ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จบไปแล้วกับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับ รัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus ครั้งที่ 6 (ADMM Retreat & 6th ADMM-Plus) ระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 2562 ที่โรงแรมอวานี และริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ ที่มีอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
สุดสัปดาห์ที่แล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประเทศประธานอาเซียน ย้ำว่า เป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในปีนี้ คือ "การบรรจุศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน" ในกฎบัตรอาเซียน ที่เป็นการยกบทบาทและขีดความสามารถของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ในการสนับสนุนการบริหารจัดการภัยพิบัติของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุมตลอด 4 วัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นเป็นประธานการประชุม
ฝ่ายรัฐบาลไทย มีการนำเสนอประเด็น "บทบาทของฝ่ายทหารในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing" และแนวคิดฝ่ายทหารอาเซียนกับการบริหารจัดการชายแดน เข้ามาพิจารณา โดยหวังที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเจรจา และประเทศมหาอำนาจ
ฝ่ายกลาโหมไทย หอบมติ ครม. 2 ฉบับ มาเจรจา เป็น "บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ”
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และขยายความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศให้มีความหลากหลายและครอบคลุมในทุก ๆ มิติเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงยังมี หนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมการบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสาระสำคัญเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และขยายความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของแต่ละประเทศ การกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจีน-ไทย ซี่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำและตรวจสอบแผนและโครงการต่าง ๆ ที่ทำร่วมกัน การจัดประชุมประจำปี และการประสานงานในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างกัน
อีกฉบับ เป็นแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่าง ไทย-สหรัฐอมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ
เป็นเอกสารที่กำหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำความยึดมั่นร่วมกันของไทยและสหรัฐอเมริกาต่อความเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างกันอันยาวนาน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกันในระยะยาว รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง อันจะนำไปสู่ขีดความสามารถในการป้องปรามและตอบสนองต่อภัยคุกคามและสิ่งท้าทายร่วมกันในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงกรณี ‘free and open Indo-Pacific’ ว่า อาจมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนสำหรับบางประเทศได้
รวมถึง การรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และไทยกับจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับจีน เช่น ในประเด็นทะเลจีนใต้ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (9 พ.ค.2560) เรื่อง การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางทหารมีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทุกฝ่ายในช่วงสุดสัปดาห์
ขณะที่ฝ่ายไทย ได้ประโยชน์อะไรจากการประชมครั้งนี้ ดูจาก "แถลงการณ์ร่วมของรมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา" 18 ประเทศ ที่พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ร่วม
สรุปได้ว่า การประชุมครั้งนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และการเสริมสร้างความร่วมมือของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในการตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงของภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังได้รับทราบผลการจับคู่เป็นประธานร่วมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญฉพาะด้านในวงรอบปี 2563-2566 ซึ่งมีกระทวงกลาโหมและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ด้านความมั่นคงทางทะเล และให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของการประชุมฯ และการเป็นประธาน ADMM และ ADMM-Plusในปีนี้ เป็นการแสดงศักยภาพและบทบาทนำในเวทีด้านความมั่นคงที่สำคัญของภูมิภาคของกระทรวงกลาโหมให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง ของอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเตรียมความพร้อม
"เป็น การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน"
ซึ่งมีผลลัพธ์ของการดำเนินความร่วมมือในกรอบ ADMM Plus ที่สำคัญ ได้แก่
1.การประเมินผลการดำเนินงานของคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นชอบให้คงการดำเนินงานของคณะทำงานที่มีอยู่ทั้ง 7 ด้านต่อไป เนื่องจากยังมีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็ง และสอดคล้องกับภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาค
