xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรากฏการณ์ “เสือเฒ่า” เขย่า “เสือบูรพา” จาก “มหาเธร์” ถึง “ชวน-ประยุทธ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของ “ดร.มหาเธร์ โมฮาหมัด” ในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา นอกจากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในประเทศ มาเลเซียด้วยการปิดฉากชีวิตทางการเมือง นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อื้อฉาวแล้ว ยังได้กลายเป็นแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองข้ามประเทศมาถึงแผ่นดินไทย ในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอีกด้วย

โดยแรงสั่นสะเทือนที่ว่านี้ ส่งผลโดยตรงถึง 2 บุคคลสำคัญ และถูกนำมาเปรียบเทียบกันอย่างช่วยไม่ได้

คนแรกคือ “นายชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกระแส “มหาเธร์ รีเทิร์น” ได้ถูกนำมาปลุกกระแส “ชวน รีเทิร์น” ว่า สามารถกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของไทยได้อีกครั้งเพราะนายชวนมีอายุน้อยกว่ามหาเธร์หลายปี หรือพูดง่ายๆ ว่า มีความพยายามที่จะ “โหนมหาเธร์โมเดล” ก็คงจะไม่ผิดนัก

ขณะที่คนที่สองคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ตกเป็น “เป้า” ของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในห้วงวาระครบรอบ 4ปีของรัฐประหาร ซึ่งบังเอิญเวียนมาบรรจบในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันพอดิบพอดี ทั้งเรื่อง “การปฏิรูป” และทั้งเรื่อง “น้องพี่ที่รัก”

เรียกว่า เป็นปรากฏการณ์ “เสือเฒ่า” แห่งมาเลเซียที่เขย่า “เสือบูรพา” จนแทบสูญสิ้นความศรัทธาที่มีให้กันเลยทีเดียว เพราะแม้กระทั่ง “ติ่ง” หรือ “FC” ของลุงตู่ก็ยังต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จนไม่อาจตะแบงเถียงแบบข้างๆ คูๆ ต่อไปได้

ชัยชนะของ “เสือเฒ่า”
ปลุกกระแส “ชวนรีเทิร์น”??

การหวนคืนสู่สนามเลือกตั้งของ “ดร.มหาเธร์ โมฮาหมัด” โดยยอมจับมือกับบรรดาพรรคการเมืองที่เคยถูกเขาเล่นงานสมัยที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะแกนนำฝ่ายค้านอย่าง อันวาร์ อิบรอฮีม ซึ่งเคยสังกัดกลุ่มบีเอ็นมาก่อน และถึงขั้นได้รับการวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองของมหาเธร์ ก่อนที่ทั้งคู่จะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนอันวาร์ถูกมหาเธร์สั่งปลดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 1998 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจปรากฏการณ์แรกก็คือเรื่อง “อายุ” เพราะด้วยวัยที่ล่วงเลยถึง 92 ปี ทำให้มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีมีอายุมากที่สุดในโลก และส่งผลให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ปลุกกระแส “ชวนรีเทิร์น” ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย กระทั่งตัวนายชวนเองก็ไม่คงไม่คาดคิดว่าจะถูกลากหรือถูกเชื่อมโยงให้เข้ามาเกี่ยวข้องได้

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 คนไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เว้นแต่เรื่อง “อายุ” เพียงเรื่องเดียว

ต้องยอมรับว่ามหาเธร์เป็นคนมีวิสัยทัศน์และมีความสามารถอย่างเอกอุ เคยสร้างผลงานพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดดจนเป็นที่จดจำในฐานะ “บิดาแห่งมาเลเซียยุคใหม่” และที่ “โลก” รวมทั้ง “คนไทย” จดจำได้ดีก็คือ ในช่วงปี 2540-2543 ที่เกิดวิกฤตเงินบาททั่วเอเชีย อันเริ่มจากวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยก่อน มหาเธร์ไม่ยอมลดค่าเงินริงกิต ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และธนาคารโลกต้องการ และ ก็ฟันฝ่าวิกฤตไปได้ โดยเศรษฐกิจไม่เสียหาย ในขณะที่ไทยกระทำในทิศทางที่ตรงกันข้าม

