xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

พาราควอต กับ เสียงกรีดร้องจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา (Konzentrationslager Auschwitz-Birkenau) ในปี 2018

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


จากสถิติที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกว่าปีละ 700,000 คนเดินลอดอักษรบนเหล็กดัดเหนือประตูที่จารึกไว้ว่า “การทำงานนำมาซึ่งอิสรภาพ” (Arbeit macht frei) (ภาพที่ 1) ซึ่งกลายเป็นไอคอนของค่ายกักกันนรกเอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา ซึ่งหนังสือไกด์บุ๊คโปแลนด์เกือบทุกเล่มต้องนำภาพไปประกอบเรื่องราวความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนับล้านคน

ผมได้มีโอกาสมาเยือน เอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา เป็นครั้งแรกเนื่องจากค่ายกักกันแห่งนี้อยู่ห่างจาก สถานที่จัดการประชุมวิชาการ Dioxin2018 เพียงแค่ 70 กิโลเมตรเท่านั้น ความบังเอิญที่กลายเป็นตลกร้ายคือ นักวิชาการระดับหัวกะทิจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่เมือง คราคูฟ (Kraków) ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2561 เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ สารอินทรีย์ย่อยสลายยาก หรือสาร POPs (Persistent Organic Pollutants) โดยอนุสัญญากรุงสต็อกโฮล์มได้กำหนดขึ้นมี 12 ชนิดได้แก่ อัลดริน (aldrin) คลอเดน (chlordane) ดิลดริน (dieldrin) เอนดริน (endrin) เฮปตะคลอร์ (heptachlor) เอชซีบี (hexachlorobenzene) ไมเร็กซ์ (mirex) ท็อกซาฟีน (toxaphene) พีซีบี (Poly chlorinated Biphenyls: PCBs) ดีดีที (DDT) ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-p-dioxins: PCDDs) และฟิวแรน (Polychlorinated dibenzofurans: PCDFs) นอกจากนี้ยังมีสารพิษน้องใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลกนั่นคือ สารกลุ่ม PFOS (Perfluorooctane Sulfonate) ซึ่งมีสมบัติเด่นตรงไม่ชอบน้ำ ไม่ชอบไขมัน มีแรงตึงผิวต่ำ ไม่ทำปฏิกิริยากับแสง UV และมีความทนทานต่อความร้อนและความเป็นกรดด่างได้ดี จึงมักถูกนำมาใช้เป็นสารเคมีในน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันไฮดรอลิกสำหรับยานยนต์ น้ำยาดับเพลิง งานชุบผิวโลหะ อุตสาหกรรมการถ่ายภาพและชิ้นส่วนจอ LCD เป็นต้น สาเหตุหลักที่นักวิจัยทั่วโลกสนใจเนื่องจากสารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ในการก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และบางชนิดมีผลต่อการกลายพันธุ์ ร่วมทั้งเป็นพิษต่อตับ

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจว่า สารพิษที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์บางประเภทถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดจริยธรรม เช่นกองทัพนาซีได้ใช้ ซือโคลน เบ (Zyklon B, หรือ ไซโคลน บี) ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของยาฆ่าแมลงที่มีไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบสังหารชาวยิวนับล้านคนในห้องรมควัน (ภาพที่ 2) ยังไม่นับรวมถึงการที่ทหารจีไอได้ใช้ฝนเหลือง (Agent Orange) หรือสารฆ่าวัชพืชภายใต้ปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ (Operation Ranch Hand) ในสงครามเวียดนามระหว่างปี พ.ศ. 2504-2514 ส่งผลให้มีสาร 2,3,7,8-เตตระคลอโรไดเบนโซไดออกซิน (TCDD) ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มสารไดออกซินที่มีความเป็นพิษสูงสุดตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมในระดับที่สูงเกินค่ามาตรฐานสากลหลายร้อยเท่า เด็กเวียดนามจำนวนมากจึงเกิดมาพิกลพิการพร้อมกับรูปร่างที่ผิดปกติเนื่องจาก TCDD เป็นสารก่อการกลายพันธุ์ที่มีความเป็นพิษสูง ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ที่ลัทธิโอมชินริเคียวได้ก่อวินาศกรรมโจมตีรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียวเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยใช้ก๊าซซาริน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 12 คนและบาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวสารเคมีจึงเปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมที่พร้อมจะเอื้อประโยชน์และทิ่มแทงผู้ใช้ได้ตลอดหากขาดความระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับ “พาราควอต” หรือ สารกำจัดวัชพืช แม้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น อ้อย ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง และ ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากช่วยลดขั้นตอนในการกำจัดวัชพืช เท่ากับเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร เช่นธุรกิจการทำไร่อ้อยซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ พาราควอต สามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในสภาพอากาศที่ฝนตกชุก เปรียบเสมือเป็น “ยาสามัญประจำไร่” ที่เกษตรกรให้ความไว้วางใจมาโดยตลอด

