xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลจีนใต้ จุดรอวันวิกฤต...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์

<b>สหรัฐฯ จัดการซ้อมรบทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในโลก</b>
ผู้นำฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ประกาศผ่านรัฐมนตรีต่างประเทศวันก่อนว่า “พร้อมที่จะเข้าสู่ภาวะสงคราม” ถ้ามีใครเข้าไปแสวงผลประโยชน์จากขุมทรัพยากรธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ถึงขั้นที่ว่า “อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด” นั่นเลย

คำประกาศของดูเตอร์เต ซึ่งจะมีใครหนุนหลังแค่ไหนไม่มีใครประเมิน มาจากการเฝ้ามองสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ซึ่งจีนได้ขยายการก่อสร้างฐานทัพ สนามบินและอาคารต่างๆ บนหมู่เกาะสแปรตลีย์ และหมู่เกาะพาราเซล ด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ทะเลจุดนั้นมีหลายประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และจีนซึ่งได้เข้าครอบครองหมู่เกาะเหล่านั้นโดยไม่ใส่ใจว่าจะเป็นละเมิดกฎหมายทางทะเลหรือไม่ แม้สหรัฐฯ จะพยายามเบ่งกล้ามใส่ จีนก็ไม่หวาดหวั่น

ไม่กี่วันก่อน สหรัฐฯ ส่งเรือรบ 2 ลำ แล่นไปเฉียดบริเวณนั้น พร้อมกับซ้อมรบทางทะเลด้วย จีนก็สั่งให้เครื่องบินรบลาดตระเวนเข้าประกบ พฤติกรรมเช่นนี้หวุดหวิดที่จะทำให้เกิดวิกฤตหรือการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยหลายครั้ง แต่ยังไม่มีใครอยากเปิดเกมก่อน

คราวนี้ดูเตอร์เต ประกาศว่าใครก็ตาม ถ้าข้าม “เส้นแดง” เข้าไปขุดหาทรัพยากรในทะเลจีนใต้ ฟิลิปปินส์ก็พร้อมจะเผชิญหน้า และถ้าจะมีสงครามประเทศก็พร้อม นั่นเป็นคำประกาศผ่าน รมว.ต่างประเทศ อลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน แสดงให้เห็นความแข็งกร้าว

รมว.ต่างประเทศคาเยตาโนไปพูดในงานเปิดอาคารแห่งหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้มีเสียงค่อนแคะว่าฟิลิปปินส์ไม่กล้าหือกับจีนที่ได้เข้าไปครอบครองพื้นที่บนหมู่เกาะเหล่านั้นในทะเลจีนใต้ เร่งขยายส่วนพื้นที่เป็นดิน เอาเรือขุดไปดูดทรายถมพื้นที่ทะเล ทำให้จีนสามารถสร้างสนามบิน และอาคารสำหรับทหารเพื่ออารักขาเกาะ

“จีนพูดถึงเส้นแดง เราก็พูดถึงเส้นแดง ดังนั้นต่างคนต่างพูดถึงเส้นแดง เมื่อมีใครเข้าไปหาทรัพยากรในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกและทะเลจีนใต้ เราก็พร้อมที่จะทำสงคราม อะไรจะเกิดก็ต้องให้เกิด เราพร้อมที่จะเผชิญ” นั่นเป็นการตอกย้ำโดยรมว.ต่างประเทศ คาเยตาโน

พื้นที่นั้นเริ่มร้อนระอุขึ้นมาในไม่กี่วันก่อนหลังจากมีข่าวว่าจีนได้ส่งเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดไปประจำการบนฐานทัพในหมู่เกาะเทียม ซึ่งเป็นส่วนที่ขยายพื้นที่ในทะเล เป็นครั้งแรกหลังจากจีนได้ใช้กำลังทหารเข้าครอบครองและพัฒนาสิ่งก่อสร้างอย่างเร่งด่วน

ตั้งแต่ดูเตอร์เตเข้ามาเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ในปี 2016 ก็เริ่มมีเสียงอ่อนลงในถ้อยคำวิวาทะกรณีแย่งกรรมสิทธิ์เกาะ ไม่นานมานี้ช่วงไปเยือนจีน ได้พบปะกับผู้นำจีน ดูเตอร์เตก็กล่าวชื่นชมประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถึงขั้นประกาศ “ผมรักประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มาก”

