ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์หรือพยากรณ์อนาคต แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเพื่อเตรียมตัวไว้ ข้อเขียนเหล่านี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการส่วนตัว มีเหตุผลและตัวเลขประกอบอาจจะถูกต้องหรือไม่ก็ได้ แต่ก็ขอให้ลองไปคิด ว่าเก้าวิกฤติแรงงานไทยเหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเพียงใดและจะแก้ไขได้อย่างไร
วิกฤติ 1. แรงงานพม่าจะกลับประเทศ
ใน 10 ปีข้างหน้าพม่าน่าจะพัฒนาไปมากขึ้น และในอีกสิบปีข้างหน้าหากพม่าพัฒนาไปมากกว่านี้มากแล้วนั้นน่าจะทำให้คนงานพม่าอยากกลับประเทศของตนเอง เมื่อถึงเวลานั้นคนงานจำพวก 3D คือ dirty, dangerous, และ demanding จะยิ่งหายาก เราจะยืมจมูกคนงานพม่าหายใจไปตลอดไม่ได้ ถ้าแรงงานพม่ากลับไปหมด เศรษฐกิจไทยจะกระทบกระเทือนมาก ต้องคิดหาทางไว้ให้ดีว่าจะแก้ปัญหากันได้อย่างไร
วิกฤติ 2. แรงงานไทยจะขาดแคลน
เพราะเกิดภาวะประชากรถดถอย โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ
และเพราะเด็กไทยไม่อยากเรียนอาชีวศึกษา และอาชีวศึกษาที่มีก็หลงทางไปเป็นอุดมศึกษาชั้นเลว แทนที่จะเป็นอุดมศึกษาชั้นดีมีความเฉพาะเจาะจง เช่น บัญชี ต้องพาณิชยการพระนคร ภาษาต่างประเทศต้องบพิตรภิมุข เป็นต้น ประเทศต้องการแรงงานฝีมือระดับอาชีวะไม่ใช่ปริญญาตรีโหล ๆ ไร้คุณภาพเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อุดมศึกษาก็จะมีปัญหาเช่นกัน แรงงานทาง Science, Technology, Engineering, and Mathematics (STEM) ขาดแคลน เพราะเด็กนักศึกษาจะเรียนอะไรก็ได้เรียน ไม่มีการแข่งขัน การกู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่มีการผูกพันอันใดกับความสามารถในการหารายได้ภายหลังสำเร็จการศึกษา เรียนอะไรก็ได้ให้ได้ใบปริญญา ไม่มีการวางแผนการผลิตโดยดูจากการพยากรณ์อุปสงค์ (Demand Forecasting) อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการจีนทำและจำกัดจำนวนการเรียนการสอนในแต่ละวิชา ในประเทศไทยปล่อยให้เรียนตามใจเด็กเพราะพวกนักการศึกษาเชื่อในเรื่อง Education for all แทบทั้งหมด เด็กสมัยใหม่ไม่ต้องการเรียนหนังสือมากนัก อยากรวยเร็ว ทางลัด ได้เงินง่ายไม่ต้องทำงาน slow life แรงงานวิชาชีพ แรงงานใช้ความรู้ (knowledge worker) จะขาดแคลนมากเป็นบางสาขาวิชา
วิกฤติ 3. คนไทยจะไม่ตกงานแต่จะเกิดการจ้างงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา (Underemployment) มากขึ้นเรื่อย ๆ
ประเทศไทยเรามีปริญญาบัตรเป็นใบเบิกทาง แต่ความรู้ไม่มีจริง เราจ้างเด็กจบปริญญาตรีมาเป็นแคชเชียร์ขายของในร้านสะดวกซื้อซึ่งจ้างคนที่จบ ม.3 ก็สามารถทำได้และอาจจะทำได้ดีกว่าด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่าเราจะลงทุนด้านการศึกษาไปมากมายแต่สุดท้ายได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาไม่เพียงพอ และต้องลดลงมาทำงานระดับต่ำกว่าความรู้ (หรืออันที่จริงอาจจะได้ทำงานเหมาะกับความรู้ที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาก็ได้ ซึ่งก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว) เป็นการสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างรุนแรง
วิกฤติ 4. คนไทยจะไม่ตกงานแต่จะมีการว่างงานแฝง (Hidden unemployment) สูงมาก
เดิมการว่างงานแฝงของไทยเป็นการว่างงานแฝงในภาคเกษตรกรรม ทำเกษตรเชิงเดี่ยว พอหมดฤดูกาลทำนาก็ว่าง พอว่างก็ชวนกันตั้งวงกินเหล้า เล่นการพนัน ทำให้เสียเงินมากขึ้นไปอีก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำไร่นาสวนผสม ทำให้ทำนาไร่สวนสลับกันไปทั้งปี ลดการว่างงานแฝงลง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ก็พระราชทานให้ชาวนาชาวไร่ทำงานศิลปาชีพ ทำให้ลดการว่างงานแฝงลง ในอนาคตข้างหน้าแรงงานภาคเกษตรจะลดลง คนจะอพยพเข้ามาอยู่ในตัวเมืองมากขึ้นและตัวเมืองก็ขยายออกมากเช่นกัน
แต่ที่หน้าห่วงคือเด็กสมัยนี้ชอบอาชีพอิสระหรือทำมาค้าขายด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการทำงานเป็น freelance หรืออาชีพอิสระ ที่มีความไม่แน่นอนและยังไม่มีฝีมือและชื่อเสียงเพียงพอ จะไม่ได้มีงานทำสม่ำเสมอ ทำให้มีการว่างงานแฝงสูงมาก หลายคนเลือกขายของออนไลน์ซึ่งก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดการว่างงานแฝงมากขึ้นเช่นกัน จะเกิดการเคลื่อนคลายจากการว่างงานแฝงในภาคเกษตรมาสู่การว่างงานแฝงในกลุ่ม freelance ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ
