xs
xsm
sm
md
lg

อัมเบดการ์ : ผู้แสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในอินเดีย (ตอนที่ 4)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ


นับตั้งแต่อัมเบดการ์กลับจากลอนดอนในเดือนเมษายน ปี 1923 และหลังจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอนได้อนุมัติให้อัมเบดการ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว เขาก็เริ่มทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพของตนและครอบครัว พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับระบบวรรณะอย่างจริงจังมาโดยตลอด น่าสังเกตด้วยว่า อัมเบดการ์เป็นบุคคลที่มีลักษณะพิเศษในแง่ที่ว่า เขาได้สำแดงให้เห็นมาโดยตลอดว่าความรู้ทางวิชาการที่เขาได้รับและพัฒนาทั้งในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ นั้น แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมดกับโลกแห่งความเป็นจริง

ในด้านเศรษฐกิจ ในปี 1926 อัมเบดการ์ได้ให้การต่อคณะกรรมการเงินตราและการเงินของรัฐบาล พร้อมกับตีพิมพ์อนุสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างเงินรูปีกับเงินปอนด์ สารัตถะสำคัญของอนุสารวิเคราะห์ผลกระทบของการลดค่าเงินที่มีต่อแต่ละชนชั้นในอินเดีย ดังนั้นแล้ว อัมเบดการ์จึงเสนอให้ค่าเงินรูปีอยู่ในระดับต่ำ กล่าวได้ว่า ความรู้ในเรื่องนี้ก็คือความรู้เศรษฐศาสตร์ชุดเดียวกับที่อัมเบดการ์ใช้เขียนดุษฎีนิพนธ์ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฯ นั่นเอง

ในด้านกฎหมาย แม้อัมเบดการ์จะศึกษาเนติบัณฑิตเพื่อประกอบอาชีพดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว แต่ด้วยจิตใจเด็ดเดี่ยวที่จะเอาชนะความอยุติธรรมตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เขาเห็นนิติศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งความยุติธรรม ระหว่างปี 1925–1926 อัมเบดการ์ได้ทำคดีสำคัญ 2 คดี คดีแรกเกี่ยวกับการตีพิมพ์อนุสารฉบับหนึ่งโดยนักกิจกรรมสังคมนอกวรรณะ 4 คน อนุสารฉบับนี้มีเนื้อหาโจมตีนักชาตินิยมสุดโต่งสองคนโดยใช้สำนวนเชิงประณามและปลุกปั่นแต่เชิดชูมหาตมาคานธีเป็นทางออกในเชิงบวก ทั้งผู้จัดทำวารสารและคนอื่นที่ตกเป็นจำเลยเกี่ยวกับอนุสารแพ้คดีในศาลชั้นต้น อัมเบดการ์ต่อสู้จนจำเลยทั้งสองชนะในศาลอุทธรณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้พิพากษาชั้นต้นมีอคติ อีกคดีหนึ่งที่อัมเบดการ์ต่อสู้ให้คือ จำเลยที่เดินทางมาอินเดียเพื่อจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินเดีย และเขาก็ชนะคดีที่สองเช่นเดียวกัน

พหิษกฤตหิตการิณีสภาที่มีอัมเบดการ์เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการได้ริเริ่มกิจกรรมหลายกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ถูกกีดกันทางวรรณะ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาแห่งนี้มีหน้าที่รับฟังประเด็นปัญหาของผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว อัมเบดการ์จึงใช้เวลามากพอสมควรอ่านจดหมายร้องทุกข์ที่ทลิตโดยเฉพาะในแถบรัฐมหาราษฏร์ตะวันตกเขียนมาเล่าให้ฟัง นอกจากนี้อัมเบดการ์ยังใช้เวลาเพื่อให้นักศึกษา แรงงาน หรือชนชั้นนำที่มีการศึกษาสูงมาร่วมประชุมระดมสมองในการหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ที่ทลิตต้องแบกรับเพียงเพราะเกิดมาเป็นคนนอกวรรณะ การปฏิบัติของอัมเบดการ์ทั้งหมดเริ่มกลายเป็นความหวังของชาวทลิตจำนวนมากในแถบรัฐมหาราษฏร์

ในวันที่ 1 มกราคม ปี 1927 อัมเบดการ์ได้สร้างความประหลาดใจให้ชาวอินเดียโดยจัดประชุมรายปี ณ อนุสาวรีย์ชัยโกเรกาวน์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโกเรกาวน์ ประมาณ 30 กิโลเมตรจากเมืองปูนา (ปัจจุบันเรียกว่าปูเน) ในรัฐมหาราษฏร์ อังกฤษสถาปนาอนุสาวรีย์แห่งนี้เพื่อระลึกถึงนายทหารที่เสียชีวิตในการสู้รบกับอังกฤษที่เอาชนะกองกำลังของเปชวาหรือผู้นำคนสุดท้ายแห่งจักรวรรดิมราฐาชื่อบาจีราว ที่ 2 (1775–1851) ในสมรภูมิโกเรกาวน์เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1818 ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้มีป้ายจารึกรายนามนายทหารอินเดีย 49 คนด้วย ในจำนวนนี้มีชาวมหาร 22 คน เหตุที่อัมเบดการ์เลือกจัดประชุม ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ เพราะจุดมุ่งหมายหลักของเขาคือการต่อสู้กับระบบวรรณะ ฉะนั้นแล้ว อัมเบดการ์จึงต้องการต่อสู้กับชาตินิยมอินเดียที่มีศาสนาฮินดูเป็นแกนกลางที่ให้ความชอบธรรมแก่การคงอยู่ของระบบวรรณะ กล่าวอีกนัยคือ เขาต้องการให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะชาวทลิตที่ถูกกดขี่เข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่ กล่าวได้ว่า การจัดประชุมที่อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ของอัมเบดการ์ที่สำคัญยิ่ง
อัมเบดการ์ ณ อนุสาวรีย์ชัยโกเรกาวน์ ในวันที่ 1 มกราคม 1927 หลังจากนำพิธีระลึกถึงยุทธการโกเรกาวน์ (เครดิตภาพ: วิกิมีเดียคอมมอนส์)
หากจะขยายความเพิ่มเติมก็คือ ชัยชนะของอังกฤษนำโดยร้อยเอกฟรานซิส เฟรนช์ สตอนตัน (1779–1825) ดังที่หินจารึก ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ระบุว่า “ได้รับชัยชนะอันภาคภูมิที่สุดครั้งหนึ่งในหมู่กองทัพอังกฤษในตะวันออก” สำหรับทลิตอัมเบดการ์ที่เป็นชาวทลิตมหารแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้คือความพยายามครั้งสำคัญที่จะยุติการกดขี่ทางสังคมต่อผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะโดยรัฐ ในความเป็นจริงแล้ว สตอนตันมิได้ทำสงครามเพื่อยุติการกดขี่ทางวรรณะ ดังที่ผู้อ่านจำนวนหนึ่งคงทราบแล้วว่า บริษัทอีสท์อินเดียได้เริ่มครองอำนาจในอินเดียฝั่งตะวันออกและฝั่งเหนือดังปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปี 1757 ในสงครามพลาสซีย์ การทำสงครามโกเรกาวน์จึงหาใช่อื่นใดไม่ นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการขยายเขตการครองอำนาจของบริษัทอีสท์อินเดียมาทางฝั่งตะวันตกของอินเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การที่อัมเบดการ์เลือกสมรภูมิโกเรกาวน์เป็นสถานที่อันผูกกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญในการยุติการกดขี่ทางวรรณะก็ใช่ว่าจะปราศจากเหตุผลที่ดี กลุ่มเปชวาที่ถูกพิชิตโดยสตอนตันก็มีประวัติไม่ดีในการกดขี่ทางวรรณะโดยเฉพาะกับคนวรรณะล่างและผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว เช่น หากบุคคลวรรณะล่างก่ออาชญากรรม จะได้รับโทษหนักกว่าบุคคลวรรณะสูงที่ก่ออาชญากรรมชนิดเดียวกัน

