พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวขณะลงพื้นที่พบปะประชาชน จ.พิจิตร พร้อมทีมงานว่า ไม่ต้องการคะแนนเสียง แม้มีเสียงเดียวที่สนับสนุนก็จะทำให้ เพราะที่นี่คือประเทศไทยของคนไทย ทุกคนจะต้องเข้มแข็ง ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างยั่งยืน และไม่ต้องการให้รักนายกรัฐมนตรี แต่ขอให้รักประเทศชาติ
การพูดของพล.อ.ประยุทธ์ด้านหนึ่งคงต้องการประหวัดไปถึงคำพูดของทักษิณที่เคยพูดไว้ที่จังหวัดนครสวรรค์เมื่ออยู่ในอำนาจว่า จังหวัดไหนที่เลือกพรรคไทยรักไทยจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
อย่าลืมว่า ทักษิณพูดในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องการความนิยมจากประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์นั้นยึดอำนาจมาไม่ต้องการคะแนนนิยมอะไรนอกจากมีเป้าหมายในใจคือการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง
และเมื่อจับใจความได้ว่าในการลงพื้นที่ ครม.สัญจรทุกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์จะพูดเกือบทุกครั้งในท่วงทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้มาหาเสียง หากว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงเล่นการเมืองครั้งหน้าสิ่งที่พูดก็อาจจะถูก แต่ท่าทีที่แสดงออกในระยะหลังมันบ่งบอกว่า ก็คือการหาเสียงนั่นเอง เพราะตอนนี้เป็นที่คาดหมายกันแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีแน่ๆ
เพียงแต่ยังไม่กล้าพูดและยอมรับออกมาตรงๆ เท่านั้นเอง
ดังนั้นพูดได้ว่าการลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์ คือการหาคะแนนความนิยมไปพร้อมการใช้นโยบายประชารัฐต่างๆ เพื่อเอาใจประชาชนชั้นล่างซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ทุกพรรคกลับยังถูกคำสั่งที่ 53/2560ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกจากปลดล็อกให้ทำในเชิงธุรการได้เท่านั้น ทั้งที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้ว
หากว่าภายหลังปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ไปปรากฏตัวในรายชื่อที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเสนอชื่อในฐานะนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะเท่ากับว่า กำลังใช้อำนาจเอื้อให้เกิดความนิยมต่อตัวเอง ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นถูกมัดมือมัดเท้าไม่ให้เคลื่อนไหวในขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา
ทั้งๆ ที่ในระยะหลังรัฐบาลให้คำมั่นแบบตอกย้ำหลายครั้งแล้วว่า จะไม่เลื่อนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อีกแล้ว แม้คนทั่วไปและนักการเมืองจะไม่เชื่อว่าจะไม่เลื่อน หรือแม้บางคนถึงกับเชื่อว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้งในปีสองปีนี้ แต่เมื่อนั่นเป็นสัญญาณมาจากรัฐบาลเองเราก็ต้องยึดเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เอาไว้ก่อนว่าจะมีการเลือกตั้ง
ดังนั้นถ้าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็จะเหลือเวลาอีกน้อยมากนับจากนี้เพียง 7-8 เดือนเท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นเวลาที่กระชั้นมากที่ต้องเริ่มกันใหม่หมดด้วยกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่สำหรับพรรคการเมืองทุกพรรค ตั้งแต่การจัดตั้งสาขาพรรคหาตัวแทนสาขาพรรค หาสมาชิกในเขตเลือกตั้งที่จะลงสมัครให้ได้เกิน 100 คนเพื่อจะทำไพรมารีโหวตแล้วจึงส่งคนลงสมัครได้ ที่สำคัญกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับได้แก่ กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.ได้ประกาศใช้หมดแล้ว
ไม่รู้ว่าผมคิดผิดหรือไม่ว่า ความยื้อยุดมาจากตะกอนในใจของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือความพร้อมของพรรคที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ของผมจะผิดทันทีถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองหลังจากนี้
