xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

“ไก่ชนตัวที่เราชอบ” กับ “ไก่ชนตัวที่คิดว่าจะชนะ” คนไทยจะเลือกไก่ชนตัวไหน?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพจาก pixabay.com
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เลือกไปก็ไม่ชนะ เลือกไปก็เสียของ เลือกไปก็มีแต่แพ้ หลายครั้งทำให้เกิดการลงคะแนนเสียงอย่างมีกลยุทธ์ (Strategic voting) คือไม่ได้เลือกคนที่เราชอบอย่างแท้จริง แต่เลือกคนที่เราคิดว่าจะไปกันให้คนที่เราเกลียดมากๆ ไม่ได้รับชัยชนะก็มี หรือไปเลือกคนรองๆ ที่เราชอบรองๆ ลงมาเพื่อให้เราได้เลือกคนที่คาดว่าจะชนะ

ตกลงคนไทยเลือกกากบาทให้นักการเมืองที่ตัวเองชอบหรือมีอุดมการณ์ทางการเมือง (Political ideology) ตรงกับตัวเอง หรือ เลือกกากบาทให้นักการเมืองที่ตนเองคิดว่าน่าจะชนะการเลือกตั้ง (Outcome expectation) หรือเลือกเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันและคิดว่าจะชนะด้วย

ทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคมชื่อทฤษฎีอัตลักษณ์สังคม (Social identity theory) อธิบายว่าคนเราอยากจะเลือกคนที่มีความคิดหรืออัตลักษณ์ตรงกับตนเองเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านการเป็นกลุ่มเดียวกัน การที่เราเลือกคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันจึงเป็นเรื่องปกติที่นอกจากจะทำตามที่ชอบแล้วยังเป็นการทำตามอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อเสริมและยิ่งทำให้อัตลักษณ์ของตนเองยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น

ในขณะที่ทฤษฎีปัญญาสังคม (Social cognitive theory) เสนอว่าคนเราจะทำพฤติกรรมก็ต่อเมื่อคาดหวังว่าเมื่อทำพฤติกรรมลงไปแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา เช่น ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ส.ส. คนที่ตนเองลงคะแนนให้ได้รับการเลือกตั้ง คาดว่าจะได้รับชัยชนะก็จะอยากเลือกเพราะรู้ว่าเมื่อได้ทำพฤติกรรมลงไปจะได้ผลอย่างที่ใจหวัง

อย่างไรก็ตามผลการวิจัยโดยผมและลูกศิษย์ ชื่อสุพัฒน์ วงษ์สุขุมอมร เรื่อง ความคาดหวังที่ผู้สมัครจะชนะเลือกตั้งกำกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนความคิดทางการเมืองและตัวเลือกในการเลือกตั้ง ที่กำลังจะตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2562 ฉบับที่สอง ได้ใช้ข้อมูลที่สำรวจโดยสถาบันพระปกเกล้าก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งล่าสุด พบว่าคนไทยเราชอบตีไก่ชนตัวที่ตัวเองชอบและหากไก่ชนตัวที่ตัวเองชอบมีแนวโน้มจะเป็นไก่ชนตัวชนะก็จะยิ่งเชียร์ไก่ชนตัวนั้น พูดง่ายๆ เราอยากจะเลือกนักการเมืองที่เราชอบมีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกับเรา แต่หากเขามีโอกาสจะชนะสูงมากเรายิ่งจะเลือกนักการเมืองคนนั้นๆ อย่างแน่นอนมากยิ่งขึ้น พูดได้ว่าเป็นผลร่วมกันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับความคาดหวังที่ผู้สมัครจะได้รับชัยชนะที่มีต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง

ข้อค้นพบนี้สำคัญอย่างไรสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ข้อแรก พรรคการเมืองหากอยากให้ประชาชนเลือก นอกจากจะทำให้ประชาชนคล้อยตามมีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกัน เป็นตัวแทนความคิดของประชาชนได้แล้ว ยังต้องสามารถทำให้ประชาชนเชื่อว่านักการเมืองพรรคนั้นๆ มีโอกาสจะชนะเลือกตั้งสูงมาก คำถามคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่านักการเมืองคนนั้นจะชนะเลือกตั้ง คำตอบคือ ก็ต้องเริ่มจากความเชื่อว่าตนเองจะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอนเสียก่อน โจ จิราร์ด คนเขียน Catch me if you can ถึงได้กล่าวว่านักโกหกที่เก่งที่สุดคือนักโกหกที่เชื่อว่าเรื่องที่ตนเองโกหกเป็นเรื่องจริง หากนักการเมืองปราศจากความเชื่อว่าตนเองจะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอนแล้วย่อมไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่านักการเมืองคนนั้นจะชนะ นอกจากนี้การแสดงความยึดโยงเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐก็อาจจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนเชื่อว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นจะได้เปรียบ มีโอกาสชนะและมีโอกาสได้มาเป็นรัฐบาลหรือใช้อำนาจรัฐต่อไปในอนาคต การมีพรรคการเมืองร่วมก๊วน เป็นเครือข่ายพรรคพวกเดียวกันก็ทำให้รู้สึกว่ามีพรรคพวกมาก มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลสูง มีโอกาสจะชนะมากกว่า

พรรคการเมืองขนาดใหญ่อาจจะได้เปรียบที่จะมีโอกาสได้รับชัยชนะมากกว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กหรือพรรคโนเนม อย่างไรก็ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 90-92 เรื่อง party list ทำให้ความได้เปรียบจากโอกาสที่จะชนะนั้นกลายเป็นข้อเสียหากได้คะแนนเสียงโหวตมากไปและมี ส.ส. ในระบบเขตมากเกินกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีได้แล้วก็จะไม่ได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลย ข้อนี้ทำให้เกิดการแตกแบงค์ร้อยเป็นแบงค์พันมาก พรรคใหญ่ก็กลัวเสียเปรียบจากกติกาการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีๆ ว่าการเป็นพรรคใหญ่ ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเชื่อมั่นว่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้งสูงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่กำหนดมาโดยตลอดว่า ห้ามเผยแพร่ผลโพลล์หรือผลการสำรวจความเห็นสาธารณะก่อนการเลือกตั้งเจ็ดวัน โดย กกต. ให้เหตุผลว่าผลโพลล์อาจเป็นการชี้นำประชาชน หรือมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ข้อนี้สำคัญมาก ผลการวิจัยชี้ชัดว่าหากมันใจว่าใครจะชนะ คนไทยมีแนวโน้มจะเฮตามหาคนชนะได้ ดังนั้นหากไม่ห้ามเผยแพร่ผลโพลล์ก่อนเลือกตั้งเจ็ดวัน ก็อาจจะมีการใช้โพลล์ผีบอกหรือโพลล์เงินหล่นเพื่อเร่งเร้าให้เกิดความคาดหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งเพื่อให้คนเฮมาเลือกพรรคหรือนักการเมืองที่น่าจะชนะซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง หากไม่ห้ามอาจจะกลายเป็นวิชามารเพื่อโกงการเลือกตั้งก็เป็นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น