ขณะที่ภาพของนายชวนนอกจากเรื่องของ “ความเป็นคนดี” และ “ความซื่อสัตย์” แล้ว ก็คือ “ความเชื่องช้า” และวลีอันตราตรึงอย่าง “ผมยังไม่ได้รับรายงาน” ยิ่งสถานการณ์ในเวลานี้ นายชวนไม่สมควรถูก “ลากถ่วง” ให้มาเปื้อนฝุ่นการเมืองอีก ซึ่งนายชวนก็ได้ปฏิเสธเรื่องการถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากแต่ต้องใช้ความเป็นผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้การยอมรับเป็น “ลมใต้ปีก” ผลักดันให้ “คนรุ่นหลัง” ก้าวขึ้นมาเพื่อเป็น “ทางเลือกใหม่” ของประชาชน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องการ “ความรวดเร็ว” (อ่านเพิ่มเติมคลิก “เมื่อ ปชป.ชูนายชวนโหนมหาเธร์โมเดล” )
ดร.มหาเธร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
เหตุผลเดียวที่กระแส “ชวนรีเทิร์น” ถูกปลุกขึ้นมาก็คือ กระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “เดอะมาร์ค-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ในการลงสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้น ตกเป็นรองพรรคการเมือง “ฝ่ายตรงข้าม” อย่าง “พรรคเพื่อไทย” หลายขุม กระทั่งสามารถฟันธงได้ว่า ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่พรรคประชาธิปัตย์สามารถเสนอชื่อนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 68 ของตามรัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ปฏิรูปแบบ “ลุงตู่” VS ปฏิรูปแบบ “มหาเธร์

“ผมไม่ได้ต้องการหาทางแก้แค้น ผมแค่ต้องการกอบกู้หลักนิติธรรม"

นั่นคือคำกล่าวของมหาเธร์หลังได้รับชัยชนะ ซึ่งมีนัยสำคัญยิ่ง เนื่องเพราะเป้าหมายในการกลับสู่สนามเลือกตั้งของมหาเธร์ก็คือ การเดินหน้ากวาดล้างขบวนการทุจริตกรณีเงินหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งถูกยักยอกไปจาก กองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ซึ่ง นาจิบ ราซัคเป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร

อย่างไรก็ดี หากย้อนหลังถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “มหาเธร์-นาจิบ” ก็ต้องใช้คำว่า “ลึกล้ำเหลือกำหนด”

หนึ่ง-เพราะมหาเธร์คือผู้ที่แต่งตั้งให้นาจิบเป็นรัฐมนตรีหลังจากเพิ่งจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮมที่อังกฤษ และเพิ่งได้ตำแหน่ง ส.ส. จากนั้นก็ได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ภายใต้ครม.ของมหาเธร์ และในที่สุดมหาเธร์ก็สนับสนุนให้นาจิบก้าวขึ้นมาแทนที่อดีตนายกฯ อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี เมื่อปี 2009

สอง-เพราะบิดาของนาจิบคือ “อับดุล ราซัค” นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย หนึ่งในผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจจักรวรรดิอังกฤษ หรือเป็นหนึ่งในกลุ่มบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีบุญคุณอย่างมากกับมหาเธร์ โดยเฉพาะการชักนำให้มหาเธร์ก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมือง ก้าวสู่การเป็นรัฐมนตรีและกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในที่สุด

เรียกว่า ถ้าไม่มี “อับดุล ราซัค” ก็ไม่มี “มหาเธร์” ในวันนี้

ดังนั้น การจัดการกับนาจิบจึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองไทยในยุคนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่าง

เพียง 24 ชั่วโมงที่กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มหาเธร์สร้างผลงานที่ทำให้ประชาชนชาวมาเลเชียประทับใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามนาจิบออกนอกประเทศ การส่งกำลังตำรวจล้อมบ้านพักเพื่อป้องกันการหลบหนี พร้อมๆ กับสั่งปลดอัยการสูงสุดที่ช่วยให้นาจิบพ้นจากข้อหาทุจริต รวมถึงการประกาศรื้อฟื้นคดีทุจริตสมัยรัฐบาลนายนาจิบ และดึงคนดีมีความสามารถเข้าร่วมงานรัฐบาล แม้จะเป็นศัตรูทางการเมืองเก่าก็ตาม

ขณะที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมิได้กระทำเหมือนมหาเธร์ โดยเฉพาะกรณีของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตรับจำนำข้าว และตัดสินใจ “หนีออกนอกประเทศ” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่รับรู้ว่า มีการส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าประกบและติดตามอย่างใกล้ชิด จึงหนีไม่พ้นการถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่า “ตั้งใจให้หนี”

