xs
xsm
sm
md
lg

"เรืองไกร"ยื่นขอข้อมูลจ่ายเบี้ยประชุม บี้ภาษีย้อนหลัง"แม่น้ำ5สาย"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (2ธ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือถึง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ.ฯ เพื่อขอข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมาธิการ หรือกรรมการ ข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมาธิการ หรืออนุกรรมการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ย้อนหลัง 5 ปี เพื่อให้การจัดเก็บรายได้แผ่นดินตามที่ประมาณการไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 มีความถูกต้อง ครบถ้วน และป้องกันไม่ให้มีผู้ใดหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ ตามที่รธน. มาตรา 50 (9) บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ การทำหนังสือเพื่อให้มีการเรียกข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 42(7) กำหนดเงินได้พึงประเมิน ประเภทเบี้ยประชุม กมธ. หรือ กรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบ ที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยเมื่อพิจารณาตาม มาตรา 42 (7) แล้วจะเห็นได้ว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นเบี้ยประชุมอนุกมธ. หรือ อนุกรรมการ ไว้ด้วย ซึ่งกรมสรรพากร เคยตอบข้อหารือไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว และกรมสรรพากร ได้มีแนววินิจฉัยไว้ว่า "ทางราชการ" หมายถึง หน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสนช. มีคณะกมธ.สามัญ และคณะกมธ.วิสามัญ หลายคณะ แต่ละคณะมีการตั้งคณะอนุกรรมธิการด้วย จึงมีเหตุต้องขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดส่งข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่คณะอนุกมธ. หรือ คณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดประมาณ 5 ปี มาตรวจสอบว่า ได้มีการนำไปรวมคำนวณกับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มที่ได้รับแต่ละปี เพื่อคำนวณภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วหรือไม่ และผู้มีเงินได้จากค่าเบี้ยประชุม คณะอนุกมธ. หรือ คณะอนุกรรมการต่างๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือบุคคลอื่น ได้นำเงินพึงประเมินเหล่านี้ไปรวมเสียภาษีให้รัฐหรือไม่ ต่อไป
สำหรับกรณีของ คสช.นั้น ศาลรธน. ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 11/2562 ว่า หัวหน้าคสช. ไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้าง ของหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งจากคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงทำให้ค่าตอบแทนต่างๆ ที่คสช.ได้รับไป ตลอดเวลาประมาณ 5 ปี ไม่เข้าลักษณะที่จะได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (7) คสช. จึงต้องนำค่าตอบแทนต่างๆ รวมทั้งเบี้ยประชุมที่ได้มาเสียภาษีด้วย หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย อาจถูกลงโทษทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ประกอบมาตรา 37 ทวิ ตามมาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลรัษฎากร มาตรา 37(2) บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 2 แสนบาท... (2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้" ส่วนมาตรา 37 ทวิ บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น