วิกฤติ 5. แรงงานไทยมีทักษะล้าหลัง (obsolete skill) จะตกงานมากมาย ปรับตัวไม่ทัน
ขนาดในอินเดีย ที่เมืองบังกาลอร์ ยังมีการปลดแรงงานด้านไอทีออกไปมากมาย ว่ากันว่า สองในสามของแรงงานไอทีของอินเดียจะหายไปในสิบปีนี้ ความรู้และทักษะใหม่ ๆ เช่น ความมั่นคงไซเบอร์ วิทยาการข้อมูล และ cloud computing นั้นเป็นสิ่งที่ต้องการ แต่แรงงานไอทีของอินเดียรุ่นเก่าไม่มีพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ซึ่งต้องอาศัยคณิตศาสตร์ค่อนข้างมาก แล้วแรงงานไอทีไทยซึ่งไม่ได้เก่งเท่าจะเหลืออะไร จะเอาอะไรไปสู้หรือไปปรับตัว ภาษาอังกฤษก็เป็นอุปสรรคหลัก แม้กระทั่งพนักงานเสิร์ฟกาแฟในร้านกาแฟย่านสุขุมวิทยังไม่จ้างคนงานไทยเลย ต้องคนงานฟิลิปปินส์ ไปพิสูจน์กันได้ไม่ยาก
วิกฤติ 6. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และ Disruptive Technology ตลอดจนหุ่นยนต์จะทำให้อาชีพหลายอาชีพหายไป ทำให้คนตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ให้หุ่นยนต์ทำแทนได้ หรือแม้แต่งานคำนวณที่ยุ่งยากหากทำซ้ำ ๆ คอมพิวเตอร์ก็จะทำได้ดีกว่าคน ตัวอย่างงานดังกล่าวได้แก่ ตัวแทนขายประกันภัย teller ของธนาคารพาณิชย์ พนักงานโรงงานจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปในจีนของ CP ที่ใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทบทั้งหมดทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้มาก ไม่นานแรงงานฝีมือระดับต่ำของไทยจะถูกหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์แย่งงานไปจนหมดสิ้น
วิกฤติ 7. แรงงานต่างชาติจะมีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะระดับบริหารและวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้มาก ๆ
เนื่องจากคนไทยมีความรู้ไม่พอ มี obsolete skill และทุนข้ามชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลกที่เน้น liberalization ทำให้มีแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ คนไทยจะกลายเป็นลูกน้องต่างชาติ แม้กระทั่งการค้าขายต่าง ๆ ก็จะตกภายใต้ทุนจีน พ่อค้าเวียดนามและพม่า ผลไม้ไทยนั้นตกภายใต้ทุนจีน ลังผลไม้จีนแทบทั้งสิ้น ไปดูที่ตลาดไทหรือตลาด 4 มุมเมืองก็จะเริ่มเห็นได้ชัดเจน แม้กระทั่งแม่ค้าผักก็เป็นแม่ค้าจีนแล้ว ประเทศไทยน่าจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ปล่อยให้ต่างชาติมาทำมาค้าขายแบบนี้แย่งอาชีพคนไทยกันอย่างเปิดเผย ไม่มีการจับกุม หรือจะไปลองดูบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัยแถวประชาชื่นก็ได้ว่านักศึกษามาเรียนหนังสือจริง ๆ หรือมาเพื่อทำมาค้าขายกันแน่
วิกฤติ 8. แรงงานไทยจะเป็นแรงงานแก่และเกษียณ เริ่มเจ็บป่วยมากขึ้นมากและไม่มีเงินเก็บ
ภาวะประชากรสูงวัย (Aging Society) จะขยับเป็นภาวะประชากรสูงวัยเต็มตัว (Age society) แรงงานไทยรุ่นสึนามิประชากร ที่เกิดเกินล้านคนนับจากปี 2505-2536 จะทยอยเกษียณ ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกต่อไป และไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม แต่รอใช้เงินเกษียณหรือเงินบำนาญที่สะสมมา เป็นจำนวนมากมหาศาล กองทุนประกันสังคมจะยอบแยบเพราะต้องจ่ายบำนาญให้แรงงานไทยที่มีอายุเกษียณ (Pensionable age) ต่ำสุดในโลกคือ 55 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 67 ปี และมีอัตราการจ่ายสมทบรวม (Total contribution rate) แทบจะต่ำที่สุดในโลกเช่นกัน จำนวนประชากรแรงงานเกษียณจะไม่มีประกันสุขภาพในประกันสังคมอีกต่อไปแต่ต้องย้ายมาใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) แทน ทำให้โรงพยาบาลของรัฐยิ่งขาดทุนและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไปไม่รอดก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะกับประเทศไทยมหาศาล
วิกฤติ 9. วิกฤติพยาบาล จะเป็นวิกฤติหนักมาก สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ จะขาดแคลนพยาบาลอย่างหนัก เพราะพยาบาลเป็นงานหนักมาก และมี career path สั้นมาก ปวดหลัง เสียสุขภาพ และปัญหาอื่นๆ อีกมาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000050045
งานที่เป็นงานบริการ งานหนัก เด็กสมัยใหม่จะไม่อยากทำยกเว้นต้องได้ค่าตอบแทนดีจริงๆ เรื่องนี้ยังไม่มีทางออกง่าย
สัปดาห์หน้ามาหาทางออกสำหรับ 9 วิกฤติแรงงานไทยในสิบปีข้างหน้าด้วยกันครับ