เอเจนซีส์ - เครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนทำการซ้อมขึ้นและลงจอดที่เกาะแห่งหนึ่งในเขตน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้เป็นครั้งแรก โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการซ้อมรบซึ่งอาจโหมกระพือความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค
กองทัพอากาศจีนมีถ้อยแถลงวานนี้ (18 พ.ค.) ว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดหลากหลายชนิด รวมถึง H-6K ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์โจมตีทางยุทธศาสตร์พิสัยไกล ได้ซ้อมเทกออฟและลงจอดบนรันเวย์ของเกาะแห่งหนึ่ง หลังจากที่ฝึกจำลองการโจมตีเป้าหมายในทะเล
“หน่วยงานในสังกัดกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน (PLAAF) ได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดหลายรุ่น เช่น H-6K ทำการฝึกซ้อมขึ้นและลงจอดบนหมู่เกาะและเกาะปะการังในทะเลจีนใต้ เพื่อปรับปรุงศักยภาพในการเข้าถึงทุกพื้นที่ และสามารถโจมตีได้ทุกเวลาในทุกๆ ทิศทาง”
ประกาศที่เผยแพร่ทางไมโครบล็อกเวยปั๋วของ PLAAF ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าปฏิบัติการซ้อมรบครั้งนี้ถูกจัดขึ้นที่เกาะแห่งใด
ถ้อยแถลงฉบับนี้ยังอ้างความเห็นของ หวัง หมิงเหลียง (Wang Mingliang) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของจีน ซึ่งระบุว่า การฝึกซ้อมขึ้นและลงจอดบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้จะช่วย “เพิ่มศักยภาพด้านการโจมตีให้แก่กองทัพอากาศ เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเล”
การซ้อมรบดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากสถานีโทรทัศน์ CNBC ของสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวกรองอเมริกัน ว่า จีนได้นำระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือและขีปนาวุธชนิดจากอากาศสู่อากาศไปติดตั้งไว้ที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นเกาะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่ด้วย
สหรัฐฯ เตือนว่าปักกิ่งจะต้องได้รับ “ผลตอบสนอง” จากการเสริมกำลังทหารในทะเลจีนใต้ และเคยพยายามหารือกับจีนในประเด็นนี้แล้ว
อเมริกาเคยส่งเรือรบแล่นเฉียดหมู่เกาะเทียมของจีนในทะเลจีนใต้หลายครั้งเพื่อท้าทายการอ้างอธิปไตยของปักกิ่ง
พันโท คริสโตเฟอร์ โลแกน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความเห็นผ่านรอยเตอร์ว่า “สหรัฐอเมริกายังคงมุ่งมั่นที่จะทำให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีเสรีภาพและเปิดกว้าง”
บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า “ดิฉันเชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดไปลงจอดใน #SouthChinaSea”
CSIS ยังเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านเว็บไซต์อีกว่า ที่ตั้งของรันเวย์น่าจะอยู่บน “เกาะวูดดี้” ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะพาราเซล
ข้อพิพาททะเลจีนใต้เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานหลายปี โดยจีน ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนามต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำบางส่วนของท้องทะเลซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ด้วย
หลายปีมานี้จีนได้เข้าไปแปรสภาพเกาะปะการังในทะเลจีนใต้จนกลายเป็นเกาะเทียมที่พรั่งพร้อมด้วยสาธารณูปโภคสำหรับพลเรือน รวมไปถึงเรดาร์ ระบบสื่อสาร ระบบขีปนาวุธ และทางวิ่งเครื่องบินที่สามารถรองรับอากาศยานทางทหารได้