อัมเบดการ์ไม่ประสงค์จะให้ผู้คนยึดอยู่กับหลักชาตินิยมผิวเผินอันประกอบด้วยความจริงบางประการเท่านั้น เขาต้องการให้เน้นหลักความเสมอภาค ศักดิ์ศรีในความเป็นคน และความยุติธรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นชุดคุณค่าสากลที่เป็นจริง เมื่อผู้คนตระหนักรับรู้ถึงชุดคุณค่าสากลเหล่านี้แล้ว เมื่อนั้นแหละที่ชาตินิยมจะมีความแม่นยำและมีพลังมากกว่า ในทรรศนะของอัมเบดการ์ ชาตินิยมที่อิงอยู่กับความจริงที่ครบถ้วนจะผนวกไว้ด้วยซึ่งผู้คนที่ถูกเพิกเฉยแต่ประกอบเป็นชาติ เช่นเดียวกับวิถีคิดของโชติราว ฟูเล ศูทรที่ต่อต้านวรรณะก่อนอัมเบดการ์จะเกิด อัมเบดการ์เชื่อว่า ตราบใดที่ยังมีการแบ่งวรรณะอยู่ อินเดียก็ยังหาใช่ประเทศไม่ ดังที่เขาเคยถามอย่างตรงไปตรงมาว่า “ประชาชนที่ถูกแบ่งออกเป็นวรรณะนับพันจะถือเป็นชาติได้อย่างไร”

การให้ความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวทลิตไม่น้อยเลยทีเดียว ทลิตทั้ง 4 คน ที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ในปีนี้ให้ความเห็นตรงกันว่า ที่ทลิตจำนวนมากมารวมตัวกัน ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ทุกวันที่ 1 มกราคม พวกเขามิได้มาเพื่อฉลองชัยชนะของอังกฤษ หากแต่มาแสวงหาแรงบันดาลใจจากผู้นำอัมเบดการ์ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อต้องการตอกย้ำในการต่อสู้กับการกีดกันทางวรรณะ ซึ่งเป็นความเห็นที่คล้ายกับของประกาศ อัมเบดการ์ หลานชายของอัมเบดการ์ ที่กล่าวต่อนิตยสารฉบับหนึ่งว่า ทลิตมิได้รู้สึกอะไรกับชัยชนะของอังกฤษ พวกเขามองชัยชนะโกเรกาวน์เป็น “ขบวนการปลดแอกสังคมจากอคติทางวรรณะ”

ผู้อ่านบางคนคงจะจินตนาการต่อได้ด้วยว่า การกระทำของอัมเบดการ์ในเรื่องนี้ซึ่งสืบเนื่องมาตราบจนทุกวันนี้นั้น น่าจะทำให้ชาวฮินดูชาตินิยมรู้สึกโกรธเคืองเพียงใด ในวันที่ 1 มกราคมปีนี้ การชุมนุมของชาวทลิต ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปกติเพราะเป็นวาระครบรอบสองศตวรรษแห่งสมรภูมิโกเรกาวน์ ทลิตจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรม แต่แล้วก็ไม่อาจทำได้เพราะกลุ่มฮินดูสุดโต่งประมาณ 1,000 คนได้บุกโจมตีทลิตที่มาชุมนุมอย่างสันติ ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกไม่น้อย

นอกจากเรื่องการตีความทางประวัติศาสตร์แล้ว อัมเบดการ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพหิษกฤตหิตการิณีสภาทราบดีด้วยว่า ประเด็นปัญหาสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวต้องประสบความทุกข์ยากมากเป็นพิเศษคือสิทธิในการใช้น้ำ แม้ว่าน้ำจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์ทุกชนชั้นวรรณะ แต่ผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวในบางพื้นที่ของอินเดียมิอาจใช้น้ำสาธารณะได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้มีวรรณะสูงบางกลุ่มมองว่า หากทลิตที่แปดเปื้อนมาใช้น้ำ ย่อมจะทำให้น้ำนั้นแปดเปื้อนด้วย

มหัท เมืองเล็ก ๆ ในโกงกัณ รัฐมหาราษฏร์ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทลิตห้ามใช้น้ำจากแท็งก์น้ำสาธารณะชาวาดาร์ ทั้งๆ ที่การห้ามทลิตใช้น้ำนั้นขัดกับมติของเทศบาล มหัทมีความสำคัญต่อทลิตไม่น้อยเลย เพราะนอกจากจะมีทลิตอพยพเข้าไปทำงานในโรงงานผลิตผ้าแล้ว ทลิตในเมืองนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายทลิตในบอมเบย์ด้วย อัมเบดการ์มองเห็นแล้วว่า ประเด็นปัญหาน้ำสำคัญยิ่งกว่าเรื่องอื่นใดในเวลานั้น เขาจึงคิดทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง อัมเบดการ์ทราบดีว่า ตนจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทลิตและกลุ่มวรรณะฮินดูหัวก้าวหน้าโดยเฉพาะจากพวกกายัสถะ หรือจันทรเสนียกายัสถประภู ซึ่งประกอบไปด้วยนักกิจกรรมสังคมคนสำคัญหลายคน

ในวันที่ 19 และ 20 มีนาคม ปี 1927 พหิษกฤตหิตการิณีสภาได้จัดการประชุม “โกลาบาซิลฮา พหิษกฤตปริษัท” หรือการประชุมประจำอำเภอโกลาบาของผู้ถูกบอยคอต ในวันที่สองของการประชุม จู่ๆ นักกิจกรรมสังคมชื่ออนันตราว จิเตร ก็เสนอให้ผู้ประชุมเดินไปที่แท็งก์น้ำและดื่มน้ำจากแท็งก์ดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,500 คนทำตามคำเสนอของจิเตร ข่าวชาวทลิตดื่มน้ำจากแท็งก์น้ำแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ชาวฮินดูที่มีวรรณะในละแวกนั้นรู้สึกโกรธเคืองมาก พวกเขาเกรงว่าชาวทลิตคงจะไปทำให้วัดของพวกตนแปดเปื้อนด้วย จึงตัดสินใจเข้าทำร้ายร่างกายผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวจำนวนมาก ตามด้วยการขับไล่ผู้คนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการดื่มน้ำจากแท็งก์ ท้ายที่สุดพราหมณ์ก็ได้จัดพิธีกรรมเพื่อให้น้ำบริสุทธิ์เหมือนเดิม

