“อภิสิทธิ์” ดอดให้ความเห็น กมธ.ป.ป.ช.ปมถวายสัตย์ ระบุไม่ครบตาม รธน.จริง แต่ชี้จะขัดหรือแย้ง กม.หรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความ แนะแยกการทำหน้าที่นายกฯ ออกจากพระราชอำนาจ ส.ส.อนค.ทำวงแตกหลังถามความน่าเชื่อถือของตุลาการศาล รธน.
วันนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธานในการประชุม ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 หรือไม่ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ซักนายอภิสิทธิ์ในฐานะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนว่า การถวายสัตย์ของนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุดถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ให้ความเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แต่จะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความตามกฎหมาย ไม่สามารถให้ความเห็นได้ ทั้งนี้ ตนไม่สามารถระบุได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีทางแก้ไขอย่างไร เพราะไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับตอนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถามต่อว่า การที่นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบจะทำให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ชอบกฎหมายด้วยหรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว จึงไม่ทราบแนวปฏิบัติว่าหากถวายสัตย์ฯ ไม่ครบจะต้องทำอย่างไร เพราะหากจากวันนั้นมา ระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้วและรัฐบาลก็มีการดำเนินการหลายอย่าง รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาด้วย แต่ส่วนตัวตอบได้แค่ว่าหากตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีจะถวายสัตย์ฯ ให้ครบตามรัฐธรรมนูญ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังซักถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบหรือไม่ว่ามีอดีตรัฐมนตรีหลายคนที่มีโทษถูกพิพากษาจำคุกข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยงบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณปี 2563 เมื่อผ่านสภาไปแล้วจะมีการทุจริตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า มีอดีตรัฐมนตรีถูกลงโทษว่าทำผิดกฎหมาย แต่ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับงบประมาณหรือไม่
“ผมพูดมาตลอดว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้เสมอทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงในงานที่เป็นงานเฉพาะในหลายหน่วยงานได้ แต่ถ้าเรื่องใดที่นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชา สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปดูแล และผมไม่คิดว่าจะมีใครที่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีการทุจริต ดังนั้นไม่จำเป็นว่างบประมาณปี 2563 ผ่านแล้วจะมีการทุจริต เพราะขณะนี้ก็ทุจริตได้”
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการฯ พยายามสอบถามนายอภิสิทธิ์เช่นกันว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าว และให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหารนั้น ถือว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นแล้วลงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ต้องแยกประเด็นให้ออก เพราะหากกรรมาธิการจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีว่าครบถ้วนหรือไม่ ควรแยกออกจากเรื่องของพระราชอำนาจ
จากนั้นนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ ถึงการเตรียมการถวายสัตย์ฯ ของนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เตรียมการให้หรือนายกรัฐมนตรีจะต้องเตรียมการเอง นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า โดยปกติแล้วสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เตรียมไว้ให้ แต่โดยปกติแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผู้เตรียมเอกสารจะเป็นใครไม่สำคัญ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีหน้าที่นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ จึงต้องเป็นคนรับผิดชอบ
ทั้งนี้ นายธีรัจชัยยังถามถึงความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติไม่รับคำร้องเรื่องการถวายสัตย์ฯ ของนายกรัฐมนตรี เพราะตุลาการ 2 คนมาจากการสรรหาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอีก 5 คนก็ถูกต่ออายุมา โดยล่าสุดก็ยังถูกต่ออายุอยู่ ดังนั้น การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ขณะที่นายอภิสิทธิ์ไม่ขอแสดงความเห็นเพราะเป็นการก้าวล่วง
จากนั้นนายไพบูลย์ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่าการที่นายธีรัจชัยถามนั้นถือว่านอกกรอบ และเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล หากเกิดอะไรขึ้น ตนไม่ขอรับผิดชอบ เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เห็นว่านายธีรชัยถามนอกประเด็น เห็นด้วยกับนายไพบูลย์และกรรมาธิการคนอื่น