xs
xsm
sm
md
lg

ยิวแห่งกัลกัตตา

เผยแพร่:   โดย: ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
คณะนิเทศศาสตร์ และศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ในฐานะที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทอีสต์อินเดียคอมปานีและอดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิอังกฤษในตะวันออกไกล กัลกัตตา (ปัจจุบัน -โกลกาตา) จึงเป็นศูนย์กลางของการค้า การปกครองและศิลปวัฒนธรรมที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในหมู่ผู้คนหลากเชื้อชาติและศาสนาที่เรียกกัลกัตตาว่า “บ้าน” นั้น ก็มีชุมชนของผู้ที่นับถือศาสนายูดายหรือที่เราเรียกกันว่า “ชาวยิว” รวมอยู่ด้วย

คนส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่า ในอินเดียนั้นมีชาวยิวอาศัยอยู่มาแต่ครั้งโบราณ ชุมชนชาวยิวที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียนั้นอยู่ที่เมืองโคชิน (ปัจจุบัน - โกจี) ในรัฐเกราละทางชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าของชุมชนเล่าว่า ชาวยิวกลุ่มแรก ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในโคชินนั้นเป็นกลุ่มพ่อค้าเครื่องเทศที่เดินทางค้าขายไปมาระหว่างยูเดีย (ปัจจุบัน - อิสราเอล) และตะวันออกไกล โดยอพยพเข้ามาตั้งรกรากในช่วงประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จากนั้น ชาวยิวกลุ่มที่สอง ก็ได้ย้ายถิ่นตามเข้ามาในช่วงคริสตศักราชที่ ๗๐ หลังจากที่พระวิหารหลังที่ ๒ และนครเยรูซาเล็มถูกทำลายโดย

ชาวยิวทั้งสองกลุ่มนี้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในอินเดียมานานหลายร้อยปี โดยใช้ชีวิตผสมกลมกลืนไปกับคนท้องถิ่นจนแทบจะแยกไม่ออก ทั้งในด้านรูปร่างหน้าตาและการดำเนินชีวิตประจำวัน ความแตกต่างที่ชัดเจนก็เห็นจะเป็นการประกอบกิจทางศาสนาและการดำเนินชีวิตในครัวเรือนที่ยังยึดถือแนวทางตามพระคัมภีร์ทัลมุนด์อย่างเคร่งครัด
ครอบครัวยิวแห่งเมืองโกจีหรือโคชิน (ภาพจาก https://www.ynetnews.com/articles/0,7340,L-4970776,00.html)
ชาวยิวกลุ่มที่สาม นั้นเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่อพยพมาจากเมืองในตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งมาจากนครอาเลปโป้ในซีเรีย แต่ส่วนใหญ่จะมาจากนครแบกแดดที่เป็นเมืองหลวงของอิรักในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ชาวยิวกลุ่มนี้จึงมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “แบกดาดี้” หรือชาวแบกแดด โดยได้เข้ามาตั้งรกรากเพื่อประกอบธุรกิจตามเมืองท่าที่สำคัญตามชายฝั่งในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ อย่าง การาจี สุรัต บอมเบย์ (ปัจจุบัน – มุมไบ) มัทราส (ปัจจุบัน – เจนไน) กัลกัตตา ย่างกุ้ง สิงคโปร์ กรุงเทพฯ ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้

ชาวยิวกลุ่มที่สามนี้ มักจะไม่สุงสิงกับชาวยิวสองกลุ่มแรกเพราะถือว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่ไม่บริสุทธิ์ แต่จะคบค้าสมาคมเป็นมิตรกับคนพื้นถิ่น จนมีคำกล่าวว่า “ยิวในอินเดียนั้นเป็นมิตรกับทุกคน แต่จะเป็นอริกับยิวด้วยกันเอง” ชาวกลุ่มที่สามนี้จะเป็นกลุ่มมีอิทธิพลอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมในอินเดียและเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอาณานิคม

ตระกูลชาวยิวอินเดียจากตะวันออกกลางที่สำคัญ ก็อย่างเช่น ตระกูลซาสซูน (Sassoon) ที่ก่อตั้งธนาคารแห่งอินเดียและเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนามุมไบให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอินเดีย และ ตระกูลเอซร่า (Ezra) ที่ผูกขาดการค้าฝิ่นในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ ตระกูลคาดูรี (Kadoorie) ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงแรมในเครือเพนนินซูล่า นอกจากที่จะมีบทบาททางเศรษฐกิจแล้ว ตระกูลชาวยิวอินเดียจากตะวันออกกลางเหล่านี้ก็ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสังคมในอินเดียในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ โรงพยาบาล สถานศึกษา พิพิธภัณฑ์ หอแสดงศิลปะ สวนหย่อมและอาคารสาธารณะทั่วอินเดียและเอเชียใต้

อานิช กาปูร์ (Anish Kapoor) ศิลปินร่วมสมัยระดับนานาชาติชาวอินเดียเองก็สืบเชื้อสายจากชาวยิวในตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน

วิถีชีวิตยิวในกัลกัตตา

ตามหลักฐานที่ปรากฎ ชาวยิวจากตะวันออกกลางคนแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในกัลกัตตาในปี ค.ศ. ๑๗๙๘ นั้นมีชื่อว่า ชาลอม โคเฮน ช่างทองและพ่อค้าพลอยจากอาเลปโป้ หลังจากนั้นไม่นาน จำนวนชาวยิวจากตะวันออกกลางในกัลกัตตาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประมาณกันว่า ประชากรชาวยิวในกัลกัตตาอาจมีจำนวนนับหมื่นคนในช่วงก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงเหลือ ๗๐๐ คนในปี ค.ศ.๑๙๖๙ และ ประมาณเพียง ๓๐ คนในปี ค.ศ. ๒๐๑๗

ในขณะที่ชาวยิวในมุมไบและการาจีนั้นจะเป็นนักธุรกิจที่สร้างอาณาจักรทางการค้าการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ชาวยิวในกัลกัตตาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นช่างฝีมือและปัญญาชน กิจการของชาวยิวในกัลกัตตาโดยส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่กิจการที่ต้องการทักษะพิเศษอย่างเช่นการเจียระไนเพชรพลอย งานเครื่องทองและเครื่องประดับ ตลอดจนงานวิศวกรรมที่ต้องอาศัยความละเอียดอย่างนาฬิกา ส่งผลให้ครั้งหนึ่ง กัลกัตตาคือจุดหมายของการจับจ่ายเครื่องประดับและสินค้าฟุ่มเฟือยที่สำคัญในตะวันออกไกล

พระมหาวิเชียรมณี เพชรที่ประดับอยู่บนยอดพระมหาพิชัยมกุฎ เครื่องราชกกุฎภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มาจากพ่อค้าเพชรในกัลกัตตา ซึ่งก็น่าที่จะเป็นพ่อค้าชาวยิวแห่งกัลกัตตา

นอกจากนี้แล้ว ชาวยิวในกัลกัตตาก็ยังประสบความสำเร็จในด้านสินค้าและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชาที่มีแหล่งผลิตสำคัญในดาร์จีลิ่งและอัสสัม ตลอดจนเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปปอกระเจา (jute) ที่ตั้งอยู่เรียงรายตามชายฝั่งแม่น้ำฮูกลี่ วิถีชีวิตของชาวยิวในกัลกัตตาจึงค่อนข้างที่จะเนิบช้ากว่าชาวยิวในการาจีหรือมุมไบที่ต้องวิ่งตามการเคลื่อนไหวของการค้าและการเงินตลอดเวลา ในหนังสือ Turning Back the pages: A Chronicle of Calcutta Jewry เอสมอนด์ เดวิด เอซร่า จึงบรรยายถึงการดำเนินชีวิตประจันของชุมชนยิวในกัลกัตตาว่า เต็มไปด้วยการพบปะสังสรรค์ ดนตรี การเต้นรำ งานเลี้ยงและการพนัน บ้านของชาวยิวในกัลกัตตาทุกบ้านนั้นเปิดกว้างสำหรับการต้อนรับผู้มาเยือนและบทสนทนาตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกในว่า ชุมชนชาวยิวแห่งกัลกัตตาก็ยังได้ผลิตศิลปิน นักคิด นักเขียนจำนวนหนึ่งให้กับอินเดียและโลก

ดารานักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อินเดียในยุคบุกเบิกนั้นส่วนใหญ่ก็จะมีเชื้อสายยิวจากตะวันออกกลาง ทั้งนี้อาจด้วยรูปลักษณ์ที่กระเดียดไปทางฝรั่งผิวขาวและการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่าชาวอินเดียเชื้อสายอื่น ที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น สุโลชนา หรือ รูบี้ ไมเยอร์ ฟิโรซา เบกุม หรือ ซูซาน โซโลมอน ราโมลา เทวี หรือ ราเชล โคเฮน และ อราตี เทวี หรือ ราเชล โซเฟร์ ดารายอดนิยมยุคหนังเงียบ นอกจากนี้แล้วก็ยังมี นาทิรา หรือ ฟลอเรนซ์ เอซีคีล และ ปรามิล่า หรือ เอสเธอร์ วิคตอเรีย อับราฮัม ดารายอดนิยมในวงการภาพยนตร์ฮินดียุค ๑๙๓๐ และ ๑๙๔๐ ด้วย ความงามและความนิยมในตัวปรามิล่า ณ ขณะนั้น ทำให้เธอเป็นสัญลักษณ์ของอินเดียภายหลังได้รับเอกราช และได้รับเลือกให้เป็นนางงามอินเดียคนแรกในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ เมื่อตอนอายุ ๓๑ ปีและมีบุตรคนแรกแล้ว
(จากซ้าย) สุโลชนา ปรามิล่า และ นาทิรา นักแสดงหญิงชาวอินเดียเชื้อสายยิวจากตะวันออกกลาง (ภาพจาก Wikimedia Common)
เอซร่า มีร์ หรือ เอ็ดวิน ไมเยอร์ เริ่มต้นด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีในกัลกัตตา ก่อนที่จะย้ายไปทำงานในวงการภาพยนตร์ที่มหานครนิวยอร์คในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๐ ภายหลังจากที่เดินทางกลับมายังอินเดีย เขาก็ได้บุกเบิกวงการภาพยนตร์เสียงภาษาฮินดี โดยทำหน้าที่ทั้งเป็นนักเขียน ผู้กำกับและนักตัดต่อ ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาคือ Nur-Jehan ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ หลังจากนั้น เอซร่า มีร์กำกับภาพยนตร์ ภาษาฮินดีขนาดยาวมาอีกกว่าร้อยเรื่อง ก่อนที่จะหันมาบุกเบิกการสร้างภาพยนตร์สารคดีจนมีชื่อเสียง เอซร่า มีร์เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการภาพยนตร์แห่งอินเดียคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอินเดีย
เอซร่า มีร์ หรือ เอ็ดวิน ไมเยอร์ (ภาพจากนิตยสาร Film India ราวปี ค.ศ.๑๙๔๐)

Changing Face of India ภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดยเอซร่า มีร์ในปี ค.ศ. ๑๙๔๑