เหตุการณ์ดังกล่าวหรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า สัตยาเคราะห์มหัทนั้นมีผลในเชิงบวกไม่น้อยเลย ภายในเวลาสั้นๆ มหัทก็มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธมิได้ด้วยว่า สัตยาเคราะห์มหัทถือเป็นเหตุการณ์อันเลวร้ายด้วย เพราะการที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกทำร้ายร่างกายและขับออกจากพื้นที่หาใช่สิ่งพึงประสงค์ไม่ ประสบการณ์ดังกล่าวคงทำให้อัมเบดการ์เห็นข้อจำกัดของตน แม้เขาจะเคยสำแดงให้เห็นภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการจัดประชุมฝูงชนมาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้เขาคงเห็นแล้วว่า การต่อสู้บนท้องถนนมิใช่จุดแข็งของเขา ดังที่สุนิล คิลนานี นักประวัติศาสตร์อินเดียคนสำคัญกล่าวว่า “ประสบการณ์ [สัตยาเคราะห์มหัท] ทำให้เขา [อัมเบดการ์] เชื่อว่า การต่อสู้บนถนนจะประสบความสำเร็จน้อยกว่าการต่อสู้โดยใช้กฎหมาย” คิลนานีเสริมด้วยว่า การที่อัมเบดการ์ตระหนักถึงจุดอ่อนของตนในเรื่องนี้น่าจะเป็นโชคดีของอินเดียสมัยใหม่ คิลนานีน่าจะหมายความว่า หากอัมเบดการ์คิดจะใช้กลยุทธ์การต่อสู้แบบที่เคยทำที่มหัทต่อไปอีก คงต้องมีผู้คนล้มตายอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ภาวะผู้นำอันยิ่งใหญ่ของอัมเบดการ์มาจากการที่ตนตระหนักว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของตน เมื่อทราบดีแล้วว่าการจัดตั้งมวลชนมิใช่จุดแข็งของตน อัมเบดการ์จึงใช้เวลาประเมินตนก่อนจะประกาศการประชุมที่มหัทอีกครั้งในเดือนธันวาคมปี 1927 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้น้ำให้ทลิต พร้อมกันนี้อัมเบดการ์ได้จัดทำวารสารพหิษกฤตภารัต มีความยาวประมาณ 8–12 หน้า และเผยแพร่รายปักษ์ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว วารสารฉบับนี้มิได้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และหยุดตีพิมพ์ในปี 1929 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวารสารรายสัปดาห์ชื่อชนตา วารสารชนตาเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งในปี 1956 เป็นประพุทธภารตะหลังอัมเบดการ์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ อัมเบดการ์คือผู้อยู่เบื้องหลังเนื้อหาสาระทั้งหมดของพหิษกฤตภารัต เนื้อหาของวารสารบ่งบอกวัตถุประสงค์หลักสองประการ ประการแรกเพื่อการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของพหิษกฤตหิตการิณีสภา ส่วนวัตถุประสงค์ที่สองก็เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมอันเป็นผลมาจากระบบวรรณะ เช่น ในฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 1927 มีข้อความว่า “เราจำต้องพิจารณาว่าศาสนาฮินดูคือศาสนาของเราหรือไม่” นอกจากนี้ยังมีสารัตถะเกี่ยวกับประเด็นการเข้าวัดฮินดูของชาวทลิต และร่างกฎหมายมหารวตัน ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 1927 อัมเบดการ์ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งบอมเบย์ได้พยายามอย่างแข็งขันและอีกหลายครั้งต่อมาที่จะผลักดันร่างกฎหมายมหารวตัน ที่เอส.เค. โบล คนก่อนหน้าอัมเบดการ์เคยเสนอไว้ ร่างกฎหมายมหารวตันเป็นเรื่องราวของชาวทลิตมหารที่โดยประเพณีแล้ว มหารที่มีหน้าที่รับใช้หมู่บ้านนั้น จะได้รับที่ดินแปลงเล็กๆ ตอบแทน สิ่งที่อังกฤษทำคือ หาประโยชน์จากระบบดังกล่าว โดยเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ หรือให้มหารทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับราชการ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีเจตนาปลดเปลื้องการขูดรีดของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็ไม่ยอมให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านได้ เพราะค่าจ้างแรงงานมหารเป็นสิ่งที่อังกฤษไม่ประสงค์จะแบกรับ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่นานมากก่อนจะถูกยกเลิกในปี 1959 ประมาณ 3 ปีหลังจากอัมเบดการ์ถึงแก่อสัญกรรม ความพยายามของอัมเบดการ์ในเรื่องร่างกฎหมายมหารวตันบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า แม้อัมเบดการ์จะยินดีร่วมมือกับอังกฤษ และวิพากษ์ขบวนการชาตินิยมอินเดีย แต่อัมเบดการ์ก็จะไม่ยอมลดราวาศอกให้อังกฤษเด็ดขาดหากการกระทำของอังกฤษเป็นการกดขี่ทางวรรณะ

ในเดือนกันยายน ปี 1927 อัมเบดการ์ได้สำแดงความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีสังคมกับการปฏิบัติจริงอีกครั้ง ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วว่า อัมเบดการ์มีทฤษฎีสังคมเรื่องวรรณะว่า ระบบวรรณะสถาปนาขึ้นโดยกฎทางสังคมและเครือญาติอันแบ่งแยกต่างหากของพวกวรรณะพราหมณ์ และแพร่กระจายออกไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงการแต่งงานในกลุ่มวรรณะเดียวกันที่ริเริ่มในกลุ่มวรรณะพราหมณ์ ดังนั้นแล้ว อัมเบดการ์จึงได้จัดประชุมโดยมีชาวฮินดู คริสต์ และผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว เพื่อสถาปนาสมตาสมัชสังฆ์ที่ยึดหลักความเชื่อว่า “มนุษย์ทุกรูปนามย่อมเสมอกัน และมีสิทธิ์ได้รับโอกาสอันเท่าเทียมกันเพื่อให้บรรลุถึงสภาพบุคคลและความเพียบพร้อมในชีวิตตน” ตามแผนของอัมเบดการ์แล้ว สมตาสมัชสังฆ์จะมีบทบาทในการรณรงค์การร่วมรับประทานอาหารและการแต่งงานระหว่างวรรณะ ทว่าอัมเบดการ์ล้มเหลวในเรื่องนี้ นอกจากคู่สมรสที่มีเจ้าบ่าวเป็นชาวมราฐีกับเจ้าสาวชาวมหารไม่ปรากฏตัวในงานประชุมเพื่อเป็นตัวอย่างของการสมรสระหว่างวรรณะแล้ว ในขณะเดียวกันสมตาสมัชสังฆ์ก็ยังสองจิตสองใจที่จะส่งเสริมพิธีกรรมแบบพระเวทด้วย