“มหาเธร์หยุดกิจกรรมการเมือง เกษียณไปถึง 15 ปี ก็มาเจอกับการฉ้อโกงเงินของแผ่นดินอย่างโจ๋งครึ่ม โดยนายกฯ นาจิบที่มหาเธร์อุ้มชูมากับมือ ข้อมูลการฉ้อโกงกองทุน 1MDB ออกมาอย่างแจ่มแจ้ง และทำให้ดร.เอ็มตัดสินใจเลือกตอบแทนพระคุณของแผ่นดินที่เขาเกิด แทนที่จะเก็บตัวเงียบอยู่สบายๆ ยามเกษียณ เพราะอายุก็มากถึงเลข 9 แล้ว และป่วยโรคหัวใจ 2 ครั้งจนต้องทำบอลลูน มหาเธร์เลือกที่จะลุกขึ้นมาเพื่อโค่นคนโกงชาติอย่างโจ๋งครึ่ม และดูถูกเพื่อนร่วมชาติว่าไม่มีทางโค่นอำนาจมหาศาลของเขาลงได้ เพื่อไม่ให้คนโกงชาติยังคงดำรงอิทธิพลและโกงชาติต่อไปเขาจึงลาออกจากพรรค UMNO เพราะ UMNO ไม่ได้จัดการตรวจสอบกระชากหน้ากากนาจิบ แล้วมาร่วมสู้กับอันวาร์”

“ดร.มหาเธร์บอกเรื่องปราบคอร์รัปชัน จะเห็นว่ากรณีนาจิบที่กำลังเตรียมขึ้นบินออกจากมาเลเซีย ดร.มหาเธร์สั่งห้ามทันที ซึ่งต่างจากประเทศไทย เรามี ม.44ไว้ทำอะไร เรื่อง GST (ระบบภาษีสินค้าและบริการ) หลังๆ มานี้ราคาน้ำมันโลกตก มาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ทีนี้นาจิบจึงไปขูดภาษี GST นำรายรับเข้าประเทศ จ่ายภาษีทุกครั้งกับบริการทุกอย่าง เก็บภาษีเพราะน้ำมันราคาตก แต่ประชาชนรู้สึกจนลง ดร.มหาเธร์จะเลิก GSTล้มกฎหมายข่าวปลอมของนาจิบที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ทบทวนโครงการที่ลงทุนกับประเทศจีน รวมทั้งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็ก 11 กระทรวง 11 คน ซึ่งสมัยนาจิบ มี 25 คนเพื่อลดค่าใช้จ่ายและรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาทำงานทันทีใน 2 วันแรก” อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เปรียบเทียบจนทำให้เห็นภาพชัดแจ้ง

ยิ่งเมื่อตรวจสอบลึกลงไปถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ยิ่งเห็นได้ชัดถึงความแตกต่าง เนื่องเพราะในยุคที่มหาเธร์บริหารประเทศนั้น ได้ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน มี “การปฏิรูปประเทศ” จนเป็นที่ยอมรับของทั้งคนมาเลเซียและคนทั้งโลก ที่สำคัญคือเมื่อกลับขึ้นมามีอำนาจก็ทำงานทันที ขณะที่รัฐบาล คสช.ที่มีอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์เต็มอยู่ในมือกลับมิได้มีการปฏิรูปอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม

อ.สุดาทิพย์ ยังได้วิเคราะห์อย่างเผ็ดร้อนด้วยว่า ชัยชนะถล่มทลายของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของมาเลเซียครั้งนี้ ส่วนหนึ่งคือการผนึกกำลังของผู้ที่เคยฟาดฟันกันมาหลายคู่ ตั้งแต่คู่นายกฯ มหาเธร์กับอันวาร์ และคู่ของนายกฯ มหาเธร์กับพ่อลูกตระกูลลิ้ม (ลิ้ม กิต เสียง และลิ้ม กวน เอ็ง) ซึ่งมหาเธร์ได้ใช้อำนาจค่อนข้างเผด็จการในการจัดการกับผู้ประท้วงกฎหมายความมั่นคงที่แข็งกร้าวของเขา จนทำให้พ่อลูกตระกูลลิ้ม ต้องไปติดคุกหลายครั้ง รวมทั้งอันวาร์ที่โดนข้อหาลักเพศด้วย แต่เหล่าผู้ถูกจับในยุคมหาเธร์ ไม่มีสักคนเดียวที่หลบลี้ไปอยู่ดูไบ ก็เพราะภารกิจเพื่อชาตินั้น ต้องยอมรับต่อความเจ็บปวดที่ได้รับแม้ตัวเองจะรู้อยู่เต็มอกว่า คดีความเป็นเรื่องทางการเมือง และตนถูกกล่าวหาจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม! ประเทศไทยก็ขาดคนที่รักชาติจนสามารถเสียสละชีวิต เพื่อต่อสู้ในสิ่งที่ตนยึดมั่น ไม่ใช่รีบหนีดื้อๆ ผ่านดอนเมือง (หรือช่องทางธรรมชาติ) ไปอยู่ดูไบ!

