xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ปฏิรูปใหญ่สถาบันสงฆ์ เซ็ตซีโร่มหาเถรสมาคม

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปัจจุบันมีอายุกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว กฎหมายฉบับนี้กำหนดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ที่บังคับใช้มาถึงทุกวันนี้ โดยให้มหาเถรสมาคม หรือ มส.เป็นองค์กรปกครองสูงสุด กำกับดูแลกิจการของพระสงฆ์ทุกระดับชั้น

มส.มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน มีกรรมการที่เป็นพระสงฆ์สมณศักดิ์สูง 20 รูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่งคือ สมเด็จพระราชาคณะ 8 รูป และกรรมการแต่งตั้งที่เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป 12 รูป

โครงสร้างการปกครองแบบ มส.เป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ การแต่งตั้งเจ้าคณะปกครอง การให้คุณ ให้โทษแต่งตั้งสมณศักดิ์ขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เพียงไม่กี่รูป โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เป็นผู้ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม มส.ในฐานะเลขานุการ มส.

อาศัยศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเคารพใน “ผ้าเหลือง” ของคนไทยโดยทั่วไปที่นับถือศาสนาพุทธเป็นเกราะกำบัง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนาซึ่งนับวันรุนแรงมากขึ้นทุกที ตั้งแต่พฤติกรรมของพระสงฆ์ที่ผิดพระธรรมวินัย การเกิดขึ้นของลัทธิความเชื่อใหม่ๆ การเห็นแก่ลาภสักการะของพระชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชันทุกระดับ ที่ผ่านมา มีข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า มส.แก้ไม่ได้ ซ้ำร้ายยังเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง กรรมการ มส. 3 รูปถูกตั้งข้อหาทุจริตเงินทอนวัดจนถูกจับสึกถอดสมณศักดิ์

ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ให้ปฏิรูปวงการสงฆ์ แต่ก็เป็นข้อเสนอแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ให้พระแจ้งทรัพย์สิน ทำบัญชี ห้ามพระจับเงิน ด้วยความเชื่อว่า ทรัพย์สินเงินทองนี่แหละเป็นบ่อเกิดแห่งกิเลส ที่ทำให้พระสงฆ์ผู้ควรจะหมดแล้วซึ่งความอยากได้ ใคร่มี เต็มไปด้วยความโลภโมโทสันไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่าคนธรรมดาที่กินข้าววันละ 3 มื้อ อยู่บ้าน ไม่ได้อยู่วัด

ไม่มีใครกล้าเสนอให้ผ่าตัด เปลี่ยนแปลงมหาเถรสมาคมที่เป็นต้นเหตุแห่งเป็นผู้สร้างระบบอุปถัมภ์ เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน และกรรมการแต่ละรูป เป็นพระระดับสมเด็จ รองสมเด็จ เป็นที่เคารพนับถือ เกรงอกเกรงใจ แม้ว่ากรรมการ มส.ถึง 3 รูปจะถูกตั้งข้อหาทุจริตเงินทอนวัด ถูกถอดสมณศักดิ์ ถูกปลดจากการเป็นกรรมการ มส.แต่กรรมการ มส.ที่เหลืออยู่ ไม่เห็นจะมีปฏิกิริยาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือคนของ มส.เอง

การปฏิรูปใดๆ หากไม่มีการปฏิรูปสถาบัน คือ องค์กรที่กำกับดูแลดำเนินงาน ก็ยากที่การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ในยุค คสช.ที่คุยว่าจะปฏิรูปนั่น ปฏิรูปนี่หลายๆ เรื่องที่ไปไม่ถึงไหน เป็นแค่คำคุยโม้ ก็เพราะไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง องค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ

ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาเถรสมาคม จึงถือว่า เป็นก้าวแรกของการปฏิรูปใหญ่วงการสงฆ์ที่มาถูกทางแล้ว คือ การปฏิรูปเริ่มต้นที่ตัวสถาบัน คือ มหาเถรสมาคมที่ไม่เคยมีใครกล้าแตะต้อง

เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ได้ประกาศ การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติ ครม.วันที่ 4 เมษายน 2560 ประกอบกับมติครม.วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน โดยระบุสาเหตุที่ต้องแก้กฎหมายว่า

สภาพปัญหา มส.ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาลจึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล

จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของ มส.เสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ

หลักการใหม่ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการ มส.โดยตําแหน่ง ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการหลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร

ให้กรรมการ มส.ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการ มส.ขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้ จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561

การปฏิรูปใหญ่พระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นแล้ว ด้วยการปฏิรูปสถาบันสงฆ์เป็นลำดับแรก


กำลังโหลดความคิดเห็น