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่ทำให้คู่บ่าวสาวไม่ปรากฏตัว อัมเบดการ์น่าจะตระหนักถึงข้อจำกัดของตนที่ประเมินอิทธิพลของศาสนาฮินดูในเชิงปฏิบัติต่ำเกินไป แม้จะเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมาเองอย่างมากมายและหลากหลาย แต่พิธีกรรมทางศาสนาฮินดูฝังลึกอยู่ในจิตใจของผู้คน เช่นเดียวกับในศาสนาอื่นๆ วิถีคิดเรื่องมงคลอันสัมพันธ์กับศาสนาฮินดูถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่อัมเบดการ์ผู้อยู่เบื้องหลังการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเกลียดชังการปฏิบัติของศาสนาฮินดูที่รักษาและส่งเสริมระบบวรรณะ ก็มิอาจเต็มใจที่จะจัดพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูให้คู่บ่าวสาวได้ อัมเบดการ์คงเริ่มทบทวนอีกครั้งแล้วว่า ตนยัง “ไม่พร้อมต่อสู้กับทุกรูปแบบของศาสนาฮินดู” พร้อมกันนี้อัมเบดการ์คงตระหนักแล้วว่า เพราะเหตุใดการต่อสู้กับระบบวรรณะที่มีมายาวนาน เริ่มตั้งแต่มหาวีระ พระพุทธเจ้า ขบวนการภักติ ลัทธิซูฟี จนมาถึงขบวนการต่างๆ ก่อนหน้าและในเวลาเดียวกับอัมเบดการ์ จึงไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีผลดีในระดับสำคัญบ้างก็ตาม ในประเด็นนี้ ออมเวดท์ผู้ศึกษาชีวประวัติอัมเบดการ์คนสำคัญเสริมด้วยว่า เป็นไปได้ที่อัมเบดการ์ในช่วงเวลานี้ “อาจจะกำลังเข้าสู่กระบวนการขบคิดและเข้าใจขนบความภักดีที่แสดงออกมาจากการที่พ่อของตนไปร่วมสังกัดกบีร์ปันถี โดยตระหนักถึงการที่ลัทธินิยมสวนกระแสของกบีร์ถูกซึมซับอยู่ภายในกรอบแบบพราหมณ์”

มาบัดนี้ แม้อัมเบดการ์จะไม่ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องที่ตนตั้งใจไว้ แต่ชาวทลิตจำนวนมากโดยเฉพาะในมหาราษฏร์ต่างก็ยอมรับเขาในฐานะผู้นำที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำทลิตในมหาราษฏร์คนอื่นๆ แล้ว อัมเบดการ์มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่นเป็นพิเศษ การพูดจาหรือการโต้ตอบอย่างหาญกล้าของเขาไม่ว่าจะต่อผู้นำอินเดียในวรรณะใด หรือต่อชาวอังกฤษที่ครอบครองอินเดียเป็นไปอย่างหนักแน่น และเปี่ยมไปด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และปทัสถาน ความถี่ของกิจกรรมต่างๆ ที่มีหลายส่วนมาจากประสบการณ์อันทุกข์ยากของอัมเบดการ์ตั้งแต่เยาว์วัย การรับฟังผู้ถูกกดขี่ในนามของผู้นำพหิษกฤตหิตการิณีสภาน่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทลิตในมหาราษฏร์ยอมรับอัมเบดการ์โดยปราศจากข้อครหา ดังที่ทลิตคนหนึ่งลำดับตรรกะความยิ่งใหญ่ของอัมเบดการ์ต่อผู้เขียนว่า

“ผมคุยกับลูกเมียบ่อยครั้งว่า ที่บาบาซาเฮบ [อัมเบดการ์] มีความกล้า เพราะความกล้านั้นมาจากความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง ความมุ่งมั่นนี้หล่อหลอมด้วยประสบการณ์ที่ตนถูกกีดกันแต่วัยเยาว์ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ส่งเสริมระบบวรรณะตั้งแต่วัยเยาว์เป็นส่วนสำคัญช่วยพัฒนาการใช้เหตุผลของบาบาซาเฮบให้หนักแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาทั้งในและต่างประเทศทำให้อัมเบดการ์มองเห็นว่าสังคมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นั้นจะต้องเกิดขึ้นได้ ทั้งหมดนี้หล่อหลอมความหาญกล้าของบาบาซาเฮบ กิจกรรมที่เขาจัดขึ้นมากมายในทศวรรษ 1920 ล้วนเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติได้จริง เพราะมาจากสิ่งที่ตนประสบเองและจากการรับฟังผู้อื่นที่ประสบปัญหาเหล่านั้น ... ชาวทลิตในมหาราษฏร์อาจจะมีสถานภาพย่ำแย่ รู้สึกกลัว รู้สึกไม่มั่นคง แต่พวกเขาไม่ไช่คนโง่ พวกเขารู้ดีว่าระบบวรรณะฝังรากลึกอยู่ในตัวผู้คน ทั้งๆ ที่ชาวฮินดูจำนวนมากที่สนับสนุนระบบวรรณะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าศาสนาฮินดูคืออะไร ... ชาวทลิตในมหาราษฏร์เข้าใจอัมเบดการ์ดี พวกเขารู้ดีว่าต้องมีคนริเริ่มต่อสู้กับวรรณะอย่างจริงจัง กิจกรรมบางอย่างของอัมเบดการ์หาใช่ความล้มเหลวไม่ หากแต่เป็นส่วนจำเป็นของกระบวนการต่อสู้ทั้งหมด ... เมื่อเห็นคุณลักษณะเหล่านี้แล้ว ผมจึงเข้าใจได้ว่าทำไมชาวมหาราษฏร์จึงยอมรับบาบาซาเฮบอย่างชัดเจน ผมอาจจะถามคุณกลับด้วยว่า ถ้าไม่ใช่บาบาซาเฮบ [เป็นผู้นำ] แล้ว จะเป็นใครได้อีกเล่า”

อาจจะด้วยเหตุผลเหล่านี้ที่ทำให้จางคเดว ภวานราว แคร์โมเด (1904–1971) ผู้ช่วยงานอัมเบดการ์ที่รวบรวมงานเขียนและสุนทรพจน์ของอัมเบดการ์ เสนอให้ใช้ฉายาบาบาซาเฮบนำหน้าชื่ออัมเบดการ์ และไอซาเฮบ (หรือคุณแม่) นำหน้าชื่อรามาไบภรรยาของอัมเบดการ์ในช่วงเดือนกันยายน ปี 1927 ที่แน่ชัดคือหลังจากปี 1930 เป็นต้นมา ผู้คนที่ศรัทธาในความเป็นผู้นำของอัมเบดการ์ก็เริ่มใช้ฉายานี้เรียกอัมเบดการ์และรามาไบตามลำดับ