กอฮาร์ จาน หรือ แองเจลิน่า ยิววาร์ด เป็นนักดนตรีหญิงคนแรกของอินเดียที่ได้รับการบันทึกเสียงลงแผ่นครั่ง แผ่นบันทึกเสียงจำนวนมากกว่า ๖๐๐ แผ่นที่เธอบันทึกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ถึง ๑๙๒๙ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดนตรีอินเดียแบบภาคเหนือ หรือดนตรีทางฮินดูสถาน (ดนตรีแบบทางภาคใต้นั้นจะเรียกว่าดนตรีทางกรณาฎกะ) เป็นที่นิยมทั่วทั้งอินเดียและแพร่หลายไปในโลกตะวันตก


คลิปบันทึกเสียงของกอฮาร์ จาน เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๕


แจ๊ค ฟาราซ ราฟาเอล ยาขอป หรือ เจ เอฟ อาร์ ยาขอบ เป็นผู้บังคับบัญชากองพลภาคตะวันออกแห่งกองทัพอินเดียที่มีบทบาทสำคัญในสงครามอินเดีย-ปากีสถานในปี ค.ศ. ๑๙๗๑ อันเป็นจุดกำเนิดของสาธารณรัฐบังกลาเทศ ภายหลังจากที่ลาออกจากกองทัพ เจ เอฟ อาร์ ยาขอบได้เข้ามาเล่นการเมืองและได้รับเลือกให้เป็นมุขมนตรีของรัฐโกอาและรัฐปัญจาบตามลำดับ
เจ เอฟ อาร์ ยาขอบ จากคอลัมน์ไว้อาลัยในหนังสือพิมพ์  The Daily Star ของบังกลาเทศ (https://www.thedailystar.net/frontpage/goodbye-dear-old-friend-bangladesh-201685)
นอกเหนือจากรายชื่อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีชาวกัลกัตตาเชื้อสายยิวอีกจำนวนมาที่สร้างชื่อเสียงในวงการการศึกษา ศิลปะและวิทยาศาสตร์ ทั้งในอินเดียและในต่างประเทศ ภายหลังจากการแบ่งแยกประเทศอินเดียและปากีสถานในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ ชาวยิวจำนวนมากเริ่มไม่แน่ใจในสถานภาพของตนเองและได้อพยพย้ายถิ่นไปอาศัยในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล จนในปัจจุบันจำนวนประชากรเชาวอิยเดียเชื้อสายยิวนั้นลดลงมาก โดยกลุ่มที่ยังคงอาศัยอยู่ในอินเดียก็พยายามต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อให้รัฐบาลอินเดียยอมรับชาวอินเดียเชื้อสายยิวเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในประเทศ และให้ได้รับสิทธิพิเศษเหมือนกับชาติพันธุ์กลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ

วัดยิวในกัลกัตตา
ครอบครัวชาวยิวในกัลกัตตาช่วงรอบต่อระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐และ ค.ศ.๑๙๐๐ (ภาพจาก  Wikimedia Common)
จนกระทั่งถึงราวปี ค.ศ. ๑๙๐๐ ชาวอินเดียเชื้อสายยิวจากตะวันออกกลางยังคงรักษาวัฒนธรรมของถิ่นกำเนิดไว้อย่างเคร่งครัด หากเราดูภาพถ่ายเก่าๆ เราก็จะเห็นชาวยิวแห่งกัลกัตตานุ่งห่มเครื่องแต่งกายแบบอาหรับ ซีเรีย หรือตุรกีกันในวิถีชีวิตประจำวัน หลังจากนั้น ชาวยิวแห่งกัลกัตตาก็หันมาใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกเช่นชาวกัลกัตตากลุ่มอื่นๆ มากขึ้น จนกระทั่งยากที่จะแยกแยะชาวยิวจากคนกลุ่มอื่นๆ สิ่งที่ชาวยิวแห่งกัลกัตตายังคงธำรงไว้อย่างเคร่งครัดก็คือการดำเนินชีวิตตามที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์กับการประกอบศาสนกิจในวัดยิว หรือ ซีนาก็อก (Synagogue)
วัด Magen David Synagogue มองจากระเบียงชั้นสองของวัด Nevej Shalome (ภาพโดยผู้เขียน)
ในกัลกัตตามีวัดยิวถึง ๕ วัดด้วยกัน แต่ด้วยจำนวนประชากรชาวยิวที่เหลือเพียง ๓๐ คน ทำให้มีวัดที่ยังคงใช้ประกอบศาสนกิจนั้นเหลืออยู่เพียง ๒ วัดเท่านั้น วัดที่เก่าแก่ที่สุดนั้นคือ The Old Synagogue ที่สร้างโดย ชาลอม เดวิด โคเฮน ในปัจจุบันนั้นถูกปิดตาย วัดที่ยังคงใช้ประกอบศาสนกิจอยู่ในปัจจุบันนั้นได้แก่วัด Magen David Synagogue และวัด Beth El Synagogue วัดอีกวัดหนึ่งที่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้ประกอบศาสนกิจแล้วและอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมได้ โดยสามารถเดินเข้าไปอนุญาตในโรงเรียน Jewish Girl School ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ หรือที่ร้านขนม นาฮูม (Nahoum’s) ใน New Market ก็คือวัด Neveh Shalome Synagogue ที่อาคารหลังเดิมนั้นสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๓๑ ก่อนที่จะถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างวัด Magen David ที่มีขนาดใหญ่และโอ่อ่าหรูหรากว่า อาคารหลังปัจจุบันนั้นสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ โดยศาสนิกชนที่ต้องการห้องสวดมนตร์และสถานที่ประกอบศาสนกิจแบบดั้งเดิมที่เรียบง่าย
ทางเข้าวัด Neveh Shalome Synagogue ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยร้านค้าและแผงลอย (ภาพโดยผู้เขียน)
ในวันที่ผู้เขียนเข้าไปที่วัด Neveh Shalome นั้นผู้เขียนบังเอิญเจอกับลุงแขกยามที่ถือกุญแจ ลุงแกก็เลยไขประตูให้เข้าไปข้างในได้ง่ายๆ วัดแห่งนี้มีวัตถุที่ใช้ประกอบศาสนกิจสะสมไว้จำนวนมาก หลายชิ้นมีอายุนับร้อยปี กระทั่งผู้เขียนอดใจหายไม่ได้ที่คุณลุงแกคะยั้นคะยอให้หยิบจับขึ้นมาดู ภายในห้องสวดมนตร์ของวัดเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมยิวในประเทศเขตร้อนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนระเบียงชั้นสองนั้นก็จะเป็นที่จัดแสดงรูปภาพและประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวยิวในกัลกัตตาที่หาชมได้ยาก สมควรที่ผู้มาเยือนกัลกัตตาน่าจะหาเวลามาแวะชมและเดินสำรวจชุมชนรอบๆ ที่มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนา
บรรยากาศภายในวัด Neveh Shalome Synagogue (ภาพโดยผู้เขียน)
อาหารยิวในกัลกัตตา

เช่นเดียวกับคนมุสลิม บัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าที่ชาวยิวทุกคนจะต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดก็คือการรับประทานอาหารที่พระผู้เป็นเจ้าอนุญาตและละเว้นจากการบริโภคของต้องห้าม ยกตัวอย่างเช่น การละเว้นจากการบริโภคเนื้อสุกร อีกทั้งจะต้องบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการฆ่าและชำแหละตามหลักศาสนาเท่านั้น นอกจากนี้แล้วยังมีข้อห้ามในการบริโภคเนื้อสัตว์ควบคู่กับน้ำนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากน้ำนม หรือการละเว้นจากการปรุงอาหารในวันเสาร์

