xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากแม้ยากจน จงอดทนไปโรงพยาบาลของรัฐ (ถ้าทนไหว)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อรัฐบาลและ NGO ตระกูล ส และ สปสช. คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ จัดทำโครงการ UCEP อันย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients ที่จะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว และมีการโหมโฆษณาให้คนไทยเข้าไปใช้บริการได้ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมกับมีการประกาศว่ากรณีใดบ้างที่ถือว่าฉุกเฉินหรือกรณีใดบ้างที่ถือว่าไม่ฉุกเฉิน

ผมก็คาดการณ์ได้ว่าน่าจะเกิดปัญหาหลายประการตามมาจากการสังเกตพฤติกรรมของ NGO ตระกูล ส และองค์การมหาชนหรือองค์กรอิสระตระกูล ส มายาวนานว่า และจากการสังเกตพฤติกรรมและวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลเอกชน

ปัญหาที่ว่ามีดังนี้

เริ่มแรกมีคนไทยที่เข้าไปรับการรักษาตามโครงการ UCEP แม้จะฉุกเฉินจริงแต่ UCEP ก็ไม่ได้จ่ายให้ทั้งหมด จ่ายให้โรงพยาบาลที่รักษาให้ ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนตามอัตราที่กำหนดไว้ก่อน (Fee schedule) ว่ารักษารายการนี้ จ่ายให้ได้เท่านี้ การกำหนดอัตราจ่ายไว้ก่อนในอัตราที่น่าจะต่ำกว่าต้นทุนมาก ทำให้เมื่อเรียกเก็บมาคนที่เข้าไปรักษาพยาบาลตามโครงการ UCEP ก็ถูกโรงพยาบาลตามเรียกเก็บบิลค่าใช้จ่ายอยู่ดี ไม่มีทางหนีพ้น ซึ่งโรงพยาบาลของรัฐนั้น Nobody owns, nobody cares. ก็เลยไม่มีปัญหา รัฐบาลก็ยอมรับการขาดทุนไป ไม่สามารถไปเรียกเก็บกับประชาชนได้

แต่โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นของบริษัทเอกชนหรือบริษัทมหาชนจำกัด เขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาเปิดกิจการเพื่อทำมาค้าขายแสวงหากำไรสูงสุด ถ้าขาดทุนเขาก็ไม่ยอม แล้วเขาก็ต้องไปฟ้องร้องไล่เบี้ยเอากับประชาชนที่มาใช้บริการที่สำคัญผิดคิดว่า สพฉ. จะจ่ายให้หมดทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งก็หาได้เป็นเช่นนั้นได้ แล้วเมื่อค่าใช้จ่ายบานปลายหรือเมื่อ สพฉ. หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เคลียร์เงิน พิจารณาแล้วคิดว่าไม่เข้าข่ายฉุกเฉินจริง ๆ ก็จะไม่จ่ายให้โรงพยาบาลไม่ว่าจะของรัฐหรือของเอกชน

อย่าลืมไปว่าโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ค่าจ้างบุคลากรทั้งหมดไม่ว่าหมอ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ก็ต้องจ่ายเอง ค่าสร้างตึกอาคาร ค่าดูแลสถานที่ ค่าอุปกรณ์เครื่องมือทุกอย่าง โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องออกเองทั้งหมด ไม่ได้มีเงินงบประมาณแผ่นดินใด ๆ มาให้เลยแม้แต่บาทเดียว ถ้าจะให้ก็ต้องรักษาพยาบาลทางการแพทย์เป็นการต่างตอบแทน ดังนั้นต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนจึงสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐมาก

โรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงกำไรนั้นก็มีบ้าง แต่มีไม่มาก เช่น โรงพยาบาลของมูลนิธิหรือองค์กรทางศาสนา เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลมิชชั่น หรือ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่เชียงใหม่ เป็นต้น แต่ก็ต้องไม่ขาดทุนจนอยู่ไม่ได้

เรื่องนี้ NGO ตระกูล ส บางคนก็เป็นนักร้องมืออาชีพ อยากได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฟรีหมด เพื่อช่วยคนจนจนไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกอย่างฟรีหมด ทุกคนจะถลุงใช้จนเรือหายไปหมดสิ้น อย่างที่มหาตมะคานธี กล่าวว่า ทรัพยากรของโลกมีมหาศาลเพียงพอสำหรับคนทุกคนบนโลกนี้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว

การเปิดช่องให้ใช้บริการได้ฟรีในกรณีฉุกเฉิน อาจจะเป็นช่องให้เกิดการ abuse ระบบที่ฟรีดังกล่าวได้ เช่นไม่ฉุกเฉินแต่ก็ไปใช้บริการ

สักเดือนก่อนผมเองได้รับจดหมายเชิญจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนตระกูล ส เช่นกัน ให้ไปร่วมรับผลร่างผลการศึกษาและข้อเสนอเพื่อทบทวนอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินหรือ UCEP แบบ Fee Schedule ซึ่งน่าเสียดายว่าผมติดงานอื่นในวันดังกล่าวเลยไม่ได้ไปร่วมงาน แต่เห็นว่ามีเอกสารแจกในงานและให้ใช้ในงานประชุมเท่านั้นยังไม่ได้เผยแพร่ เสียดายที่ผมเองก็ยังไม่ได้เห็น

แต่ผมพอคาดคะเนได้ว่า เงินที่ UCEP จ่ายให้โรงพยาบาลน่าจะต่ำกว่าที่โรงพยาบาลต่าง ๆ เรียกเก็บไปมากจนโรงพยาบาลขาดทุนย่อยยับ อันเป็นสิ่งที่ตระกูล ส ชอบทำมาเสมอมา เรื่องนี้ไม่ได้ต่างจาก Global budget ตามที่เกิดปัญหามาแล้วกับคนไข้ในบัตรทองของ สปสช โปรดดูในบทความ เมื่อ สปสช. ชักดาบไม่จ่ายหนี้โรงพยาบาลของรัฐ : ปัญหา DRG ที่พี่ตูนจะต้องก้าวคนละก้าวอีกสักกี่ครั้ง? https://mgronline.com/daily/detail/9600000115874

