"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ผลการจัดอันดับแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปีนี้ ของวารสารการเงินธนาคารร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีน้องใหม่เศรษฐีหุ้นเพิ่งแจ้งเกิด 2 รายคือ เจ้าสัวเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี อยู่ในอันดับที่ 23 มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองคนละ 10,000 ล้านเศษๆเท่านั้นเอง ถูกแชมป์ 10 อันดับแรกทิ้งไม่เห็นฝุ่น
การจัดอันดับแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย เป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้ผล ประกาศผลทีไรก็เรียกเสียงฮือฮาได้ทุกที เพราะความมั่งคั่งร่ำรวยของคนอื่น และใครรวยกว่าใคร เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และวิธีการก็ง่ายๆ เอาจำนวนหุ้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุกบริษัทที่คนคนนั้นถืออยู่ คูณกับราคาปิดของหุ้นตัวนั้น ณ วันที่กำหนด คือ วันที่ 30 กันยายน ก็จะได้มูลค่าความร่ำรวย มั่งคั่งของคนคนนั้น
เป็นความร่ำรวยที่เป็นตัวเลข ที่เพิ่มขึ้น ลดลง ทุกนาที ที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ เป็นความร่ำรวยที่อาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงของคนๆนั้น
ในโลกแห่งความเป็นจริง เจ้าสัวเจริญ กับภรรยา ร่ำรวยมหาศาลแค่ไหน คงนึกภาพไม่ออก แต่รวยกว่า เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 -10 ทุกคนหลายๆเท่าอย่างแน่นอน ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน ก็คงจะมีแต่ เจ้าสัวซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งไม่มีชือติดอันดับเศรษฐีหุ้นเลย เพราะไม่มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใดๆของบริษัทในตลาดหุ้น
แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ปีนี้ คือ สารัชถ์ รัตนนาวะดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศ มีมูลค่าหุ้น1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.3 หมื่นล้านบาท ทิ้งห่างจากอันดับสอง ซึ่งเป็นแชมป์ปีที่แล้ว คุณหมอ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ถึง 54,000 ล้านบาท
มูลค่าหุ้น กัลฟ์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ 2 ปีก่อนในราคา 45 บาท ขึ้นมาถึง 160 บาท ณ วันที่ 30กันยายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ใช้คำนวณมูลค่าความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทย
ความมั่งคั่งนี้ ไมได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ไม่ใช่เรื่องฟ้าประทาน หรือ โชคช่วย แต่เกิดจากการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก เป็นการลงทุนระยะยาว ที่กินเวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้เห็นผลตอบแทนงอกเงยขึ้นมา
หุ้นโรงไฟฟ้า หลายๆตัวปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็นกัลฟ์ บี กริมม เอ๊กโก หรือ จีพีเอสซี เพราะเป็นช่วงที่ เริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในเชิงพาณิชย์ มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูง จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุน
หลายปี ก่อนหน้านี้ คือ ช่วงเวลาของการลงทุน นับตั้งแต่ปี 2551 โดยประมาณ ที่มีการทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า
กัลฟ์ เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ มีผลตอบแทนจากการลงทุน ในช่วงปี 2559 เริ่มมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามา ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โรงไฟฟ้าหลายๆแห่ง เริ่มทยอยจ่ายไฟเข้าระบบติดต่อกัน จึงมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หุ้น กัลฟ์ ยังคงจะสูงขึ้นในปีหน้า และปีถัดๆไปอีก 2-3 ปี เพราะยังมีโรงไฟฟ้าหลายๆแห่ง ที่จะทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยจึงน่าจะเป็นคนหน้าเดิมต่อไป ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งที่มากขึ้น จนกว่าโรงไฟฟ้าทุกโรงของกัลฟ์ จะจ่ายเข้าระบบจนครบ หลังจากนั้นอัตราการเติบโตของรายได้ ผลกำไร ก็จะคงที่ หรือขยายตัวไม่สูงมาก ถึงเวลานั้น ก็น่าจะมีแชมป์คนใหม่เข้ามา
คนที่รวยขึ้น จากหุ้นกัลฟ์ ไม่ได้มีสารัชถ์ คนเดียว มีคนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่มั่งคั่งขึ้นจากหุ้นกัลฟ์ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ถือ คนเหล่านี้ ก็คือ นักลงทุนรายย่อย ที่ถือหุ้นกัลฟ์ ซึ่งจากข้อมูลสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ มีประมาณ 10,000 คน ในทางปฏิบัติน่าจะมากกว่านั้น เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ มีคนเข้าคนออกอยู่ตลอดเวลา เป็นนักลงทุนที่ได้อานิสงก์ จากการลงทุน ลงแรงของ กัลฟ์ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติของวงจรการลงทุน ที่ประกอบด้วยช่วงของการตั้งไข่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผล ระหว่างนี้ ผู้ลงทุนต้องแบกรับภาระทุกอย่าง และความเสี่ยงเอง โดยไม่มีใครเห็น เพราะไม่มีการจัดอันดับ การจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย บอกว่า ใครเป็นเศรษฐีหุ้น ด้วยมูลค่าเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ ระหว่างทาง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
การลงทุนของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างกัลฟ์ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปราคาหุ้นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว ผลตอบแทนที่กระจายไปถึงคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น กัลฟ์หรือ บริษัทไฟฟ้าอื่นๆ คือ มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ทุกที่ ทุกเวลา ในราคาถูก อาจจะไม่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า