ประเด็นที่น่าขบคิดเป็นอย่างยิ่งคือ เหรียญมีสองด้าน ลูกเต๋ามีหกด้าน แล้ว พาราควอต มีแต่เพียงด้านดีแค่ด้านเดียวเท่านั้นจริงหรือ? สิ่งที่นักวิชาการต้องร่วมกันถกเถียงอย่างจริงจังคือ

1.ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านซึ่งกลุ่มนักวิชาการที่สนับสนุนให้มีการใช้ พาราควอต ต่อไปนั้นได้มีการนำเอาค่ารักษาพยาบาล เกษตรกร ที่มีความเสี่ยงในการรับเอา พาราควอต เข้าไปในร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม คำนวณเข้าไปด้วยหรือไม่? องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตขั้นต่ำจากยาฆ่าแมลงตกปีละ 3 แสนคน [1] แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นมีเกษตรกรที่เสียชีวิตจากการใช้ยาฆ่าแมลงตกปีละหนึ่งพันคน [2] โจทย์วิจัยสำหรับประเทศไทยคือ แล้วในกรณีของ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มีงานวิจัยที่ประเมินจำนวนผู้ที่ต้องป่วยหรือเสียชีวิตจากสารกำจัดวัชพืชทั้งสามชนิดนี้แล้วหรือยัง? เช่นในอดีตที่ผ่านมามีงานวิจัยได้ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พาราควอต กับ โรคพาร์กินสัน ในต่างประเทศหลายชิ้น [3-5] และเมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ดังกล่าวการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีต่อทรัพยากรมนุษย์คิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ (ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่คิดว่า ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขได้) แล้วเมื่อนำมาบวกลบคูณหารแล้ว ประเทศชาติได้กำไร เท่าทุน หรือขาดทุน?

2.จริงหรือไม่ที่สาร พาราควอต จะตกค้างอยู่เฉพาะหน้าดิน โดยไม่ซึมลงไปในน้ำบาดาลหรือแพร่กระจายเข้าสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ? โดยสามัญสำนึกของนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตอบได้ทันทีเลยว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะแม้แต่สาร POPs ที่ไม่ชอบน้ำเมื่อจับตัวกับกรดฮิวมิก (Humic Acid) ซึ่งมีสมบัติคล้ายสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) จะช่วยให้ความสามารถในการละลายน้ำของ พาราควอต เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคนิคในการตรวจวัด พาราควอต ในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายชิ้น [6-8] คำถามที่น่าคิดคือแล้วในบริบทของประเทศไทย ในแต่ละภูมิภาคที่มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าประเภทของดิน ความลาดชันของพื้นที่ ความเข้มของแสงแดด ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ ปัจจัยทางธรรมชาติเหล่านี้ส่งผลต่อลักษณะการกระจายตัวของ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

