xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

พระบรมราโชบายสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บดินทรเทพยวรางกูร

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business Analytics and Data Science
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถายันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานและสนทนากับอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏจากหลาย ๆ ที่ทำให้ทราบว่าสถาบันราชภัฏแทบทุกแห่งกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง อันได้แก่ จำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ รุนแรง โดยเฉพาะสาขาวิชายอดนิยมอย่างสาขาบริหารธุรกิจหรือสาขาวิชารัฐศาสตร์และบริหารรัฐกิจ และบางแห่งเริ่มมีการยุบควบรวมหน่วยงานยุบภาควิชา ยุบรวมหน่วยงานและคณะรวมกัน มีแนวโน้มที่สถาบันราชภัฏหลายแห่งจะไปได้ไม่รอด ยิ่งระบบ TCAS ที่คัดกรองเด็กเป็นชั้น ๆ โดย clearing house ยิ่งทำให้โอกาสที่จะมีนักศึกษาเข้ามาศึกษาในสถาบันราชภัฏลดน้อยลงไป เพราะมหาวิทยาลัยปิดชั้นนำของรัฐจะได้นิสิตนักศึกษาไปก่อน ตามลำดับ ประกอบกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาซึ่งตั้งมากว่า 15 ปีแล้วแต่ก็ยังเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยเงินงบประมาณจากรัฐปีละเกือบสองหมื่นล้านบาทจึงจะอยู่รอดได้ ด้วยเหตุที่นักศึกษาที่จบไปไม่นำเงินมาใช้คืน ปัญหาคือเงิน กยศ. นี้มีแนวโน้มจะลดลงเนื่องจากขาดทุน ทำให้มีเงินปล่อยกู้น้อยลงและทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบเนื่องจากนักศึกษาไม่มีเงินให้กู้มายืมเรียนเพียงพอ

ในท่ามกลางปัญหาสารพัน มหาวิทยาลัยราชภัฏกลับมีแสงสว่างลงมาจากฟากฟ้า ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษา http://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2017/20170702-The-Education-Act.pdf บรรยายโดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้น้อมนำแนวพระบรมราโชบายไปปฏิบัติดังนี้

ให้ยกระดับมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน

โดยต้องวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย

เมื่อตกลงกันแล้วให้นำยุทธศาสตร์ใหม่มาพัฒนาใช้ และให้ปรับให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีท้องถิ่นด้วย

ดังนั้นทรงมีพระบรมราโชบายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓๘ แห่ง ทั่วประเทศ
1.ผลิตครูคุณภาพ
2.การศึกษามีคุณภาพ
3.พัฒนาท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ

รายละเอียดทั้งสองประการคือด้านคุณภาพการศึกษา (การพัฒนาครู) และด้านชุมชนและท้องถิ่นแสดงในรูปด้านล่างซึ่งนำเสนอโดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ทรงให้พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นผู้แทนพระองค์ในการติดตามและให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ อย่างใกล้ชิด


อันที่จริงแนวพระบรมราโชบายสำหรับราชภัฏนั้นคือการทำตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนามถบพิตรองค์พระผู้พระราชทานนามราชภัฏ เพราะราชภัฏแต่เดิมเป็นวิทยาลัยครู ทำหน้าที่ผลิตครู และทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาตลอดจนพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอยู่แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ คงอยากให้ราชภัฏทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง ได้ทราบมาจากชาวราชภัฏว่าทรงติดตามความก้าวหน้าจากพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณอย่างใกล้ชิด และพลเอกดาว์พงษ์เองก็มาติดตามความก้าวหน้าและเยี่ยมเยือนชาวราชภัฏ 38 แห่งอยู่บ่อยครั้ง หลายครั้งถือพระราชกระแสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ลงมาติดตามงานเอง ทำให้ชาวราชภัฏมีกำลังใจและมีความกังวลใจมากเช่นกันเนื่องจากเกรงว่าจะทำได้ไม่ดีพออย่างที่มีพระบรมราโชบายพระราชทานลงมา

