xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

เหตุเกิดแล้วเกิดอีก ในนครอันรุ่งเรือง เหตุด้วยวาณิชผู้ไร้วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นเจ้าของวลีนี้ตามที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์หรือครูโก้ได้โพสต์ใน Facebook ให้อ่าน เหตุใด เหตุเกิดแล้วเกิดอีก ในนครอันรุ่งเรือง เหตุด้วยวาณิชผู้ไร้วัฒนธรรม

มารู้จัก พระตำหนักปลายเนิน วังคลองเตย ถนนพระรามสี่กันเถิด วังคลองเตยแห่งนี้ในสมัยแรกตั้งถือว่าอยู่ห่างไกลปืนเที่ยงมาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศไทยมามากมาย เช่น เสนาบดีหลายกระทรวงทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัง อภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีพระภารกิจสุดท้ายในตำแหน่งนี้คือนำรายชื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลตามกฎมณเฑียรบาล เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติ สมเด็จครูทรงราชการแผ่นดินสำคัญมามากมายหลายตำแหน่ง ด้วยความซื่อสัตย์ เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถยอดเยี่ยม

แต่งานที่ทรงทำเป็นงานอดิเรกและกลายเป็นศิลปกรรมชั้นยอดเยี่ยมของชาติและของโลกกลับเป็นงานด้านศิลปกรรม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จครูทรงพระประชวรด้วยอาการโรคหัวใจโต ได้กราบบังคมทูลลาออกจากทุกตำแหน่ง มาประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักปลายเนิน วังคลองเตยแห่งนี้ แต่ยังรับใช้สนองราชกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านศิลปกรรม ดนตรี และสถาปัตยกรรมอยู่ตลอด สมเด็จครูทรงเป็นช่างเอกอุแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชำนาญในศิลปกรรมทุกสาขา ทั้งดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม สถาปัตยกรรม นาฏยศิลป์ อย่างหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ยากยิ่ง

ผมรู้จักพระตำหนักปลายเนินครั้งแรกจากการอ่านสาส์นสมเด็จซึ่งเป็นจดหมายของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงสยามสองพระองค์คือสมเด็จครู และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนจดหมายโต้ตอบกันไปมาระหว่างที่พระองค์หนึ่งเสด็จไปลี้ภัยทางการเมืองที่ปีนัง การได้อ่านสาส์นสมเด็จถือว่าเป็นการฟังปราชญ์ไทยคดีศึกษาสองท่านสนทนากันอย่างออกรสออกชาด ได้สาระและได้ความรู้ที่สุด

ผมยังได้อ่าน บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ที่เป็นจดหมายประทานพระยาอนุมานราชธนเวลาพระยาอนุมานราชธนเขียนไปกราบทูลขอความรู้ต่างๆ อย่างเพื่อนนักเรียน ซึ่งสมเด็จครูก็ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหล่านี้เมื่อประทับที่พระตำหนักปลายเนิน วังคลองเตยทั้งสิ้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคารพยกย่องสมเด็จครูในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และทรงตรัสเรียกว่าสมเด็จปู่นริศ เพราะทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช และยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมและรับประทานเลี้ยงน้ำชาที่พระตำหนักปลายเนินอยู่หลายครั้ง ดังพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ทรงเขียนถวายด้านล่างนี้

สมเด็จครูเป็นจิตรกรที่มีฝีพระหัตถ์เยี่ยมยอด และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคัดเลือกภาพ "เพียรกล้า" ฝีพระหัตถ์ สมเด็จครูซึ่งทรงเขียนประทานผู้ที่มาเฝ้าในวันสงกรานต์ มาทรงวาดแผนที่อากาศด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นภาพนางมณีเมขลาและพระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญเพียร อันเป็นที่มาของภาพวาดประกอบพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ในกาลต่อมา


