ผู้จัดการรายวัน360-"บิ๊กตู่"ถก ครม.เศรษฐกิจวาระเร่งด่วน หาทางออกปมสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีสินค้าไทย มอบ 3 กระทรวงหาลู่ทางให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสิทธิ เผยนอกจากเร่งเจรจาให้ได้คืนสิทธิ จะเดินหน้าหาตลาดใหม่ทั่วโลกทดแทนด้วย พร้อมปรับกลยุทธ์เร่งใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ลงทุนในประเทศที่ยังได้จีเอสพีสหรัฐฯ "จุรินทร์"เล็งนำทีมรัฐและเอกชนบุกเจาะ 10 ตลาดทั่วโลก มีสหรัฐฯ อยู่ในเป้าหมายด้วย "ดอน"เชื่อยังเจรจากันได้ เตรียมเข้าพบคุยยูเอสทีอาร์ "สมคิด" เผยอุปทูตสหรัฐฯ ยันตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ ย้ำยังไม่ไฟนอล ยังพูดคุยกันได้ เตรียมใช้โอกาสสหรัฐฯ มาไทย คุยเรื่องยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ย้ำมิตรภาพไทย จีน ญี่ปุ่นดีแล้ว สหรัฐฯ ก็ควรจะดีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีในทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณากรณีที่สหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามปกติ ที่ตึกบัญชาการ 1 โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหาวิธีการที่จะเจรจาพูดคุยกันอยู่
จากนั้น นายกฯ ได้เข้าร่วมประชุม ครม. และแถลงผลการประชุม ครม. ในกรณีนี้ว่า เรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ชี้แจงแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ทำมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มีการเจรจากันทุกปี แต่ครั้งนี้ เมื่อเขาประกาศออกมา เราก็จำเป็นต้องไปดูสิ่งที่เป็นปัญหา มันอยู่ตรงไหน เพื่อหาทางเจรจาพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม เราเคยเจรจาขอคืนสิทธิในเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยปีก่อนได้คืนมา 7 รายการ
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะกับไทย ประเทศในอาเซียน ก็โดนด้วย อันนี้เป็นสิทธิของเขา โดยคณะทำงานของเขา แต่ถ้าเรามองวิกฤติเป็นโอกาส ก็ต้องพยายามเจรจาในระยะสั้น ขอคืนสิทธิให้ได้โดยเร็ว จะมีการยกขึ้นมาเจรจาภายใต้กรอบการตกลงทางการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ต่อไป และในระยะยาว สิ่งที่เราต้องทำ คือ หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม ได้แก่ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา เป็นต้น
นอกจากนี้ จะต้องเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ รวมถึงต้องเร่งขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ได้จีเอสพีจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และต้องยกระดับสินค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด
"ขอให้พวกเราอย่าวิตกกังวลเรื่องนี้ให้มากนัก อันนี้จำเป็นต้องหารือกับภาคเอกชนของเราด้วยว่ามีมาตรการช่วยเหลืออะไรช่วยอย่างไร เพราะเป็นธรรมดาเมื่อมีการให้ ก็มีสิทธิจะเรียกคืน เราต้องไปดูในเรื่องแรงงานด้วย เหตุผล ก็คือ ในเรื่องของแรงงาน มีกฎหมายหรือบางมาตรการที่เราปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องภายในของเรา ซึ่งต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประโยชน์เรื่องของสหภาพของแรงงานต่างด้าว หลายประเทศก็ไม่ได้ทำเหมือนกับเรา เดี๋ยวไปดูอีกที ก็อย่าเอาไปยึดโยงกับเรื่องนู้น เรื่องนี้เลย มันไม่เกิดประโยชน์ วันนี้ก็ขอให้ลดผลกระทบในเรื่องเหล่านี้ ฝากไปถึงประชาชน สังคม ให้ลดในเรื่องนี้ลงไป มันจะไม่มีผลดีต่อการพูดคุยในอนาคต"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า กรณีดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการแบน 3สารพิษในไทย พร้อมระบุถึงกรณีที่สินค้าของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถส่งมาไทยได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขของ WTO โดยกล่าวว่า "ก็เดี๋ยวมีการเจรจา"
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวถึงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ 3 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือร่วมกัน เพื่อหาลู่ทางในการยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย โดยเห็นว่ายังมีช่องทางให้สหรัฐฯ ได้ทบทวน ซึ่งได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ประสานกับทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันและทูตแรงงาน เพื่อที่จะหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ซึ่งคงจะมีคำตอบกลับมาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปในเร็วๆ นี้
สำหรับทางออกในระยะยาว กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยตั้ง กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน) ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย โดยได้มีการเตรียมการสำหรับตลาดต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่าจะร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งรัดการส่งออก โดยบุกตลาดใน 10 กลุ่มตลาดใหญ่ ที่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย และมีจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ เอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกหลายตลาด รวมทั้ง ตุรกี เยอรมัน และอังกฤษ โดยจะเน้นเจาะลึกรายมณฑล รายรัฐ โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแผนงานเจาะลึกรายรัฐ เพราะแต่ละรัฐจะมีความต้องการสินค้าแตกต่างกัน
