xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของคนไทยวันนี้ : ทุกข์ใต้ภาวะจำยอม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



คำว่า ทุกข์ หมายถึงภาวะที่ทนได้ยากสำหรับสังขารที่มีใจครอง อันได้แก่ คนและสัตว์ และหมายถึงภาวะที่คงที่อยู่ไม่ได้ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป สำหรับสังขารที่ไม่มีใจครอง อันได้แก่ วัตถุทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์ทำขึ้น รวมไปถึงพืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแต่ไม่มีใจครอง นี่คือความหมายของคำว่า ทุกข์ ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนา

ทุกข์ตามคำสอนของพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. ทุกข์กายหรือกายิกทุกข์ ได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นทุกข์ประจำสังขาร และเกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง เนื่องจากความไม่เที่ยงหรือไม่คงที่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป แลเกิดจากความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนสั่งการไม่ได้

2. เจตสิกทุกข์หรือทุกข์ทางใจ เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก การอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความไม่สมปรารถนา หรือความผิดหวัง เป็นต้น

ในทุกข์ 2 ประการข้างต้น ทุกข์ทางกายหรือกายิกทุกข์เป็นทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถอยู่ร่วมกับมันได้ โดยการฝึกจิตจนเข้าถึงสัจธรรม และปล่อยวาง ส่วนทุกข์ทางใจหรือเจตสิกทุกข์ จะต้องขจัดเหตุแห่งทุกข์ ก็จะทำให้ความสุขเกิดขึ้นแทนที่ได้

แต่การจะแสวงหาความสุขได้ ก่อนอื่นจะต้องรู้ก่อนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะโลกียสุขหรือความสุขของปุถุชน ซึ่งเราท่านทุกคนมุ่งแสวงหาเพื่อให้ได้มาเป็นของตน

ตามนัยแห่งคำสอนทางพุทธศาสนา ความสุขของคฤหัสถ์เกิดจากเหตุ 4 ประการคือ

1. อัตถิสุข ได้แก่ ความสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ คือความภูมิใจและความเอิบอิ่มใจว่าตนมีทั้งทรัพย์ที่หามาได้ ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม

2. โภคสุข ได้แก่ ความสุขจากการได้ใช้ทรัพย์คือ ความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้นเลี้ยงชีพตนเอง เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์

3. อนณสุข ได้แก่ ความสุขเกิดจากการไม่มีหนี้ คือ ความภูมิใจและความเอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไทไม่เป็นหนี้ ไม่ติดค้างใคร

4. อนวัชชสุข ได้แก่ ความสุขอันเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครก็ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ภาวะตรงกันข้ามกับความสุข 4 ประการข้างต้น ก็คือ ความทุกข์และใน 4 ประการนี้ 3 ประการแรก เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคนยากจนทุกคน ส่วนประการที่ 4 เกิดขึ้นได้ทั้งแก่ คนจน และคนรวย ที่มีพฤติกรรมเป็นที่รังเกียจของสังคมโดยรวม

ถ้านำความสุข 4 ประการข้างต้นมาเป็นตัวชี้วัดความสุขของคนไทยวันนี้ ก็จะพบว่าส่วนใหญ่มีความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกข์ในภาวะตรงกันข้ามกับความสุขใน 3 ข้อแรก คือ ไม่มีเงินใช้เพียงพอ และการเป็นหนี้ ส่วนที่มีเงินส่วนหนึ่งก็มีพฤติกรรมเป็นที่รังเกียจของสังคม

ดังนั้น ในวันลอยกระทงที่ผ่านมา กระทงส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความทุกข์ที่คนไทยอธิษฐานแล้วลอยนำไป

ทำไมคนไทยในปัจจุบันจึงมีทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกข์จากการเป็นหนี้?

เพื่อจะตอบปัญหาข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่า คนไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมชนบท มีการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากอดีต

ในอดีตคนไทยใช้ชีวิตแบบพอเพียง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคเกษตร ตัวอย่างเช่น ชาวนาทำนาโดยใช้แรงงานสัตว์ และแรงงานคนในครอบครัวปลูกข้าวเพื่อกินเหลือขาย ทุกครัวเรือนมียุ้งฉางไว้เก็บข้าวเปลือก

ดังนั้น เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็นำมาเก็บในยุ้งฉาง จนกระทั่งถึงฤดูเก็บเกี่ยวในฤดูต่อไป จึงจะขายข้าวเก่าที่เก็บไว้ จะเว้นไว้เพียงเพื่อให้เป็นเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในฤดูทำนาต่อไป จะมีอยู่บ้างบางรายได้นำข้าวเปลือกออกมาขายเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเป็นครั้งคราว จึงรับประกันได้ว่า มีข้าวกินตลอดฤดูกาลแน่นอน ส่วนกับข้าวก็สามารถจับกุ้ง หอย ปู ปลาในคูหนองคลองบึง จึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง

แต่ชาวนาในปัจจุบัน ถูกครอบงำด้วยลัทธิวัตถุนิยม และบริโภคนิยมกลายเป็นคนฟุ่มเฟือย รักความสะดวกสบาย ไม่ทำงานด้วยตนเอง แต่จ้างคนอื่นทำโดยใช้เครื่องจักรกลเริ่มตั้งแต่ไถหว่าน ปักดำไปจนถึงการเก็บเกี่ยวในการดูแลร่วม ไม่ใช้แรงงานถอนหญ้า ดายหญ้าเยี่ยงในอดีต แต่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นอันตรายแก่ตนเองและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ปลาสูญหาย และที่ทนอยู่ได้ก็ปนเปื้อนเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้ ชาวนาในยุคปัจจุบันจึงต้องมีเม็ดเงินมาลงทุน และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้

เมื่อต้องไปกู้ยืมมาลงทุนทำนา ก็จะต้องจ่ายคืนรีบขายผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ บางรายขายแล้วก็ยังไม่พอจ่ายหนี้ จึงต้องมีหนี้ใหม่เพื่อใช้หนี้เก่าสะสมเป็นดินพอกหางหมูไม่มีวันหมดหนี้ จึงกลายเป็นความทุกข์

ทำไมการเป็นหนี้จึงเป็นทุกข์ และจะพ้นทุกข์จากการเป็นหนี้ได้อย่างไร?

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ท่านที่ชาวพุทธหรือมิใช่ชาวพุทธ แต่สนใจปรัชญาพุทธที่ว่าด้วยการเป็นหนี้เป็นทุกข์ ให้ไปอ่านพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า 392 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

“พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม” ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนกู้หนี้แล้วก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ยไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็จะถูกทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกทวงไม่ให้เขา ก็ถูกตามตัว แม้การถูกตามตัวก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม คนจนถูกตามตัวไม่ให้เขา ก็ถูกจองจำ แม้การถูกจองจำ ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ส่วนการที่จะไม่เป็นหนี้ จะต้องยึดหลักขยัน อดทน ประหยัด และหลีกเลี่ยงทางแห่งความเสื่อมหรืออบายมุขทั้งปวง ถ้าทำได้ถึงจะไม่รวย ก็จะไม่เป็นหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น