สมเด็จครูทรงแต่งเพลงเขมรไทรโยค อันเป็นเพลงไทยแท้ที่คงความอมตะ สมเด็จครูทรงออกแบบพระเมรุมาศในงานพระบรมศพและงานพระบรมศพอันเป็นต้นแบบพระเมรุมาศอันวิจิตรบรรจงของไทย เป็นงานครูที่ผู้ที่เรียนสถาปัตยกรรมไทยทุกคนต้องได้เรียนรู้จากงานครู

ผลงานหลายชิ้นของสมเด็จครูยังรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่พระตำหนักปลายเนิน ถนนพระรามสี่ และทายาทของสมเด็จครูในราชสกุลจิตรพงศ์ ยังคงสืบทอดงานศิลปกรรมของสมเด็จครู ที่บ้านปลายเนิน คลองเตย ยังแว่วกังวาลหวานก้องด้วยเสียงดนตรีไทยเสมอมา มีนักเรียนมาเรียนรำไทย ดนตรีไทย ที่บ้านปลายเนินไม่เคยขาดสาย บ้านปลายเนินแห่งนี้เป็นศูนย์รวมนักดนตรีไทยที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย นักดนตรีไทยคนสำคัญที่สุดที่เสด็จมาทรงดนตรีไทยที่พระตำหนักปลายเนินอยู่เป็นประจำคือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

ในวังคลองเตยแห่งนี้ มีพระตำหนักสำคัญยิ่งอยู่สองตำหนัก คือ พระตำหนักไทย ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทย ยกใต้ถุนสูง เรือนไทยแบบนี้ถอดและปรุงได้ ไม่ได้ตอกตะปูแม้แต่ตัวเดียว การเคลื่อนย้ายทำได้ เมื่อสมเด็จครูเสด็จมาประทับที่วังคลองเตยใหม่ๆ เสด็จประทับที่พระตำหนักไทยองค์นี้

ส่วนอีกตำหนักที่สำคัญมาก คือ พระตำหนักตึก เป็นตำหนักที่สมเด็จครูประทับในยามทรงพระประชวรมากแล้ว และสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักแห่งนี้

ทุกวันนี้ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ ยังคงดำรงรักษาสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่สำคัญของชาติแห่งนี้ไว้อย่างมั่นคง ไม่ได้คิดจะขายให้ใคร ไปทำเป็นอย่างอื่น ทั้งๆ ที่ที่ดินของพระตำหนักปลายเนินนั้นถือว่าเป็นที่ดินทำเลทอง เพราะอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT บ่อนไก่ ถนนพระราม 4 เป็นที่หมายตาของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากมาย

แต่แล้วเหตุเกิดแล้วเกิดอีก ในนครอันรุ่งเรือง เหตุด้วยวาณิชผู้ไร้วัฒนธรรม ก็เกิดขึ้น ด้วยมีความพยายามจะสร้างคอนโดมิเนียม 36 ชั้นติดกับพระตำหนักปลายเนิน วังคลองเตย และคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานที่อันสำคัญยิ่งของชาติแห่งนี้ โดยเฉพาะพระตำหนักตึก ซึ่งไม่ทราบว่าฐานรากก่อสร้างไว้อย่างไร และถอดไปประกอบใหม่เช่นพระตำหนักไม้ ไม่ได้ ทั้งนั้นทางทายาทของราชสกุลจิตรพงศ์ได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของชาติไทยเอาไว้ (หาใช่มรดกเฉพาะของราชสกุลจิตรพงศ์เท่านั้นไม่)

ขณะนี้เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หากผ่านการพิจารณาจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็จะดำเนินการก่อสร้างได้ และจะเกิดความเสียหายแก่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ต่อไปอย่างที่ไม่อาจจะรื้อฟื้นคืนได้

ทั้งนี้ใคร่ขอเชิญทุกท่านช่วยกันลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 36 ชั้นดังกล่าวซึ่งจะสร้างติดพระตำหนักปลายเนินเพียงไม่กี่เมตร ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ขอเชิญร่วมลงชื่อ petition ได้ที่ >> http://bit.ly/2CX0iEJ









กำลังโหลดความคิดเห็น