แม้จะมีชาวยิวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจก็คือที่กัลกัตตานั้นไม่มีโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักศาสนายูดาย ด้วยเหตุนี้ อาหารยิวในกัลกัตตาจึงเน้นอาหารที่ปรุงจากปลา สัตว์ปีกและพืชผักเป็นสำคัญ โดยจะรับประทานเนื้อสัตว์สี่เท้ากันปีละครั้ง ในช่วงเทศกาล Rosh Hashana ที่จะมีคนชำแหละเนื้อที่ถูกต้องตามหลักศาสนาเดินทางมาจากมุมไบเท่านั้น อาหารของชาวยิวในกัลกัตตานั้นจะเป็นส่วนผสมของอาหารจากดินแดนต่างๆ ที่ชุมชนเคยตั้งถิ่นฐานมาก่อน ทั้งอาหารตะวันออกกลาง อาหารมหาราษฏระ อาหารเบงกาลี และอาหารจีน รสชาติจึงมีทั้งเปรี้ยวหวานผสมกับเผ็ดร้อนแรง น่าเสียดายที่อาหารยิวแบบกัลกัตตานั้นหารับประทานได้ยากมาก นอกจากที่จะได้รับเชิญไปที่บ้านของชาวยิวหรือลองทำเองจากสูตรอาหารที่พอจะหาได้อยู่

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เราจะได้ลิ้มรสขนมอบที่ทำโดยชาวยิวแห่งกัลกัตตานั้นยังมีอยู่ ร้านนาฮูมและบุตร (Nahoum and Sons) ที่ตลาดนิวมาร์เก็ต (New Market) นั้นเปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๒ เค้กผลไม้ที่อุดมไปด้วยผลไม้แห้งชุ่มช่ำด้วยเนยสดและขนมปังกระเทียมเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของร้านมานับร้อยปี นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบิสกิตนานาชนิด ขนมอบแบบต่างๆ และขนมปังแบบที่ไม่มีส่วนผสมของยีสต์ที่บริโภคกันในช่วงถือศีลอดวางจำหน่าย ถือเป็นของฝากจากกัลกัตตาที่คนทั่วประเทศคาดหวังที่จะได้รับ
คนขายของภายในร้านาฮูมและบุตร (ภาพโดยผู้เขียน)
ขนมอบนานาชนิดภายในร้านนาฮูมและบุตร (ภาพโดยผู้เขียน)
ยิวกลุ่มอื่นๆ ในอินเดีย

นอกเหนือจากชาวยิวทั้ง ๓ กลุ่มที่กล่าวถึงมาแล้ว ก็ยังปรากฏว่ามีชาวอินเดียเชื้อสายยิวกลุ่มอื่นๆ ที่แต่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวยิว เช่น กลุ่ม เบเน อิสราเอล (Bene Israel) ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบเมืองโกอาทางชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย กลุ่ม เบเน เอฟราอีม (Bene Ephraim) ที่พูดภาษาเตลูกูในอานธรประเทศ และกลุ่ม บไน เมนาเช่ (Bnei Menasche) ในรัฐมิโซรัมและรัฐมณีปุระทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

ชาวยิวทั้ง ๓ กลุ่มนี้ถูกค้นพบโดยหมอศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในอินเดีย ที่ต้องแปลกใจเมื่อพบว่าต่างก็มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อที่เหมือนชาวยิว อีกทั้งยังมีบทสวดมนตร์ที่ละม้ายกับบทสวดภาษาฮีบรูโบราณ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่าชาวยิวทั้ง ๓ กลุ่มนี้คือเผ่าพันธุ์อิสราเอลที่สาปสูญที่พลัดพรากจากดินแดนแห่งพันธะสัญญามาตั้งแต่สมัยของโมเสส แต่อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียเชื้อสายยิวทั้งสามกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากคณะสงฆ์ยิวว่าเป็นเชื้อสายยิวที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่า ผู้คนในอินเดียและเอเชียใต้นั้นมีความหลากหลายนัก การจะทำความรู้จักอินเดียและเอเชียใต้ให้ลึกซึ้งนั้นเราคงต้องมองข้ามภาพจำที่เราคุ้นชิน


กำลังโหลดความคิดเห็น