“อันวาร์ และลิ้ม กวน เอ็งไม่ขี้ขลาดและพูดโกหกว่ารักชาติ ทั้งๆ ที่รักแต่เงินงบประมาณที่จะตักตวงโกงกินมาจากหยาดเหงื่อของประชาชน อันวาร์ได้ออกมาจากคุกแล้วเพื่อรอขึ้นมาเป็นนายกฯ ในอีกไม่นาน พร้อมกับ ลิ้ม กวน เอ็ง เข้ามารับตำแหน่ง รมต.คลัง เพื่อขับเคลื่อนมาเลเซียให้รุดหน้าต่อไป หวังว่า คนที่มีจิตใจแน่วแน่และยอมเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริงที่มาเลเซีย (ซึ่งหายากมากในไทย) จะไม่นำพาขับเคลื่อนมาเลเซียให้แซงหน้าไทยไปได้อย่างไม่เห็นฝุ่นเท่านั้น”อ.สุดาทิพย์สรุปทิ้งท้าย

กล่าวสำหรับ ลิ้ม กวน เอ็ง นั้น เคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีรัฐปีนัง และเคยอยู่ในแวดวงการธนาคารมาก่อน อีกทั้งเป็นบุตรชายของ ลิ้ม กิต เสียง อดีตผู้นำฝ่ายค้าน ถือเป็นรัฐมนตรีคลังเชื้อสายจีนคนแรกในรอบ 44 ปี ของมาเลเซีย นอกจากนี้ ลิ้ม กวน เอ็งยังเป็นคนที่มหาเธร์เคยสั่งจำคุกมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยนักวิเคราะห์มองว่า การแต่งตั้งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการประสานรอยร้าวทางเชื้อชาติระหว่างชาวมาเลย์ กับพลเมืองเชื้อสายจีน

วันนี้ การเมืองมาเลเซียกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายปี หลังตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังจากรัฐบาลนาจิบ ซึ่งเต็มไปด้วยการโกง การเล่นพรรคเล่นพวก การสมคบคิดกับข้าราชการเพื่อปกปิดความผิดตัวเอง และที่สำคัญนักการเมืองที่สร้างความเสียหายให้ประเทศมาเลเซีย กำลังถูกมหาเธร์กวาดล้าง

ขณะที่ประชาชนชาวไทยนั้น ต้องยอมรับว่า ครั้งหนึ่งเคยมีความรู้สึกเดียวกับประชาชนชาวมาเลเซีย หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทว่า ผลงานช่วง 4 ปีผ่านไปของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เทียบไม่ได้กับผลงานเพียงวันเดียวของมหาเธร์

ว่าไปแล้ว แทบทุกเสียงต่างชี้ตรงกันว่า “สอบตก” ในทุกด้าน โดยเฉพาะ “วาระปฏิรูป” ที่ดูจะไม่คืบหน้าไปไหน

เหมือนดังที่ “ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) วิเคราะห์เอาไว้ว่า “ใครที่ติดตามการปฏิรูปประเทศอย่างใกล้ชิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์ คงเหนื่อยไม่แพ้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้คณะบุคคลจำนวนนับพันคน ใช้เงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาท และจัดตั้งองค์การมากมายหลายรูปแบบดำเนินการคิดค้นแนวทาง และมาตรการสำหรับการปฏิรูป ผลผลิตที่ออกมาเป็นอักขระนับหมื่นแสนคำ ซึ่งมีจำนวนข้อบัญญัตินับไม่ถ้วนจารึกลงในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และเอกสารตีพิมพ์ ทว่ามีการนำไปปฏิบัติเพียงน้อยนิด และมีผลลัพธ์ดั่งละอองธุลี ราวกับการปฏิรูปเป็นเพียงม่านหมอกและเงาเมฆอันเลื่อนลอย”

ไม่นับรวบการจัดการกับปัญหาทุจริตที่ไม่เคยดำเนินการใดๆ กับบรรดา “น้องพี่ที่รัก” และลากถ่วงต่อไปโดยไม่สนใจไยดีกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขรมทั้งแผ่นดิน ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนที่สุดก็คือกรณี “นาฬิกาหรู”

นี่นับเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้




กำลังโหลดความคิดเห็น