นใคร นำชื่อ มารดา และชื่อน้า ของนายอธิรัฐ มากล่าวต่อที่ประชุม ซึ่งตนได้ใช้สิทธิ ทักท้วงต่อการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แต่ถูกสั่งห้ามอภิปราย ทำให้ตนต้องยืนขึ้น เพื่อประท้วง ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใช้อำนาจประธาน กมธ.ฯ สั่งตำรวจรัฐสภา เข้ามาเชิญตนออกจากห้อง แต่เมื่อตำรวจรัฐสภาเข้ามาในห้องประชุม ตนก็นั่งลง
นายสิระ กล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ที่ประชุมได้ลงมติว่าจะพิจารณาต่อ หรือยุติ โดยให้กมธ.? ทั้ง 15 คนลงมติ แต่ผลการออกเสียง รอบแรก ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกเสียงด้วย ปรากฏว่า มติเท่ากัน คือ 7 ต่อ7 เนื่องจากนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ฐานะกมธ.ฯ?งดออกเสียง ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ใช้สิทธิประธานในที่ประชุม ออกเสียงซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ทำให้ มติ 8 เสียงให้เดินหน้าต่อ ขณะที่ 7 เสียง ให้ยุติ ดังนั้นในการพิจารณารอบหน้าจะเชิญ นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาศ เลขาธิการครม. เข้าชี้แจง
กำลังโหลดความคิดเห็น