xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯจีนย้ำไทยหุ้นส่วนทุกมิติ-หนุนEEC-ไฮสปีด-IMFนำ'ศก.พอเพียง'สู่ชาวโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360 - "บิ๊กตู่" เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับนายกฯ จีน "หลี่ เค่อเฉียง" จัดพิธีลงนามความตกลงรัฐบาลไทย-จีน 3 ฉบับ ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ฝากสุภาษิตไทย "มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์และพญาคชสารได้" ด้าน นายกฯจีน พร้อมผลักดันไทยทุกเรื่องทั้งโครงการอีอีซี-การค้าข้าว-รถไฟความเร็วสูง เปรียบร่วมพายเรือลำเดียวกัน ถือเป็นพี่น้องกัน ขณะเดียวกัน “ไอเอ็มเอฟ”พบ “บิ๊กตู่”ชื่นมื่น จูงมือชมทำเนียบฯ โฆษกรัฐบาลเผยไทยยังมีช่องพัฒนานโยบายการเงิน เตรียมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร.9 เผยแพร่ทั่วโลก

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (5พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยจัดพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ต้อนรับอย่างสมเกียรติ

หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายร่วมหารือข้อราชการเต็มคณะ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี โดยฝ่ายไทยประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์

สำหรับคณะรัฐมนตรีฝ่ายจีน ประกอบด้วย นายเซียว เจี๋ย มนตรีแห่งรัฐและเลขาธิการครม. นายหลิว คุน รมว.คลัง นายจาง หย่ง รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ นายเล่อ ยู่เฉิง รมช.ต่างประเทศ นายหลี่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ นายหยู เจี้ยนหัว รมช.พาณิชย์และรองผู้แทนการค้าระหว่างประเทศ

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการและนวัตกรรม 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวและข้อมูลข่าวสารระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับสำนักข่าวซินหัว และ 3. บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท เอสซีจี จำกัด มหาชน กับศูนย์ความร่วมมือทางนวัตกรรมแห่งสถาบันบัณฑิต

จากนั้นเป็นการแถลงข่าวร่วมกันของสองนายกฯ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนที่เกิดขึ้นในปีที่มีความสำคัญ เป็นปีที่ไทยได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเป็นประธานอาเซียน ขณะที่จีนก็เฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

ในสภาวะความผันแปรของสภาวะเศรษฐกิจโลก ตนและนายกรัฐมนตรีหลี่ ได้หารือกันอย่างกว้างขวางทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาคและในโลก ตนและท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างยุทธศาสตร์และกรอบความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (MPAC 2025) และ ACMECS เป็นต้น กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของจีน ซึ่งก็คล้องกับยุทธศาสตร์ “Connecting the Connectivities”ที่ไทยเสนอ เรายังเห็นพ้องที่จะเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง –มาเก๊า – ฮ่องกง หรือ GBAของจีน ผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกหารือระดับสูงระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตนได้เชิญชวนให้จีนขยายการลงทุนในไทย ขณะเดียวกัน ก็ได้ฝากให้นายกรัฐมนตรีหลี่ ช่วยดูแลภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจีน และดูแลเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา และได้ย้ำความตั้งใจของรัฐบาลไทย ที่จะปรับปรุงมาตรฐานการให้ความคุ้มครองและดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งจีนได้แสดงความพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีของจีน ในเรื่องการขจัดความยากจนให้ไทย พร้อมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควัน/PM 2.5

ส่วนในด้านการเมืองและความมั่นคง เห็นพ้องกันให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และจะสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย การเยือนไทยของท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ และการลงนามความตกลงต่างๆ สะท้อนถึงพัฒนาการของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาคโดยรวม

ด้านนายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวขอบคุณที่ทางการไทยให้การต้อนรับอย่างมีน้ำใจ และได้หารือกันหลายประเด็น พวกเราได้บรรลุการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้านการเมือง โดยจีนพร้อมผลักดันไทยทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ อีอีซี รวมถึงส่งเสริมเสริมความร่วมมือด้านการค้าข้าว อีคอมเมิร์ซ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาของไทยเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่มาเยือนประเทศไทย ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้คิดว่า หากทางการไทย-จีน ร่วมมือกัน จะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง ซึ่งในอนาคตจะต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับไทยอีกครั้ง ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และได้มีการประชุมผู้นำ 15 ประเทศ ผ่านเวทีอาร์เซ็ปต์ (RCEP)และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน จะเห็นได้ว่าในภูมิภาคนี้ เรามีประชากรมากที่สุด มีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุด และมีความพร้อมในการสร้างเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เราจะร่วมมือกันในการรักษาความมั่นคงเพื่อพัฒนาภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป ซึ่งการแสวงหาความร่วมมือในเวที RCEP ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร และอดทน การเจรจาระหว่างกันก็เหมือนการเตะบอลเข้าประตู ซึ่งขณะนี้บอลกำลังจะเข้าประตูแล้ว ตัวเองจึงได้ย้ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไปว่า เราต้องใช้ความพยายามต่อไป ต้องผลักดันให้ลูกบอลตกลงสู่พื้น เพื่อเข้าประตูไปในเร็ววัน และเรามั่นใจว่าปีหน้า RCEP จะประกาศข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ และคิดว่าบอลที่เตะเข้าประตูไปแล้ว จะเปิดกว้างไปสู่ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

นายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวด้วยว่า จีนยังคงแสวงหาความร่วมมือกับไทยต่อไป สร้างมิตรภาพระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เราจะเคารพบทบาทการเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทย ซึ่งจีนกับไทยได้ร่วมพายเรือลำเดียวกัน ถือเป็นพี่น้องกัน มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกัน ต่อไปเราจะมุ่งไปข้างหน้าที่มีอนาคตกว้างไกลรออยู่ โดยอาศัยหลักการที่มีความเสมอภาคต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน จังหวะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบรับทันทีว่า " โอเค เราเป็นเรือใหญ่ที่ต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวต่อไป"

ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากสุภาษิตให้กับ นายหลี่ เค่อเฉียง ว่า มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์ และพญาคชสารได้ ซึ่งนี่คือสุภาษิตไทยที่ขอฝากไว้ และอยากฟังสุภาษิตจีนบ้าง ซึ่งนายหลี่ เค่อเฉียง กล่าวว่า ตนได้พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า จีนกับไทยได้นั่งเรือลำเดียวกัน ซึ่งทั้งจีนและไทย มีความเหมือนกัน ถ้าดูจากประชากรและสภาพทางการเมือง การต่างประเทศก็ตรงกัน ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ เราจึงต้องมุ่งไปข้างหน้าเพื่อให้มีอนาคตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เราต้องอาศัยหลักการความเสมอภาคต่อกันเอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดี และมีความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน แม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีนได้ ซึ่งทั้งสองประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอบ "จะเป็นเรือเหล็ก หรือเรือหางยาวเราก็จะไปด้วยกัน" ทั้งนี้ บรรยากาศในการแถลงข่าวเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ต่อจากนั้นเป็นงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายหลี่ เค่อเฉียง ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ก่อนที่นายหลี่ เค่อเฉียง และคณะจะเดินทางกลับ

IMF พบ “บิ๊กตู่”ชื่นมื่น จูงมือชมทำเนียบฯ

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ นางคริสตาลินา กอร์เกียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทั้งนี้ ภายหลังการหารือนายกรัฐมนตรี ได้เดินจูงมือพา นางคริสตาลินา เดินชมทัศนียภาพโดยรอบทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะที่ตึกภักดีบดินทร์ และตึกไทยคู่ฟ้า ขณะที่นางคริสตาลินา กล่าวชื่นชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมของทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับทักทายบรรดาสื่อมวลชน อย่างเป็นกันเอง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงท่าทีของไอเอ็มเอฟ ที่มีต่อประเทศไทยว่า นางคริสตาลินา ได้เล่าให้นายกฯ ฟังว่าการเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อมาร่วมประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งความจริงได้พบกับนายกฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 อยู่แล้ว และได้มีการพูดคุยกันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทางประเทศไทยดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด และมีแผนปฎิบัติการเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและขจัดขยะทางทะเล รวมทั้งการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก

ส่วนรายงานในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ในหลายข้อเสนอแนะ เราพร้อมที่จะรับมาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายด้านการเงิน ที่ทางไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ไทยยังสามารถจะปรับได้อีก ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของระยะยาว คือ การปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา จะพัฒนาอย่างไรให้มีคุณภาพ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ได้อยู่ในแผนพัฒนาและแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้วที่จะมีการทบทวนทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ ทางธปท.คงได้มีการหารือตัวแทนไอเอ็มเอฟอีกครั้งหนึ่ง และไอเอ็มเอฟมองประเทศไทยว่า ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมากตามศักยภาพที่มี

ด้านนางคริสตาลินา ระบุว่า ก่อนเดินทางมาประเทศไทย เพิ่งได้อ่านหนังสือและได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และคิดว่าเป็นหลักปรัชญาที่ทางไอเอ็มเอฟ จะนำไปเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ เพราะสอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทางไอเอ็มเอฟ แม้ไม่ได้มีการพูดคุยถึงภาพรวมภายหลังการเลือกตั้ง แต่ก็มองว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังมีเสถียรภาพ ซึ่งหลังการเลือกตั้งน่าจะมีการปฎิรูปในหลายด้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น