รองนายกฯ จ่อชง 4 ปัญหาเลือกตั้งให้นายกฯ - คสช. เคาะทางออก 3 ทางออก ไม่ฟันธง ก.พ. 62 มีเลือกตั้ง อ้างถ้ามีตัวแปรที่สมเหตุสมผล ด้าน ปธ.กกต. เผยผลหารือน่าพอใจ ไม่จำเป็นต้องถกเพิ่ม
วันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำประชุมร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย กกต. 3 ท่าน คือ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายประวิช รัตนเพียร รวมถึง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต. ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่ง นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ เข้าร่วมหารือ และมีตัวแทนจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
จากนั้นเวลา 18.30 น. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์สั้นๆภายหลังการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ว่า ผลการหารือวันนี้เป็นที่น่าพอใจ ในที่ประชุมต้องการให้ทุกพรรคการเมืองทำงานได้ ซึ่งหลังจากนี้ไม่จำเป็นต้องหารือในรายละเอียดกันอีก
ต่อมาเวลา 18.30 น. นายวิษณุ เปิดเผยภายหลังประชุม ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป 4 ข้อที่จะเสนอ คสช. และนายกฯ พิจารณาในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1. จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ 2. คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหายขั้นตอนคือการประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ 3. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน และ 4. การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับ กกต. ชุดใหม่ พร้อมกับเสนอ 3 ทางออกคือ พ.ร.ก. พ.ร.บ. และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด คลายล็อกแต่ไม่ใช่ปลดล็อก เพราะหากปลดล็อกไปทั้งหมดก็จะสดุดบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม หากจะใช้ พ.ร.ก. เพื่อแบ่งเขตโดยเฉพาะไม่สามารถได้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ก็สามารถออกเป็นพ.ร.ก.โดยพ่วงเรื่องการแบ่งเขตเข้าไปได้
นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการที่ให้พรรคหาสมาชิกจะคลายล็อกไม่ใช่ปลดล็อกให้หาสมาชิกได้ แต่ถ้าคลายล็อกแล้วพรรคการเมืองหาสมาชิกไม่ได้ ก็ช่วยไม่ได้
เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นใน ก.พ. 62 นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าพูด เป็นความคาดหมายที่บริหารจัดการได้ หากมีตัวแปรบางอย่างที่สมเหตุ สมผล สมจริง ก็บวกลบกันบ้าง แต่ต้องอธิบายได้
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับเรื่องไพรมารีโหวต ถ้าต้องมีตามเดิมจะมีปัญหาอะไร และแก้ไขอย่างไรและถ้าไม่มีต้องทำอะไรบ้าง