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน อัมเบดการ์ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมที่จัดโดยนักศึกษาทลิต ณ อหิลยาศรม เมืองปูนา และเป็นประธานงานเลี้ยงในวาระการปลดเกษียณของแฮโรลด์ เอช. มันน์ ผู้อำนวยการกรมเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับชาวทลิต ณ หอพักของรัฐบาลสำหรับนักศึกษาทลิตที่ปูเนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้อัมเบดการ์ยังได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการถือครองที่ดินรายย่อยในอินเดียต่อสภานิติบัญญัติบอมเบย์ที่เขาเป็นสมาชิกด้วย วิสัยทัศน์ที่เขาได้แสดงนี้สัมพันธ์กับเนื้อหาของบทความที่เขาเคยตีพิมพ์เมื่อเก้าปีที่แล้ว เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องจิปาถะ แต่ที่เขียนมาก็เพื่อชวนผู้อ่านร่วมสังเกตด้วยว่า อัมเบดการ์เป็นบุคคลที่มีความกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ ไม่ยอมให้โอกาสใดๆ ไม่ว่าจะสำคัญมากหรือน้อยหลุดรอดไปได้ง่ายๆ

วันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1927 อัมเบดการ์เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ต่อการประชุมแห่งหนึ่ง ณ หอประชุมดาโมดาร์เมื่อโธมัส มาร์ดี โจนส์ (1879–1970) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษสังกัดพรรคแรงงานมาเยือนอินเดีย หลังจากพบปะอัมเบดการ์แล้ว โจนส์ได้กล่าวในทำนองว่า ตนรู้สึกปวดใจนักที่ได้รับรู้สภาพอันเลวร้ายของผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะที่มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งหมดมากกว่าประชากรประเทศสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และอังกฤษรวมกัน แต่โจนส์ก็มีความหวังด้วยว่า อัมเบดการ์ในฐานะทลิตที่มีการศึกษาสูงและเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นนั้น จะช่วยปลดแอกผู้ถูกกดขี่เหล่านี้จากพันธนาการอันเลวร้ายได้ ในวันที่ 12 เดือนเดียวกันนี้ ระหว่างที่อัมเบดการ์กำลังเยือนอมราวตี รัฐมหาราษฏร์ เพื่อจัดการประเด็นปัญหาการห้ามมิให้ชาวทลิตเข้าวัดฮินดู เขาก็ได้รับโทรเลขแจ้งข่าวว่าพี่ชายของเขาที่ชื่อบาลาซาเฮบได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ในวันที่ 13 และ 14 พฤศจิกายน อัมเบดการ์ก็ยังเป็นประธานในการประชุม ณ โรงละครอินทรภุวันตามกำหนดการเพื่อหามติสุดท้ายในประเด็นดังกล่าว

ดังที่กล่าวไว้แล้ว อัมเบดการ์ได้ประกาศว่าจะจัดการประชุมเรื่องสิทธิในการใช้น้ำของทลิตที่มหัทอีกครั้ง อัมเบดการ์เลือกวันที่ 23 ธันวาคม ในครั้งนี้อัมเบดการ์ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญ เมื่อเขาสามารถชวนให้ชาวทลิตประมาณ 10,000–15,000 คนเข้าร่วมประชุมในซุ้มขนาดใหญ่ที่แขวนรูปภาพมหาตมาคานธี เพื่อถกเถียงประเด็นปัญหาการใช้น้ำ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ศาลแขวงมีคำสั่งห้ามใช้แท็งก์น้ำ เป็นไปได้ว่าศาลเกรงว่าความโกลาหลที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมจะเกิดซ้ำอีก อัมเบดการ์ยอมทำตามคำสั่งศาล แต่ก็มีแผนการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังไม่น้อยเลย แผนที่ว่าคือการเผามนุสมฤติ หรือพระธรรมศาสตร์ ตำรากฎหมายเก่าแก่ของศาสนาฮินดูซึ่งกล่าวไว้อย่างโจ่งแจ้งถึงการเลือกปฏิบัติทางวรรณะและเพศ ผู้ร่วมคิดแผนดังกล่าวมีชาววรรณะพราหมณ์หัวก้าวหน้าด้วย และแล้วในคืนแรกของการประชุม ที่ประชุมก็ได้เผามนุสมฤติตามแผน ในวันที่สามของการประชุม มีการเดินขบวนพร้อมกับตะโกนสโลแกนในนามของนักบุญภักติ มหาตมาคานธี และอื่นๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงเดียวกันนี้ วารสารรายปักษ์พหิษกฤตภารัตที่ควบคุมโดยอัมเบดการ์ก็เริ่มโจมตีมหาตมาคานธีอย่างรุนแรง โดยเน้นวิพากษ์ความพยายามของมหาตมาคานธีที่จะคงผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวไว้ในเปลือกหุ้มแห่งศาสนาฮินดู นี่ย่อมบ่งบอกว่า อัมเบดการ์ทราบดีว่ามหาตมาคานธีมีอิทธิพลมากเพียงใด ดังนั้นแล้วอัมเบดการ์จึงไม่คิดที่จะใช้วิธีหักดิบกับการขจัดมหาตมาคานธีออกไปจากการต่อสู้ของทลิตโดยทันที ในวันที่สามของการประชุมดังกล่าว อัมเบดการ์ได้พบปะกลุ่มสตรีซึ่งเข้าร่วมการเดินขบวนนี้เป็นจำนวนมากด้วย อัมเบดการ์แนะนำให้ผู้หญิงเหล่านี้ทิ้งเครื่องเงินที่ใช้ประดับกายตนไว้ที่บ้านและแต่งกายเยี่ยงคนวรรณะสูง เพื่อมิให้มีร่องรอยของความเป็นคนนอกวรรณะ พร้อมกับให้คำแนะนำต่อกลุ่มสตรีเหล่านี้ถึงความสำคัญในการให้การศึกษาบุตรและบุตรีของตน

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะรู้อย่างละเอียดว่า มนุสมฤติกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติต่อวรรณะและเพศอย่างไรนั้น อาจจะเลือกอ่านรายงานฉบับหนึ่งที่มาร์ติน มัควัน นักกิจกรรมชาวคุชราตผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการรณรงค์สิทธิมนุษยชนเพื่อชาวทลิต สรุปไว้ในรายงานฉบับหนึ่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินเดียดังต่อไปนี้

(1) ระบบวรรณะเป็นสถาบันทางศาสนาที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้า
(2) วรรณะกำหนดโดยชาติกำเนิด
(3) วรรณะกำหนดโดยกรรมเก่า
(4) วรรณะเปลี่ยนแปลงได้ในการเกิดใหม่
(5) พราหมณ์อยู่สูงสุด
(6) ศูทรต้องรับใช้วรรณะที่เหลืออีก 3 วรรณะ
(7) ลำดับชั้นของวรรณะจะต้องดำรงไว้
(8) ผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย
(9) การแต่งงานต้องแต่งกันภายในวรรณะเท่านั้น
(10) [มนุสมฤติ] อธิบายถึงการลงโทษที่เข้มงวดสำหรับการละเมิดปทัสถานเหล่านี้
(11) [มนุสมฤติ] กำหนดว่า ไม่มีผู้ใดมีสิทธิทางการศึกษา นอกจากชายวรรณะพราหมณ์เท่านั้น
(12) การไม่ยึดมั่นตามกฎและข้อปฏิบัติทางวรรณะอาจจะมีผลทำให้วรรณะเสื่อมสูญ เป็นภัยต่อบุคคล รวมถึงญาติพี่น้องและบรรพบุรุษ