แต่ผมยังเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ต้องการไปต่อแน่ๆ ผมจึงเชื่อว่านี่อาจจะเป็นตะกอนในใจที่ทำให้ไม่ตัดสินใจให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายพูดว่าจะเชิญพรรคการเมืองมาหารือเรื่องคำสั่ง 53/2560 แต่ผมก็ยังไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะปลดล็อกง่ายๆ ตราบที่ยังไม่พร้อม
อย่าลืมว่า รัฐบาลนี้หรือ คสช.นั่นแหละที่เป็นคนกำหนดกติกาใหม่ แม้เราจะอ้างว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายลูกคือ กรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่จริงๆ ก็ต้องเดินไปตามธงของ คสช.นั่นแหละ เหมือนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกฉีกทิ้งน้ำไปเพราะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และยังมีกลไกต่างๆ ที่แฝงไว้เพื่อให้รัฐบาลนี้ได้สานงานต่อหลังจากเลือกตั้งจึงจะทำให้กลไกของประเทศเดินไปได้อย่างราบรื่น ทั้งเรื่อง ส.ว.ที่ตั้งมาเอง ทั้งแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้ให้รัฐบาลชุดหน้าต้องเดินตาม
กติกาก็ได้อย่างที่ต้องการแล้ว อำนาจตัดสินใจที่จะให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ก็อยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์เอง ถ้าหลังจากนี้ตัวพล.อ.ประยุทธ์ลงเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีต่อคือเข้ามาแข่งขันในระบบเลือกตั้งก็จะเป็นข้อครหาว่า เป็นความเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำของการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการความเท่าเทียมกัน ซึ่งน่าจะเป็นหลักหนึ่งของธรรมาภิบาลก็จะกลายเป็นจุดด่างของพล.อ.ประยุทธ์เอง
หากว่า การเลือกตั้งจะเดินตามโรดแมปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จริง เวลาที่อยู่ถือว่าน้อยมากสำหรับพรรคการเมือง ถ้าต้องทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ด้วยก็จะเป็นเวลาที่กระชั้นมาก แล้วอย่าลืมว่านี่เป็นของใหม่ที่คนไทยยังไม่เคยลองมาก่อน ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ได้ยินรองวิษณุพูดทำนองว่า พรรคการเมืองทำไปได้ก่อน แต่การเสนอตัวต้องหาเสียงเพื่อแข่งขันเป็นผู้สมัครในพรรคจะทำได้ไหม ถ้ายังมีคำสั่งที่ 53/2560 อยู่
ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วตอนนี้ผมไม่มีเหตุผลอะไรอีกที่จะอ้างไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเปิดให้มีการประชุมพรรคคัดสรรคนของพรรคทั้งกรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคที่จะเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้ง รวมไปถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อไปจัดลำดับในระบบไพรมารีโหวตซึ่งสมาชิกแต่ละพรรคควรจะรู้แล้วว่า 150 คน ในจำนวนบัญชีรายชื่อที่เขาต้องเลือก 15 คนเพื่อเรียงลำดับตามคะแนนนั้นมีใครบ้าง
อย่าลืมว่าหลังการเข้ามายึดอำนาจพล.อ.ประยุทธ์ได้ปรามาสนักการเมืองไว้มาก และเพิ่งมาเปลี่ยนน้ำเสียงเมื่อมีทีท่าว่าจะลงมาเล่นการเมืองเสียเอง ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องทำอย่างซื่อตรงสร้างความเป็นธรรมให้เกิดเป็นมาตรฐานที่ดีกว่านักการเมืองในอดีต เหมือนเนื้อเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทยที่เลิกร้องไปแล้วท่อนหนึ่งว่า “เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา”
ที่พูดกันมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งหากจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้ก็จะมีความสง่างามถ้าทำสำเร็จ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกครหาว่าสร้างกติกาและอำนวยวิถีทางเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่:Surawich Verawan