“เรืองไกร” เผยทำหนังสือ รมว.คลัง ขอข้อมูลเบื้ยประชุม คสช.-สนช.-สปช.-กรธ. ย้อนหลัง 5 ปี เตรียมสอบจ่ายภาษีหรือไม่ ชี้ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ลงวันที่ 2 ธ.ค. เรื่องขอข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ ข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมาธิการหรืออนุกรรมการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ย้อนหลัง 5 ปี เพื่อให้การจัดเก็บรายได้แผ่นดินตามที่ประมาณการไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีความถูกต้องครบถ้วน และป้องกันไม่ให้มีผู้ใดหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้รัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 50 (9) บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
นายเรืองไกรกล่าวว่า การทำหนังสือเพื่อให้มีการเรียกข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (7) กำหนดเงินได้พึงประเมินประเภทเบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการหรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยเมื่อพิจารณาตามมาตรา 42 (7) แล้วจะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ยกเว้นเบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการหรืออนุกรรมการไว้ด้วย ซึ่งกรมสรรพากรเคยตอบข้อหารือไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว และกรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยไว้ว่า “ทางราชการ” หมายถึง หน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สนช.มีคณะกรรมาธิการสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญหลายคณะ แต่ละคณะมีการตั้งคณะอนุกรรมธิการด้วย จึงมีเหตุต้องขอให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดส่งข้อมูลการจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่คณะอนุกรรมาธิการหรือคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดประมาณ 5 ปีมาตรวจสอบว่าได้มีการนำไปรวมคำนวณกับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มที่ได้รับแต่ละปีเพื่อคำนวณภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วหรือไม่ และผู้มีเงินได้จากค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมาธิการหรือคณะอนุกรรมการต่างๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือบุคคลอื่น ได้นำเงินพึงประเมินเหล่านี้ไปรวมเสียภาษีให้รัฐตามรัฐธรรมนูญและประมวลรัษฎากรแล้วหรือไม่ต่อไป
นายเรืองไกรกล่าวย้ำว่า สำหรับกรณีของ คสช.นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 11/2562 ว่าหัวหน้า คสช.ไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จากคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงทำให้ค่าตอบแทนต่างๆ ที่ คสช.ได้รับไปตลอดเวลาประมาณ 5 ปี ไม่เข้าลักษณะที่จะได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42 (7) คสช.จึงต้องนำค่าตอบแทนต่างๆ รวมทั้งเบี้ยประชุมที่ได้มาเสียภาษีด้วย หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย อาจถูกลงโทษทางอาญาตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 (2) ประกอบมาตรา 37 ทวิ ตามมาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 2 แสนบาท...(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้” ส่วนมาตรา 37 ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”