xs
xsm
sm
md
lg

‘นาค’ ในสายธารอารยธรรมอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด และ นายชัชวาลย์ จันทร์อดิศรชัย

(ซ้าย) ภาพนาคแผ่พังพานบังฝนให้พระกฤษณะขณะข้ามแม่น้ำยมุนา จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมืองมุมไบ บันทึกภาพโดย ผู้เขียน (ขวา) นาคราวบันไดที่อาคารเทวาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพโดย ผู้เขียน
อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด และนายชัชวาลย์ จันทร์อดิศรชัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทความในคอลัมน์พินิจอินเดียฉบับนี้มีความพิเศษอีกครั้ง ด้วยมีนายชัชวาลย์ จันทร์อดิศรชัย นิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นนักเขียนรับเชิญร่วมกับผู้เขียนประจำ ด้วยมีจุดประสงค์ที่คณาจารย์ทีมอินเดีย จุฬาฯ ต้องการสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานคุณภาพของนิสิตที่ตั้งใจศึกษาค้นคว้าเรื่องอินเดีย ให้ได้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน บทความมีเนื้อหาดังนี้

งู ในภาษาสันสกฤตมีใช้อยู่มากมาย เช่น อุรคะ สรปะ ภุชังคะ แต่คำที่พบบ่อยมากคือคำว่า ‘นาคะ’ หรือ ‘นาคี’ ในเพศหญิง ผู้เขียนพบว่ามักใช้ ‘นาคะ’ เมื่อต้องการแสดงความหมายถึงงูที่มีชาติสูง รวมถึงอมนุษย์ชนิดหนึ่งที่บุญญาธิการ และมีภาวะแห่งเทพ

นาคะ หรือนาค นอกจากหมายถึงงูแล้ว ในวรรณกรรมทางพุทธศาสนายังหมายถึงช้างสำคัญ เช่น ‘ปัจจยนาเคนทร์’ ในมหาเวสสันดรชาดก และหมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐด้วย อย่างไรก็ตามในบทความนี้เมื่อใช้คำว่า นาค ย่อมหมายถึงงูสามัญทั่วไป หากกล่าวถึงนาคที่มีภาวะแห่งเทพจะใช้คำว่า ‘นาคราช’

อาทิบรรพในมหาภารตะกล่าวถึงกำเนิดของนาค และความขัดแย้งระหว่างครุฑกับนาคไว้ว่า เทพฤษีกัศยปะมีภรรยามาก ในบรรดาภรรยาเหล่านั้นมีสองนางนามว่ากัทรุ และวินตา นางกัทรุได้ให้กำเนิดบุตรเป็นไข่จำนวน ๑,๐๐๐ ฟอง และฟักออกมาเป็นงูทั้งสิ้น ส่วนนางวินตาคลอดเป็นไข่ ๒ ฟอง นางอดใจรอไข่ฟักไม่ไหวจึงแกะเปลือกไข่ฟองแรกออกก่อนกำหนด ปรากฏเป็นเทพบุตรรูปงามนามว่า ‘อรุณ’ แต่กำเนิดมามีร่างไม่สมประกอบ ด้วยความโกรธจึงสาปมารดาตนเองให้กลายเป็นทาสของนางกัทรุเสีย จะเป็นไทได้ก็ต่อเมื่อน้องของตนที่ยังอยู่ในฟองไข่จะช่วยเหลือแก้ไขจึงสำเร็จ จากนั้นอรุณก็ไปอยู่ร่วมกับพระสุริยเทพ ส่วนไข่อีกฟองนั้นได้ฟักออกมาเป็นครุฑ ต่อมาเมื่อนางวินตาแพ้พนันจึงต้องตกเป็นทาสนางกัทรุเป็นเวลา ๕๐๐ ปี ครั้นครุฑนำน้ำอมฤตมาให้แก่พวกนาคตามสัญญาแล้วจึงไถ่นางวินตาเป็นไท

ในมหาภารตะยังกล่าวถึงนาคที่มีความสำคัญอีก ๔ ตนได้แก่ เศษะ วาสุกี ไอราวัต และตักษกะ

ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงนาคราช ๒ ตนเท่านั้น คือเศษนาคราช และวาสุกีนาคราช