ในการประชุมแห่งหนึ่งที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 21 และ 22 กุมภาพันธ์ ปี 2017 ผู้เขียนขอนัดสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ชาวทลิตที่เชี่ยวชาญทลิตศึกษาประจำมหาวิทยาลัยชื่อดังในเดลี ตามกำหนดการที่ตกลงกันไว้คือจะสัมภาษณ์ในช่วงเย็นของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่หลังจากนักวิชาการสตรีชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูคนหนึ่งได้นำเสนอเรื่องมนุสมฤติในที่ประชุมเป็นทำนองสรรเสริญเยินยอ ศาสตราจารย์คนนี้ก็ขอให้ผู้เขียนไปพบนอกห้องประชุมเพื่อเริ่มการสัมภาษณ์ทันที แม้ยังไม่ได้เริ่มถามอะไร แต่เขาก็โพล่งขึ้นมาอย่างเจ็บแค้นว่า

“การนำเสนอบทความของเธอ [นักวิชาการสตรี] เมื่อสักครู่นี้บอกอะไรบ้าง ลองคิดดูสิว่าระดับปัญญาชนยังเป็นกันแบบนี้ ... ทั้งๆ ที่เธอเป็นผู้หญิง แต่เธอยังให้ความชอบธรรมตำรา [มนุสมฤติ] ที่กดขี่เพศ ผมไม่เคยรู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมอัมเบดการ์จึงมาสู่ข้อสรุปที่ว่า การจรรโลงระบบวรรณะเกิดขึ้นได้เพราะผู้คนในแต่ละวรรณะมีแรงจูงใจ และแรงจูงใจนี้เองที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องการออกจากประเพณีอันเลวร้ายด้วย ... มนุสมฤติคือหนังสือที่อัมเบดการ์ ศูทร และทลิตเผากันครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมนุสมฤติเป็นแหล่ง หรือเป็นต้นตอหนึ่งที่สร้างความกดขี่ทั้งทางวรรณะและเพศ ... อัมเบดการ์คงรู้ดีด้วยว่ามีชาวฮินดูไม่น้อยเลยที่ไม่เคยอ่านมนุสมฤติ การเผาทำลายมนุสมฤติจึงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อต้องการล้มเลิกกฎแห่งศาสนาที่ไม่เป็นธรรม ...

จำต้องตระหนักเสมอว่า อัมเบดการ์มิได้คิดเรื่องคนวรรณะล่างหรือคนนอกวรรณะแต่อย่างเดียว การเผามนุสมฤติแสดงให้เห็นด้วยว่า จะกดขี่ทางเพศก็ไม่ได้ ... วันนี้คนพูดถึงพหุนิยม พูดถึงการอยู่ร่วมกันโดยสันติ แท้จริงแล้ว ในเรื่องเหล่านี้อัมเบดการ์คือคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 การเผามนุสมฤติคือเรื่องเดียวกับความพยายามในการสร้างสังคมที่อิงอยู่กับความเป็นพหุนิยมแท้จริง ... ต้องอย่าลืมอ่านงานเขียนของอัมเบดการ์เรื่องชนกลุ่มน้อยด้วย มิฉะนั้นจะเข้าใจอัมเบดการ์ได้เพียงผิวเผิน ... ผมกล้าพูดอย่างมั่นใจว่า ถ้าเรายังเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกันเพียงเพราะเราเกิดมาในวรรณะนี้หรือเพศนั้นดังที่มนุสมฤติกำหนดไว้ เราจะอยู่ร่วมกันโดยสันติได้อย่างไร”


อัมเบดการ์ดำเนินกิจกรรมในเรื่องต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ในเดือนมิถุนายนปี 1928 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ณ วิทยาลัยกฎหมายของรัฐบาล เมืองบอมเบย์ ในต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกรรมาธิการบอมเบย์ เพื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการไซมอน ซึ่งจัดตั้งโดยนายกรัฐมนตรีอังกฤษสแตนลีย์ บอลด์วิน (1867–1947) แห่งพรรคอนุรักษนิยม ภารกิจหลักของคณะกรรมการไซมอนคือการจัดทำรายงานเรื่องผลของการนำรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่จัดทำขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดียแห่งปี 1919 มาบังคับใช้ เมื่อเสร็จแล้วคณะกรรมการไซมอนจะต้องส่งรายงานให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณาต่อไป คณะกรรมการไซมอนประกอบด้วยสมาชิก 7 คน โดยมี 4 คนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คนจากพรรคแรงงาน และอีก 1 คนจากพรรคลิเบอรัล ประธานคณะกรรมการฯ คือเซอร์จอห์น ไซมอน (1873–1954) นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงโด่งดังสังกัดพรรคลิเบอรัล และคือที่มาของชื่อคณะกรรมการ อีกคนที่สมควรกล่าวชื่อในที่นี้คือ เคลเมนต์ แอทท์ลี (1883–1967) สมาชิกพรรคแรงงาน ซึ่งในเวลาต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียของพรรคแรงงาน ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่นำไปสู่การสิ้นสุดของบริติชราชในปี 1947

พรรคคองเกรสอินเดียและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในอินเดียคว่ำบาตรคณะกรรมการไซมอน เพราะคณะกรรมการไซมอนไม่มีชาวอินเดียเป็นสมาชิกแม้แต่คนเดียว แต่อัมเบดการ์ไม่คิดเช่นนั้น ในนามของพหิษกฤตหิตการิณีสภา อัมเบดการ์กลับจัดทำเอกสารคำเสนอแนะอย่างละเอียดก่อนจะส่งให้คณะกรรมการไซมอนในวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1928 สารัตถะสำคัญของเอกสารเสนอแนะที่ว่านี้โจมตีพระราชบัญญัติอินเดียแห่งปี 1919 ตรงที่ว่าปล่อยให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นต่อผู้ถูกกดขี่ทางชนชั้นวรรณะ อัมเบดการ์เสนอให้ชนชั้นที่ถูกกดขี่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษา มีสิทธิทำอาชีพทหารและตำรวจ มีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ และต้องการให้มีที่นั่งสำรองสำหรับผู้ถูกกดขี่ในสภานิติบัญญัติบอมเบย์ นอกจากอัมเบดการ์แล้ว ยังมีสมาคมของผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะอีก 18 แห่งที่ให้การเรื่องความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องแบกรับต่อคณะกรรมการไซมอนด้วย เช่นเดียวกับข้อเสนอของอัมเบดการ์ ในจำนวนสมาคมทั้งหมด มีมากถึง 16 แห่งที่เสนอให้มีการจัดสรรที่นั่งแยกในสภานิติบัญญัติสำหรับผู้คนที่ถูกกดขี่ด้วย ในวันที่ 23 ตุลาคมปีเดียวกันนี้ อัมเบดการ์ได้ให้การต่อคณะกรรมการไซมอน โดยยืนกรานอีกครั้งว่า มุสลิม ผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว ชาวอินเดียเชื้อสายอังกฤษ (หรือแองโกลอินเดีย) และกลุ่มที่ไม่ใช่พราหมณ์ควรได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภานิติบัญญัติบอมเบย์ด้วย