3.หากรัฐบาลไทยจะปวารณาตนเองเป็น “ครัวโลก” สิ่งที่ต้องถามกันต่อคือในยุค Thailand 4.0 เราจะเป็นครัวโลกที่ผลิตพืชผลทางการเกษตรที่อุดมไปด้วยสารพิษหรือปลอดสารพิษ? มีงานวิจัยในวารสารต่างประเทศหลายชิ้นได้บ่งชี้ถึงความเป็นได้ในการสะสมทางชีววิทยา (Bioaccumulation) ของ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต [9-12] ซึ่งท้ายสุดก็จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านกลไกการถ่ายทอดต่อตามลำดับขั้นการกิน (Biomagnification)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพนาซีได้ใช้วลีที่ว่า “การทำงานนำมาซึ่งอิสรภาพ” หลอกให้ความหวังเพื่อที่นักโทษชาวยิวในค่ายกักกันจะได้ทุ่มเทแรงงานกันเต็มที่โดยใช้ “อิสรภาพ” เป็นเหยื่อล่อ ทั้งที่จุดหมายปลายทางของนักโทษชาวยิวทุกคนไม่ช้าก็เร็วคือความตายในห้องรมแก๊สพิษ ไม่น่าเชื่อว่าในยุค 2018 แนวคิดนี้ยังคงใช้ได้ดีเพียงแต่ปรับเปลี่ยนวลีนิดหน่อยเป็น “การทำการเกษตรเคมีนำมาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน” ตอกย้ำกระแสทุนนิยมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกับความพึงพอใจของผู้บริหารบ้านเมืองที่ยึดติดความเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก โดยปราศจากการคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารกำจัดวัชพืช

เอกสารอ้างอิง :
[1] WHO (2004) The WHO recommended classification of pesticides by hazard and guidelines to classification: WHO. ISBN 92 4 154663 8. .
[2] Nagami H, Nishigaki Y, Matsushima S, Matsushita T, Asanuma S, Yajima N, Usuda M, Hirosawa M (2005) Hospital-based survey of pesticide poisoning in Japan, 1998–2002. Int J Occup Environ Health 11: 180–184.
[3] McCormack, A. L., Thiruchelvam, M., Manning-Bog, A. B., Thiffault, C., Langston, J. W., Cory-Slechta, D. A., & Di Monte, D. A. (2002). Environmental risk factors and Parkinson's disease: selective degeneration of nigral dopaminergic neurons caused by the herbicide paraquat. Neurobiology of disease, 10(2), 119-127.
[4] Tanner, C. M., Kamel, F., Ross, G. W., Hoppin, J. A., Goldman, S. M., Korell, M., ... & Comyns, K. (2011). Rotenone, paraquat, and Parkinson’s disease. Environmental health perspectives, 119(6), 866.
[5] Costello, S., Cockburn, M., Bronstein, J., Zhang, X., & Ritz, B. (2009). Parkinson's disease and residential exposure to maneb and paraquat from agricultural applications in the central valley of California. American journal of epidemiology, 169(8), 919-926.
[6] De Souza, D., & Machado, S. A. S. (2005). Electrochemical detection of the herbicide paraquat in natural water and citric fruit juices using microelectrodes. Analytica chimica acta, 546(1), 85-91.
[7] De Souza, D., Machado, S. A., & Pires, R. C. (2006). Multiple square wave voltammetry for analytical determination of paraquat in natural water, food, and beverages using microelectrodes. Talanta, 69(5), 1200-1207.
[8] Wang, Y. S., Yen, J. H., Hsieh, Y. N., & Chen, Y. L. (1994). Dissipation of 2, 4-D glyphosate and paraquat in river water. Water, air, and soil pollution, 72(1-4), 1-7.
[9] Wiegand, C., Pehkonen, S., Akkanen, J., Penttinen, O. P., & Kukkonen, J. V. (2007). Bioaccumulation of paraquat by Lumbriculus variegatus in the presence of dissolved natural organic matter and impact on energy costs, biotransformation and antioxidative enzymes. Chemosphere, 66(3), 558-566.
[10] Varo, I., Serrano, R., Pitarch, E., Amat, F., Lopez, F. J., & Navarro, J. C. (2002). Bioaccumulation of chlorpyrifos through an experimental food chain: study of protein HSP70 as biomarker of sublethal stress in fish. Archives of environmental contamination and toxicology, 42(2), 229-235.
[11] Jantunen, A. P. K., Tuikka, A., Akkanen, J., & Kukkonen, J. V. K. (2008). Bioaccumulation of atrazine and chlorpyrifos to Lumbriculus variegatus from lake sediments. Ecotoxicology and Environmental Safety, 71(3), 860-868.
[12] Contardo-Jara, V., Klingelmann, E., & Wiegand, C. (2009). Bioaccumulation of glyphosate and its formulation Roundup Ultra in Lumbriculus variegatus and its effects on biotransformation and antioxidant enzymes. Environmental Pollution, 157(1), 57-63.



กำลังโหลดความคิดเห็น