และบทความ เหมาจ่ายรายหัว และ DRG คือการบังคับซื้อในราคาถูกกว่าต้นทุนจริง โดย สปสช. สำหรับผู้ป่วยบัตรทอง แต่จ่ายตามจริงทุกอย่างสำหรับสวัสดิการพนักงานและผู้บริหาร สปสช. https://mgronline.com/daily/detail/9600000103766

เมื่อได้ลองสอบถามเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนจำนวนมากแล้วก็ได้คำตอบที่น่าตกใจมาก เมื่อถามว่าตกลง UCEP จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลจากที่ตั้งเบิกไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็จะตอบว่าเรียกเก็บไปเยอะกว่ามาก แต่เป็นได้จริงประมาณร้อยละ 60-70 ของที่เรียกเก็บ แต่ถ้าเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนแล้วจะตอบว่าเก็บเงินจาก UCEP ได้เพียงร้อยละ 10-20-30-40 ของค่าบริการที่เรียกเก็บ

เมื่อถามว่าขาดทุนไหม ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ขาดทุนย่อยยับหนักหนาสาหัสมาก พวกผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐก็พูดต่อว่า UCEP ก็ช่วยทำให้ขาดทุนหนักเพิ่มเติมขึ้นไปหลังจากที่ขาดทุนจากบัตรทองไปแล้ว แต่นี่ซ้ำเติมให้หนักหนาสาหัสกว่าเก่า แต่ก็ไม่อาจจะเลี่ยงได้ ต้องรักษาหมด ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนก็กล่าวไปในทำนองว่า อันนี้เท่ากับว่า UCEP กรรโชกทรัพย์หรือกดราคา ให้โรงพยาบาลเอกชนต้องรับสภาพการขาดทุนจากการรักษาฉุกเฉินไม่มีทางเลือก ถ้ามีมาก ๆ โรงพยาบาลก็จะยอบแยบและมีปัญหาทางการเงิน บอร์ดหรือผู้ถือหุ้นก็อาจจะไม่พอใจเพราะทำให้กำไรรวมลดลง ได้เงินปันผลลดลง

เมื่อได้ฟังดังนี้แล้วก็คาดเดาได้ว่า โรงพยาบาลเอกชน คงรู้สึกว่าถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม และถ้าไม่จำเป็นหรือคิดว่าไม่เข้าข่ายฉุกเฉินจริง ๆ ตามเกณฑ์ของ UCEP หรือ สพฉ. ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับคนไข้ฉุกเฉินที่มาใช้บริการด้วย UCEP แทนที่จะไปใช้บริการตามสิทธิที่ตนเองมี

ดูไปดูมา UCEP หรือ สพฉ. ช่างทำหน้าที่คล้ายโรบินฮู้ดที่คอยไปเที่ยวปล้นผู้ร่ำรวย? คือโรงพยาบาลเอกชนให้มาช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน?????

ช้าก่อนถ้าทำแบบนี้ไปตลอดแล้วโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนจะไม่ขาดทุนจนเจ๊งล้มละลายไปหมดหรือ คำตอบคือก็มีความเป็นไปโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน

มี NGO บางกลุ่มออกมาแย้งว่า ฉุกเฉินจะเกิดที่ไหนก็ไม่มีใคร ยังไงก็ต้องรักษา อันนี้ผมก็เห็นด้วย แต่ประชาชนโดยเฉพาะคนที่ยากจนก็ต้องรับความเสี่ยงหลายอย่าง

หนึ่ง ไม่รู้ว่าตัวเองเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์ของ UCEP หรือไม่ แล้วจะมีสิทธิได้รับการรักษาหรือไม่
สอง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจจะต้องออกเองและถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บหรือฟ้องร้องและเรียกเก็บเงินให้ได้
สาม ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการที่โรงพยาบาลเอกชนจะปฏิเสธไม่ให้การรักษา หากคิดว่าไม่ฉุกเฉินจริง ๆ ก็จะพยายามส่งไปรักษาตามโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ

และแล้วความเสี่ยงประการที่สามก็เกิดขึ้นจริง จนเกิดการเสียชีวิต ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงก็คงต้องรอการชันสูตรพลิกศพทางพยาธิวิทยาและนิติเวชวิทยา และการสอบสวนคดี เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็คงต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ผมรู้สึกเสียใจกับการสูญเสียคุณแม่ของน้องผู้เสียชีวิตมากจริง ๆ เป็นเรื่องน่าเศร้าสลดที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใดก็ตามก็เป็นเรื่องที่ต้องเสียใจอย่างสุดซึ้ง

เมื่อระบบ UCEP ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และสพฉ ทำหน้าที่เป็นโรบินฮู้ดไปปล้นและบังคับโรงพยาบาลเอกชนให้ต้องรักษาคนไข้ในกรณีฉุกเฉิน ด้วยราคาที่น่าจะขาดทุนอยู่ (แน่หละว่าต้นทุนที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ก็ต้องคำนวณออกมาได้ แต่สพฉ จะจ่ายไหวหรือไม่ รัฐบาลจะจ่ายไหวหรือไม่) เราเองก็คงต้องระวังตัวเรา ผมเองมีข้อสรุปง่ายๆ ว่า เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากแม้ยากจน จงอดทนไปโรงพยาบาลของรัฐ (ถ้าทนไหว)


กำลังโหลดความคิดเห็น