ประเด็นปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ทลิตต้องเผชิญคือ การไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าวัดฮินดู เช่นเดียวกับอีกหลายแห่งในอินเดีย รัฐมหาราษฏร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อัมเบดการ์เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน สัตยาเคราะห์วัดปารวตีในปูนาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปี 1929 หรือสัตยาเคราะห์วัดพระรามในนาศิกเมื่อวันที่ 2 มีนาคมปี 1930 ต่างก็แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันหมด นั่นคือ ผู้มีวรรณะสูงมองว่าชาวทลิตที่แปดเปื้อนไม่ควรจะเข้าวัดเพราะเป็นสถานที่สูงส่งและบริสุทธิ์ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้วัดแปดเปื้อนไปด้วย แม้อัมเบดการ์จะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประท้วงให้ทลิตเข้าวัดฮินดูในสองแห่งนี้โดยตรง แต่เขาคือผู้นำที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงวัดพระรามในนาศิก

ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1930 ณ การประชุมที่จัดในนามของสภาชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั่วอินเดียในเมืองนาคปูร์ อัมเบดการ์ได้ประกาศต่อต้านโครงการเอกราชของขบวนการชาตินิยมอินเดีย มติของสภาชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั่วอินเดียที่มีอัมเบดการ์อยู่เบื้องหลังคือ “ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ยินดีต้อนรับชาวอังกฤษในฐานะผู้ปลดปล่อยพวกตนจากระบบทรราชย์และการกดขี่อันยาวนานหลายยุคสมัยโดยชาวฮินดูดั้งเดิม” ในการประชุมครั้งนี้ อัมเบดการ์ได้สนับสนุนให้อินเดียมีสถานภาพเป็นรัฐในอำนาจการปกครองของอังกฤษที่มีเอกราชไม่สัมบูรณ์ อัมเบดการ์เชื่อว่าสถานภาพนี้ “ดูจะเหนือกว่าสำหรับข้าพเจ้า เพราะในสถานภาพนี้มีสารัตถะแห่งความเป็นเอกราชอยู่โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับเอกราชสัมบูรณ์”

นอกจากประเด็นสถานภาพอินเดียแล้ว ในการประชุมครั้งนี้อัมเบดการ์ยังได้โจมตีมหาตมาคานธีและรัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรง อัมเบดการ์วิพากษ์ขบวนการอารยะขัดขืน โดยเฉพาะการเดินขบวนเกลือของมหาตมาคานธีที่เริ่มขึ้นวันที่ 12 มีนาคม และจบลงในวันที่ 6 เมษายน ปี 1930 ว่าไม่เหมาะสม เพราะมีผลทำให้ชาวอินเดียนับพันต้องถูกจำคุก ในประเด็นรัฐบาลอังกฤษ เขาวิจารณ์อย่างหนักแน่นว่า การบริหารจัดการอินเดียของอังกฤษได้นำอินเดียมาสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงและความเดือดร้อน ก่อนจะสรุปโดยเสนอให้ทลิตหมั่นฝึกหัดพึ่งพาตนเองให้เป็นนิสัย “เป็นอิสระจากรัฐบาล [อังกฤษ] และ [พรรค] คองเกรส [อินเดีย]” โดยกล่าวว่า

"แต่ข้าพเจ้าจะต้องถือโอกาสนี้เน้นว่า อำนาจทางการเมืองมิอาจเป็นยาครอบจักรวาลสำหรับแก้โรคชนชั้นผู้ถูกกดขี่ การปลดปล่อยพวกเขาต้องมาจากการยกระดับทางสังคม พวกเขาต้องกำจัดนิสัยแย่ๆ ของตน ต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนี้ พวกเขาย่อมเหมาะสมจะได้รับความเคารพและมิตรภาพ พวกเขาต้องได้รับการศึกษา ... มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขัดขวางความสมถะอันน่าสมเพชของพวกเขาและค่อยๆ สอดแทรกความขัดเคืองอันยิ่งใหญ่ลงไป ซึ่งจะกลายเป็นที่มาแห่งการยกระดับทั้งหมด [ขบวนการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ทางชนชั้น] จะนำไปสู่การปลดปล่อยชาวเรา และการก่อตั้งสภาพทางสังคมในประเทศของเราแห่งนี้ ซึ่งบุคคลจะมีค่านิยมเดียวต่อทุกด้านแห่งชีวิต ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ”

ในเดือนตุลาคม ปี 1930 ในฐานะตัวแทนผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัว อัมเบดการ์กับตาตา เรตตมาไล ศรีนิเวสัน (1859–1945) ผู้นำของคนนอกวรรณะจากทมิฬนาฑู รัฐในตอนใต้ของอินเดีย ได้เดินทางไปลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมครั้งแรก ตามคำเชิญของอุปราช ก่อนทั้งสองจะเดินทาง มีนักกิจกรรมและอาสาสมัครราว 10,000 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อส่งบุคคลทั้งสองไปปฏิบัติภารกิจสำคัญครั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ซึ่งมี เอส.เอ็น ศิวตาร์การ์ (1891–1966) เลขาธิการพหิษกฤตหิตการิณีสภาเป็นประธานการประชุม และมีเกลุสการ์กล่าวสุนทรพจน์อันน่าเร้าใจ เกลุสการ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสังเกตเห็นความทะเยอทะยานของอัมเบดการ์เมื่อเขาชอบอ่านหนังสือตามลำพังในสวนสาธารณะ เป็นผู้แนะนำตนต่ออัมเบดการ์ และเคยให้หนังสือพุทธประวัติที่เขาเป็นผู้แต่งแก่อัมเบดการ์ คงรู้สึกภูมิใจไม่น้อยเลยว่า อัมเบดการ์ที่เขาได้เริ่มสนับสนุนตั้งแต่สมัยยังเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายเอลฟินสโตน มาบัดนี้ได้กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ และกำลังจะเดินทางไปลอนดอนเพื่อทำภารกิจที่สำคัญ ในการประชุมนี้ อัมเบดการ์ได้เข้าร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุม เรื่องที่อัมเบดการ์เน้นมากเป็นพิเศษคือเรื่องรัฐบาลกลางที่มีอำนาจมาก ซึ่งจะทำหน้าที่ในการจัดหาสวัสดิการให้ผู้คนที่ถูกกดขี่ และป้องกันประเทศ และมีการบริหารจัดการที่ลดขั้นตอนกระบวนการของข้าราชการ