2.การจับคู่เป็นประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวงรอบต่อไป (เม.ย.2563 - เม.ย.2566) และ 3.การจัดการฝึกของคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 7 ด้าน ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ,ความมั่นคงทางทะเล ,การแพทย์ ,ต่อต้านการก่อการร้าย ,ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ,ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และสุดท้าย "ความมั่นคงไซเบอร์"
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม บอกว่า ในเวทีหารือ 18 ประเทศสมาชิก มีความกังวลต่อความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ และความท้าทายด้านความมั่นคงของภูมิภาคที่ซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อการร้าย ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ การแพร่ขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค และปัญหาทะเลจีนใต้
"โดยประเทศสมาชิก เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันจัดการและบริหารความขัดแย้งระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น"
ขณะเดียวกันการเวทีการหารือ "ทวิภาคีฝ่ายไทย" กับระดับรัฐมนตรีกลาโหมและทางทหาร ของ พล.อ.ประวิตร กับประเทศคู่เจรจา
เริ่มจาก "รัสเซีย" พลเอก อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ซึ่ง พลเอก ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณรัสเซียในฐานะประธานร่วมในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร ระหว่างปี 2557-60 จนนำไปสู่การจัดตั้ง "ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน" รวมทั้งการฝึกร่วมระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหาร กับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ 2016 และการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกัน
โดยฝ่ายรัสเซีย ก็พร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างสองประเทศ ทั้งการฝึก ศึกษาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงชื่นชมผลสำเร็จด้านการแพทย์ทหารของไทย รวมทั้งขอเชิญไทยไปร่วมประชุมมอสโคว คอนเวอร์เซชั่น และร่วมการแข่งขันกีฬาทางทหารระหว่างประเทศ ที่จะจัดขึ้นในปี 2563
"เครือรัฐออสเตรเลีย" นาง ลินดา เรย์โนลดส์ รัฐมนตรีกลาโหม โดยทั้งสองฝ่าย ยืนยันที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันในภูมิภาคอินโด แปซิฟิก ให้ครอบคลุมในหลายๆ มิติ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย
โดยเครือรัฐออสเตรเลีย พร้อมที่จะสนับสนุนพัฒนาการระหว่างออสเตรเลียกับไทยในหลากหลายมิติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และขอบคุณไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนการประชุมระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียที่จะมีขึ้นในปีหน้า
เช่นเดียวกับฝ่ายไทย ก็ขอบคุณออสเตรเลีย จากภารกิจ "ช่วยชีวิต 12 นักฟุตบอลหมูป่า"
"สิงคโปร์" ดร.เอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีกลาโหม แสดงความยินดีที่ไทยได้สนับสนุนการฝึกทางทหารของสิงคโปร์ ที่มีมาอย่างยาวนาน และพร้อมสนับสนุนไทยในการเป็นประธานร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลในวงรอบต่อไป (2020-2023)
"สาธารณรัฐอินเดีย" นาย ศรี ราชนาถ สิงห์ รัฐมนตรีกลาโหม โดยทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงกันในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความร่วมมือทางทะเล
"สาธารณรัฐเกาหลีใต้" นาย จอง คยองดู รัฐมนตรีกลาโหม ทั้ง 2 ฝ่าย ยินดีกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีความก้าวหน้า และการพัฒนาศักยภาพ การถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน
"อินโดนีเซีย" พล.ท.พลาโบโว ซูเบียนโต้ รัฐมนตรีกลาโหม ฝ่ายไทยเชื่อมั่นกับ "Asean Our Eyes"ที่อินโดฯริเริ่ม เพื่อนำมาสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการก่อการร้ายในภูมิภาค และสนใจที่จะเพิ่มการฝึกและศึกษาทางการทหาร
"ฟิลิปปินส์" นายเดลฟิน ลอเซนซาน่า รัฐมนตรีกลาโหม โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันให้มากขึ้น และพร้อมสนับสนุนไทย เป็นประธานร่วมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล กับสหรัฐอเมริกา
"เวียดนาม" พล.อ. โง ซวน หลิก รัฐมนตรีกลาโหม โดยไทยพร้อมสนับสนุน"เวียดนาม"ในฐานะประธานอาเซียน และเวทีกลาโหมอาเซียนในครั้งหน้า"นิวซีแลนด์" นายรอน มาร์ค รัฐมนตรีกลาโหม ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนด้านการฝึกและศึกษาด้านความมันคงอย่างใกล้ชิด
ท้ายสุดมีการ การส่งมอบการเป็นประธานการประชุม ADMM ให้กับ "กลาโหมเวียดนาม"
เช่นเดียวกับทุก ๆ ครั้ง ฝ่ายเจ้าภาพ ได้จัดกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมต่าง ๆ แต่ครั้งนี้ "กระทรวงกลาโหม" ขนอุปกรณ์ป้องกันประเทศ และการรักษาความปลอดภัย
แว่วว่า เป็นการจัดเป็น ครั้งแรก โดยจะมีการจัดการสาธิตทั้งภายนอก และภายในอาคารมีการนำยุทโธปกรณ์มาโชว์กว่า 400 บูธ จาก 60 ประเทศ ทั้งด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและบรรเทาสาธาณภัย
ขณะที่ประเทศไทยได้นำยุทโธปกรณ์ ที่คิดค้นและพัฒนามาแสดงโชว์ โดยหวังว่า จะสามารถพึ่งพาตนเอง และยังสามารถนำไปขายให้กับต่างประเทศได้
โดยการออกบูธ ในงานที่เมืองทองธานีนี้ ทำให้มีภาคเอกชน ที่ถูกมองว่า เป็นพ่อค้าแม่ค้าอาวุธ นำยุทโธปกรณ์มาโชว์กันอย่างเต็มที่เช่นกัน.