พระบรมราโชบายนี้ทรงประสงค์ให้ราชภัฏกลับไปที่รากเหง้าเดิมที่ตนเองต้องทำและทำได้ค่อนข้างดีมากในอดีต แต่พอไปทำภารกิจอย่างอื่นมากเกินไปทำให้ สิ่งที่เคยทำได้ดีกลับจืดจางลง เรื่องนี้ทำให้นึกถึง Gary Hamel กับ C.K. Prahalad สองกูรูด้านกลยุทธ์ชื่อดังของโลกที่เขียนหนังสือ Competing for the future เอาไว้ว่าให้ return to core competence ให้ทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองทำได้ และต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองทำได้ดี เช่น Honda เก่งเรื่องเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ก็ให้ทำเรื่องที่ต่อเนื่องและต่อยอดกับเครื่องยนต์ขนาดเล็ก อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มไปทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด จะเกิดปัญหาและผลเสีย แข่งขันสู้เขาไม่ได้ พระบรมราโชบายที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์นี้เน้นใน ราชภัฏต้อง focus ในหน้าที่หลักและเป็นสิ่งที่ราชภัฏเคยทำได้ค่อนข้างดีมาแต่เดิมให้ดีขึ้นและต่อยอดขึ้นไปอีก

ผมเห็นด้วยกับพระบรมราโชบายเป็นอย่างยิ่ง คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งไปทุกอย่าง เพราะไม่มีทาง และเมื่อพยายามจะเก่งไปทุกทางสุดท้ายจะไม่เก่งสักทาง และทำได้แต่ของโหล ๆ ออกมาเหมือน ๆ กันไปหมด แม้จะทรงให้ราชภัฏ focus ไปแค่สามด้าน แต่อย่าลืมไปว่า ปัญหาครู ปัญหาการศึกษาในแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชนย่อมไม่เหมือนกัน และปัญหาของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกัน ปัญหาของครู/คุณภาพการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมแตกต่างจากในกรุงเทพมากมาย ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นภาษาไทยคือภาษาต่างชาติ และภาษายาวีคือภาษาหลัก ทำอย่างไรจะให้ไทยพุทธพูดภาษายาวีได้ และทำอย่างไรให้ข้าราชการพลเรือนทหารตำรวจ พูดภาษายาวีได้ ทำอย่างไรให้เด็กในปอเนาะสามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ เป็นต้น ในบางท้องที่/ชุมชน อาจจะเน้นเรื่องเกษตรกรรม บางท้องที่เน้นที่อุตสาหกรรม บางท้องที่เน้นที่พาณิชยกรรม หรือการท่องเที่ยวเป็นต้น พระบรมราโชบายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ที่มีต่อชาวราชภัฏจึงเป็นสิ่งที่ชาวราชภัฏแต่ละแห่งต้องนำไปขบคิด วิเคราะห์ ต่อยอดให้แตกต่างกันออกไปอีกตามสภาพพื้นที่ แนวคิดแบบ area-based research จำเป็นต้องมา และราชภัฏต้องทำหน้าที่เป็น Think Tank ของชุมชนและท้องถิ่นได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องนำความรู้ไปพัฒนาได้จริง ราชภัฏจำเป็นอย่างยิ่งที่จะน้อมนำพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเพื่อทำงานถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร พูดง่ายๆ คือ ใช้วิธีของพ่อในการทำงานถวายลูกเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

สิ่งที่ติดขัดเป็นปัญหาคือ สกอ ได้กำหนดพันธกิจของราชภัฏไว้กว้างกว่ามาก และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่สอดคล้องกับแนวพระบรมราโชบายเท่าที่ควร นี่เป็นสิ่งที่ชาวราชภัฏได้พูดกับผม ซึ่งก็มีเหตุผลพอรับฟังได้ตามสมควรอยู่

พระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์มีบุคลิกลักษณะนิสัยตลอดจนวิธีการทรงงานแตกต่างกันไป สิ่งที่ผมได้สัมผัสจากคำบอกเล่าของชาวราชภัฏคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ ทรงเอาพระทัยใส่ เอาจริงเอาจังมาก ติดตามใกล้ชิดมาก และทรงปรารถนาดีกับชาวราชภัฏและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง มีวิธีการทรงงานอันเป็นลักษณะเฉพาะของพระองค์เอง และองคมนตรีพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณก็ทำงานถวายเต็มที่ที่สุด ดังนั้นชาวราชภัฏก็สมควรต้องทำงานถวายให้หนักที่สุดด้วยเช่นกัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร จงทรงพระเจริญ


กำลังโหลดความคิดเห็น