เมื่อถามว่า จะเจรจากับทางสหรัฐฯ ในเรื่องใดบ้าง นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องเจรจาให้เข้าใจว่าบางเรื่องเราทำได้หรือไม่ เช่น การเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานในไทย ทางกระทรวงแรงงานจะชี้แจงว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงข้อเสนออื่น ที่แต่ละกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งใดทำได้ หรือเหมาะ ไม่เหมาะสม อย่างไร
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไทยกับสหรัฐฯ จะต้องหารือกัน แต่ถ้าไม่พูดคุยกัน ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์ ของสหรัฐฯ จะเดินทางมาไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม Indo-Pacific Business Forum ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ของไทย คงถือโอกาสนี้ นัดหมายการหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องจีเอสพี
เมื่อถามว่าทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐฯ จะต้องไปพูดคุยกับยูเอสทีอาร์ด้วยหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า โดยปกติ สถานเอกอัครราชทูตไทย สามารถขอนัดพบเขาได้อยู่แล้ว แต่เมื่อตอนนี้เกิดข่าวลักษณะดังกล่าวออกมา ก็อยู่ในวิสัยที่เราต้องไปหารือกับยูเอสทีอาร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ไปคุยกัน จะถือเป็นเรื่องแปลก
อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าอย่าห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวมากเกินไป เพราะเรื่องจีเอสพี เป็นสิ่งที่ไทยกับสหรัฐฯ ได้เจรจากันมานานแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือไม่เคยมีการพูดมาก่อน แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดประเด็นสำคัญ ฝ่ายไทยกับสหรัฐฯ ก็สามารถพูดคุยเจรจากันได้อยู่แล้ว ซึ่งการที่รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ จะมาประชุมที่ไทย ฝ่ายไทยก็สามารถพูดคุยกับเขาได้ ดังนั้น ทุกคนไม่ต้องกังวล เพียงแต่ข่าวที่ออกมาตอนนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องต่างๆ จนดูว่ามีความซับซ้อน ทั้งที่จริง ฝ่ายสหรัฐฯ มีกำหนดจะประกาศเรื่องจีเอสพี ในช่วงปลายเดือนต.ค.หรือต้นเดือน พ.ย. อยู่แล้ว ทุกอย่างมีเรื่องความประจวบเหมาะ ซึ่งหลายเรื่องที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน มันก็เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ครม. นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯ ช่วงนี้ถือว่าเป็นขาขึ้น จากการที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการจีเอสพี เป็นเรื่องที่มีการตัดสินใจมานานแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารพิษของไทย นี่คือ หัวใจที่สหรัฐฯ ได้คุยกับนายสมคิดในครั้งนี้ และปัจจุบันไทยยังคงได้จีเอสพีมากกว่าประเทศใดในโลก ส่วนเรื่องแรงงาน จะมีการหารือกับรัฐบาลไทยในข้อกฎหมายต่างๆ ว่าจะมีการดำเนินการร่วมกันอย่างไร และกระบวนการจีเอสพียังไม่ถือว่าสิ้นสุด ซึ่งตัวแทนสหรัฐฯ จะมาประชุมในช่วงการประชุมอาเซียน ก็จะหารือกันได้
นายสมคิดกล่าวว่า สหรัฐฯ บอกว่าการตัดสิทธิจีเอสพี ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีมูลค่าไม่มากนัก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะพูดคุยกันและสื่อสารกัน เราสองประเทศเป็นมิตรกันมานาน สามารถที่จะพูดคุยกันได้ จึงอยากให้ใช้ช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ มาไทยช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะแก้ปัญหายังไง หรือร่วมมือกันอย่างไร โดยในเรื่องแรงงาน ก็พยายามมาสมควรแล้ว เรื่องเกษตรพยายามดูแลอยู่ แต่ทุกอย่างต้องค่อยๆ เป็นค่อยไป เขาก็เข้าใจ
อย่างไรก็ตาม ไทยคงไม่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อขอสิทธิคืน แต่อยากให้ใช้เวลาส่วนใหญ่พูดคุยกันถึงยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ไม่ใช่ไปดูเรื่องเป็นชิ้นๆ อยากให้ดูยุทธศาสตร์เลย เพราะขณะนี้ ไทยเป็นจุดที่ทุกคนต้องการเข้ามา อยากให้มองเรื่องใหม่ๆ มองไปไกลๆ บนพื้นฐานของมิตรภาพ และขอให้ใช้ช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เข้ามาร่วมประชุมอาเซียนคุยในเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าจะร่วมกันได้อย่างไร อย่าไปเอาชิ้นที่สร้างปัญหามาคุยกันมากจนเกินไป แล้วเขาถามก็ถามว่าเพิ่งกลับมาจากจีนใช่มั๊ย ดีมั๊ย ซึ่งได้บอกไปว่า ดี จีนก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี อเมริกาก็ควรจะดีด้วย
"นายไมเคิล ฮีธ ได้ถามผมว่า ศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) จีนกับญี่ปุ่น สนใจมากใช่มั้ย ผมตอบว่า ก็ใช่น่ะสิ แล้วสหรัฐฯ ไม่เข้ามาล่ะ เพราะเขากำลังให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากทีเดียว เพียงแต่ช่วงเวลาที่เขามา บังเอิญกับตอนที่ประกาศเรื่องจีเอสพี พอดี ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะมาในจังหวะแบบนี้ ผมเลยถามเขาว่า ถ้ายังไม่ไฟนอล ก็พูดกันใหม่ได้"นายสมคิดกล่าว
วันเดียวกันนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยนายศราวุธ เพชรพนมพร รองเลขาธิการพรรคพท. ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวว่า สัปดาห์หน้า กมธ.ต่างประเทศ จะนำเรื่องสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีเข้าหารือว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร และเห็นว่าในช่วงที่เหลืออีก 6 เดือน ก่อนที่จะถูกตัดสิทธิ รัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ และหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