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 1930 ณ ลอนดอน อัมเบดการ์เข้าร่วมการประชุมอย่างแข็งขันเช่นเดียวกับที่ผ่านมา พร้อมด้วยเอกสารที่ตนได้เตรียมมาอย่างละเอียด ในลอนดอน อัมเบดการ์เน้นย้ำเนื้อหาบางส่วนที่ตนเคยกล่าวไว้ในการประชุมที่นาคปูร์ว่า “รูปแบบรัฐบาลเจ้าขุนมูลนายในอินเดียควรแทนที่ด้วยรัฐบาลที่จะเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ในประเด็นที่เกี่ยวกับความเลวร้ายของอาณานิคมอังกฤษ อัมเบดการ์กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษไม่เคยแตะเรื่องความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้ถูกกดขี่เผชิญ การกดขี่นี้ยังจะคงอยู่ต่อไปตราบใดที่เราไม่มีอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางการเมืองนี้จะไม่ตกถึงมือผู้ถูกกดขี่ตราบใดที่รัฐบาลอังกฤษยังอยู่ พร้อมกับเสริมด้วยว่า “มีเพียงรัฐธรรมนูญแบบสวราชเท่านั้นที่เราจะพอมีโอกาสช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเข้ามาไว้ในมือเราได้” [เน้นโดยผู้เขียนเอง]

จากสารัตถะสุนทรพจน์ของอัมเบดการ์ในนาคปูร์และลอนดอน ผู้อ่านคงสังเกตเห็นว่า อัมเบดการ์โดยสัญชาติญาณแล้ว คือนักชาตินิยมที่ไม่ต่างจากผู้นำขบวนการชาตินิยมอินเดียคนอื่นๆ อัมเบดการ์ทราบดีว่า อังกฤษไม่มีทางแก้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของอินเดียได้ เพราะอังกฤษที่มุ่งเน้นการขูดรีดย่อมสวนทางกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอินเดีย เช่น เรื่องการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์กับเงินรูปีที่อัมเบดการ์ได้เขียนไว้ หรือร่างกฎหมายมหารวตันที่อัมเบดการ์สนับสนุนเพื่อยุติการขูดรีดของอังกฤษ ต่างก็ชี้ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า อัมเบดการ์รู้เช่นเห็นชาติอาณานิคมอังกฤษอย่างถ่องแท้ ทว่าอัมเบดการ์ก็ตระหนักรับรู้มาโดยตลอดว่า ในนามของการขูดรีดนี้ ผู้คนที่ถูกกดขี่จำนวนหนึ่งก็ได้รับอานิสงส์ด้านอาชีพการงานและการศึกษาด้วย ในขณะเดียวกัน อัมเบดการ์ก็ประสงค์จะเห็นขบวนการชาตินิยมอินเดียปฏิเสธศาสนาฮินดูที่ส่งเสริมระบบวรรณะ และรีบแก้ปัญหาของผู้ถูกกดขี่ทางวรรณะ จึงกล่าวได้ว่า อัมเบดการ์ใช้กลวิธีเหยียบเรือสองแคม เพื่อต่อรองในสิ่งที่ตนต้องการบรรลุ นั่นคือ การขจัดระบบวรรณะ

ในช่วงเวลาระหว่าง 7 ปี นับตั้งแต่อัมเบดการ์กลับจากลอนดอนในปี 1924 จนถึงการเข้าร่วมประชุมในลอนดอนในปี 1930 อัมเบดการ์ในฐานะนักกฎหมาย ผู้นำพหิษกฤตหิตการิณีสภา หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติบอมเบย์ ได้ต่อสู้กับระบบวรรณะอย่างจริงจัง ต่างจากผู้คนก่อนหน้าเขาที่เคยต่อสู้กับวรรณะอย่างระมัดระวัง ภายในขอบเขตที่ตนพึงกระทำได้ อัมเบดการ์ผู้ซึ่งสั่งสมความเคียดแค้นต่อระบบวรรณะมาตั้งแต่วัยเยาว์ต้องการล้างผลาญโครงสร้างระบบวรรณะที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมให้สิ้นซาก เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้เขาจึงกลายเป็นคนที่ไม่เหลือความอดทน พร้อมจะท้าทายทุกคนทุกเรื่องที่ขัดต่อความต้องการของเขาในเรื่องวรรณะ

การกระทำของอัมเบดการ์ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งห้องสมุดและหอพักให้ชาวทลิต การเป็นทนายความต่อสู้ให้นักกิจกรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม การตีความใหม่เรื่องอาณานิคมผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโกเรกาวน์ การประท้วงเรียกร้องสิทธิให้ทลิตใช้น้ำ การเผามนุสมฤติในที่สาธารณะ การร่วมมือกับคณะกรรมการไซมอนของบริติชราช การประท้วงให้ทลิตเข้าวัดฮินดูได้อย่างเสมอภาค ฯลฯ ถือได้ว่าอัมเบดการ์นั้นแกล้วกล้ามาก ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจจะต้องตระหนักด้วยว่า ยุคสมัยทศวรรษ 1920 ก็เป็นใจกับอัมเบดการ์ด้วย เพราะในช่วงเวลานี้ ผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวก็เริ่มตระหนักถึงสิทธิของตนมากขึ้น เช่น ที่ผู้ห้ามแตะเนื้อต้องตัวประท้วงเรียกร้องสิทธิในการข้ามถนนหน้าวัดกุรุวายูร์ วัดฮินดูในรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย ก็เป็นเรื่องราวคล้ายกับการประท้วงของทลิตในมหาราษฏร์ด้วย ในช่วงเวลานั้น ไม่ได้มีแต่อัมเบดการ์เท่านั้น ยังมีคนอื่นที่เป็นผู้นำของผู้ต้องห้ามแตะเนื้อต้องตัวด้วย เช่น อี. วี. รามาสวามี ไนเกอร์ (1879–1973) หรือเปรียาร์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากคุณเจองูกับพราหมณ์บนถนน ให้ฆ่าพราหมณ์ก่อน” (ไม่แน่ใจว่าคำกล่าวนี้จะเป็นที่มาของ “เจองูเจอแขก ตีแขกก่อน” ในไทยหรือไม่)

ณ บัดนี้ อัมเบดการ์ในฐานะผู้นำทลิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ได้สำแดงตนออกมาแล้ว จากนี้เป็นต้นไป จะต้องมีอัมเบดการ์หรือประเด็นการกดขี่ทางวรรณะเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ มหาตมาคานธีกับอัมเบดการ์จึงต้องพบปะกันอย่างแน่นอน ผู้เขียนจะขออธิบายประเด็นสำคัญนี้ในตอนต่อไป

หมายเหตุ : ข้อมูลหลายส่วนในบทความนี้มาจากงานเขียนของ Christophe Jaffrelot; Dhananjay Keer; Gail Omvedt และ Sunil Khilnani


กำลังโหลดความคิดเห็น