เศษนาคราชมีเศียรนับพันเศียร เศษะ แปลว่า เหลือ ได้นามนี้เนื่องจากเมื่อโลกแตกสลายลงในปลายกัลป์ เศษนาคราชจะไม่ถูกทำลายไปด้วย เศษนาคราชยังมีชื่ออื่นอีกเช่น อาทิ เศษะ มีความหมายว่า กำเนิดขึ้นเป็นนาคตนแรก อนันตเศษะ มีความหมายว่า มีกายใหญ่โตไม่มีที่สิ้นสุด คัมภีร์ปุราณะกล่าวถึงขนาดตัวว่า เศษนาคราชสามารถโอบทั้งจักรวาลไว้ภายในพังพานของตนได้ และอาทิบรรพในมหาภารตะยังมีเรื่องราวอีกว่า พระพรหมได้ขอให้เศษนาคราชหนุนแผ่นดินไว้ให้มั่นคง เศษนาคราชจึงมุดลงบาดาลเพื่อหนุนโลกไว้ และถือการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่งคือทุกปากนั้นจะพร่ำสรรเสริญพระเกียรติของพระวิษณุตลอดเวลา หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเศษนาคราชก็คือการทอดตนเป็นแท่นบรรทมของพระวิษณุกลางเกษียรสมุทร ดังมีชื่อเรียกปางนี้ว่า ‘อนันตสยนะ’ การที่พระวิษณุบรรทมบนแท่นเศษนาคราชโดยมีพระลักษมีประทับปลายแท่นคอยเฝ้าปรนนิบัตินั้นสอดคล้องกับคติที่เศษนาคราชสามารถหนุนรับแผ่นดินทั้งสิ้นได้ กล่าวคือโลกใบนี้ย่อมตั้งอยู่บนตัวเศษนาคราชตนนั้นนั่นเอง จึงอาจสรุปได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของพระวิษณุผู้เป็นจอมเทพได้สะท้อนออกมาผ่านมโนทัศน์ ‘นารายณ์บรรทมสินธุ์’ คือพระวิษณุบรรทมเหนือบัลลังก์เศษนาคราช พระวิษณุคือโลก และโลกก็คือพระวิษณุนั่นเอง

ในคติของฮินดูสายไวษณพนิกายยังปรากฏบทบาทของเศษนาคราชคู่กับพระวิษณุในการปราบอธรรมในรามายณะ เมื่อพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระราม เศษนาคราชได้ตามลงมากำเนิดเป็นพระลักษมณ์ พระอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน ร่วมออกบวช และเดินทางรอนแรมในป่าเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งได้ปราบอสูรราวณะหรือทศกัณฐ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ของไทย ส่วนในมหาภารตะคราวที่พระวิษณุอวตารมาเป็นกฤษณะ เศษนาคราชได้กำเนิดเป็นพลราม พระเชษฐาของพระกฤษณะด้วย

สำหรับวาสุกีนาคราช ผู้เป็นน้องของเศษนาคราชนั้น มีลักษณะพิเศษคือมี ‘นาคมณี’ ประดับอยู่บนศีรษะ นาคราชตนนี้เป็นมาลาสวมพระศอของพระศิวะ เพื่อแสดงว่าพระศิวะเป็นผู้ไม่กลัวสิ่งใด ๆ

บทบาทที่สำคัญของวาสุกีนาคราชนั่นคือในตอนกวนเกษียรสมุทร ในคัมภีร์ปุราณะระบุว่าเทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้รับน้ำอมฤต วาสุกีนาคราชจึงพันตนรอบภูเขามันทระที่นำมาเป็นไม้กวน ในระหว่างนั้นเองวาสุกีนาคราชได้คายพิษชื่อว่า ‘หลาหล’ ออกมา พิษนี้มีอันตรายรุนแรงมากต่อสรรพสัตว์แม้แต่เทวดาเอง พระศิวะจึงกลืนพิษทั้งหมดแล้วกักไว้ในพระศอ พระนางปารวตียังช่วยจับพระศอของพระศิวะไว้อีกทีเพื่อป้องกันไม่ให้พระองค์สำรอกควันออกมา ด้วยพิษนี้เองที่ทำให้พระศอของพระศิวะกลายเป็นสีดำ จึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า นีลกัณฐ์ แปลว่าคอสีดำ

ในปัจจุบันยังมีเทศกาลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงูอยู่ นั่นคือเทศกาลนาคปัญจมี จัดขึ้นในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนศราวณะในระบบปฏิทินจันทรคติฮินดู ซึ่งตกอยู่ในราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ความเป็นมาของพิธีนี้ปรากฏในมหาภารตะว่า พระเจ้าชนเมเชยะ โอรสของพระเจ้าปริกษิตแห่งราชวงศ์กุรุจัดพิธีสรัปสัตระ หรือพิธีบูชายัญด้วยงูเพื่อแก้แค้นที่บิดาของตนถูกตักษกนาคราชกัดสิ้นพระชนม์ พิธีกรรมนี้มีพลานุภาพรุนแรงมาก ทำให้งูทั่วโลกพากันตกลงไปในกองไฟ ต่อมาเมื่อพราหมณ์ผู้ทำพิธีได้รู้ว่าตักษกนาคราชรอดพ้นไปได้ด้วยมีพระอินทร์ช่วยเอาไว้ จึงท่องมนต์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น นาคราชจึงพยายามพันตัวพระอินทร์ให้แน่นแต่ก็ไม่อาจทานกำลังมนต์ได้ ในที่สุดก็ตกลงไปในกองไฟพร้อมกับพระอินทร์ เทวีมนสา น้องสาวของวาสุกีนาคราชส่งอัสติกะ บุตรชายของตนไปขอร้องให้ยุติพิธีเสีย พระเจ้าชนเมเชยะ ราชาผู้ไม่เคยละเว้นการให้ทานแก่พราหมณ์ที่มาขอ พระองค์จึงยอมให้ยุติพิธี ทำให้นาคราช พระอินทร์และงูอื่น ๆ มีชีวิตรอด ด้วยเหตุนี้พระอินทร์จึงบูชานางมนสาเทวีทุกๆ วันขึ้น ๕ ค่ำเดือนศราวณะ อันเป็นวันที่เลิกพิธียัญดังกล่าว

บางแห่งกล่าวว่าเทศกาลนาคปัญจมี เป็นการบูชาเพื่อฉลองชัยชนะของพระกฤษณะที่มีต่อพญานาคกาลิยะ ดังตำนานว่า พระกฤษณะเมื่อครั้งยังเยาว์ได้เล่นซุกซนกับเด็กเลี้ยงวัวคนอื่น ๆ ใกล้แม่น้ำยมุนา เมื่อลูกคลีขึ้นไปติดบนกิ่งไม้สูงบนฝั่งแม่น้ำ พระกฤษณะอาสาปีนขึ้นไปเอาลงมา บริเวณใต้น้ำนั้นเองที่นาคกาลิยะอาศัยอยู่ พระกฤษณะพลัดตกจากต้นไม้ลงไปในแม่น้ำทำให้นาคกาลิยะโกรธ แต่พระกฤษณะกลับกระโดดขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะของนาคกาลิยะ และปราบนาคนั้นได้ เมื่อนาคกาลิยะได้ขอขมาต่อพระองค์ พระกฤษณะก็ให้อภัย บางแห่งกล่าวว่าพระกฤษณะสังหารนาคกาลิยะเสีย

อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่ามีชาวนาผู้หนึ่งไถนาในวันขึ้น ๕ ค่ำเดือนศราวณะ ด้วยความประมาทจึงไถคร่าชีวิตลูกงูบางตัวตายไป แม่ของงูจึงตามมาแก้แค้นโดยตามไล่กัดทุกคนในครอบครัวให้ตาย ครั้นตามไปถึงลูกสาวของชาวนาซึ่งกำลังประกอบพิธีบูชานาคอยู่ โดยตั้งจอกนมเอาไว้ แม่งูดื่มนมในจอกนั้นแล้วก็คลายความโกรธลงไป และมอบน้ำวิเศษเพื่อชุบชีวิตคนในครอบครัวที่ตนกัด

ในเทศกาลนาคปัญจมี ผู้คนจะบูชางูในรูปต่าง ๆ เช่น นวนาค รูปนาค ๙ ตัวสลักบนไม้ หิน แผ่นเงิน หรือวัสดุอื่น ๆ แม้กระทั่งบูชางูตัวเป็น ๆ โดยการถวายน้ำนม และเมล็ดข้าวสาร เชื่อว่าถ้างูดื่มนมของใครแล้วจะไม่ทำอันตรายคนในครอบครัวนั้นตลอดปี และยังมีข้อห้ามว่าไม่ควรไถนาในวันนั้นอีกด้วย

ตำนานต่าง ๆ ดังที่ได้แสดงมานี้ อาจพิจารณาได้ว่า แม้งูจะเป็นสัตว์อันตรายมีพิษร้ายในความรู้สึกของคนทั่วไป ทว่าในกระแสธารแห่งอารยธรรมอินเดียได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของงู หรือนาคที่แฝงด้วยคติทางคุณธรรมบางประการเช่น การเสียสละอุทิศตน การน้อมรับใช้ ความเมตตากรุณา การให้อภัย และความเอื้อเฟื้อต่อสรรพชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น