คำประกาศโผงผางล่าสุดเป็นการเปลี่ยนท่าทีจากอ่อนยวบไปเป็นความแข็งกร้าวหรือไม่ ยังไม่แน่ชัด แต่ รมว.ต่างประเทศย้ำว่าจีนได้รับการบอกกล่าวถึงกรณี “เส้นแดง” ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์พยายามบรรลุข้อตกลงกับจีนในการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่พิพาท

ในหมู่เกาะเหล่านั้น เป็นที่ทราบกันว่ามีทั้งแหล่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติมากมาย จึงเป็นเหตุให้ฟิลิปปินส์อยากรวบรัดข้อตกลงในการสำรวจทรัพยากรร่วมกับจีน ซึ่งอย่างน้อยก็ขอมีส่วนแบ่ง และตีกันประเทศอื่นๆ ที่มีข้อพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์พื้นที่นั้น

รมว.ต่างประเทศคาเยตาโนบอกว่า กระทรวงการต่างประเทศถูกจี้ย้ำให้ทำการประท้วงต่อจีนในการล่วงละเมิดพื้นที่นั้น และที่ผ่านมาก็ได้ใช้วิธีทางการทูตใน “ช่วงเวลาที่เหมาะสม” โดยตลอด

“ไม่เป็นการยุติธรรม” ที่จะกล่าวหาจีนแต่เพียงประเทศเดียวว่าได้มีกิจกรรมด้านการทหารในพื้นที่พิพาท ไม่จำเป็นต้องเป็นเกาะ เพราะการนำกองเรือรบแล่นผ่านบริเวณนั้น แม้ไม่มีฐานทัพ ก็น่าถือว่าเป็นกิจกรรมทางการทหารด้วยหรือไม่

คำพูดนี้น่าจะอ้างอิงถึงการที่สหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบ 2 ลำแล่นผ่านในระยะ 12 ไมล์ทะเลห่างจากเกาะเทียมหมู่เกาะพาราเซลที่จีนได้ครอบครอง เป็นการแสดงออกถึงสิทธิในการเดินเรืออย่างเสรี และทำเป็นประจำ ในน่านน้ำที่มีปัญหาข้อพิพาทด้านกรรมสิทธิ์

นั่นเป็นการซ้อมรบทางทะเลในบริเวณนั้น แต่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ได้ใช้เรือมากกว่า 2 ลำในการปฏิบัติการ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็ได้ประท้วงการครอบครองเกาะและสร้างเกาะเทียมโดยกองทัพเรือจีน รวมทั้งปฏิบัติการในพื้นที่นั้นมาโดยตลอด แต่จีนไม่สนใจไยดี

พื้นที่พิพาทประกอบด้วยหมู่เกาะ เรียงกันเหมือน 9 จุดอยู่กลางทะเล เริ่มจากทางตอนใต้เกาะไหหลำของจีน ยาวลงไปจดน่านน้ำทางตอนเหนือของมาเลเซีย จีนได้พัฒนางานก่อสร้างบนพื้นที่เกาะนั้น มีทั้งสถานีติดตั้งเรดาร์และทางวิ่งสำหรับเครื่องบิน

รัฐบาลจีนก็อ้างกรรมสิทธิ์การครอบครองตามกฎหมายผ่านการแถลงโดยกระทรวงการต่างประเทศทุกครั้งที่มีปัญหาหรือข้อเรียกร้องโดยประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการสากลในปี 2016 ได้พิจารณากรณีพิพาท

มีคำวินิจฉัยว่าการครอบครองของจีนในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้เป็นการละเมิดข้อตกลงภายใต้กฎหมายทะเล แต่ไม่เป็นผลในการบังคับ สหรัฐฯ ก็ประท้วงจีนด้วยการไม่ส่งคำเชิญจีนให้เข้าร่วมซ้อมรบทางทะเลภายใต้ข้อตกลง “ริมแพค” วันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ แถลงกรณีไม่เชิญจีนว่าพฤติกรรมและท่าทีของจีน “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ด้านหลักการและวัตถุประสงค์ในข้อตกลง “ริมแพค” ดังนั้นต้องรอดูท่าทีของผู้นำฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรกับการครอบครองเกาะพิพาท

จะเป็นจุดแห่งวิกฤตใหม่นอกเหนือจากคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่ เป็นประเด็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น