xs
xsm
sm
md
lg

ชี้พิรุธประมูลผู้ขนส่งก๊าซ “ศิริ”ยันไม่ลดบทบาท“ปตท.-กฟผ.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สามารถ" ชี้พิรุธเปิดประมูลผู้ขนส่งก๊าซ ทำรัฐจ่ายแพง 1.9 พันล้าน “ก.พลังงาน” แจงรัฐบาลไม่มีนโยบายลดบทบาท “ปตท.-กฟผ.” ให้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 2 หน่วยงานจ่อลงนาม 2 ก.พ.นี้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและนวัตกรรมรับ 4.0

วานนี้ (18 ม.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุถึงโครงการความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทางรถไฟจาก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ไปยังคลังก๊าซในจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และลำปาง ว่า โครงการนี้ รฟท.มอบหมายให้ ปตท.เป็นผู้ลงทุนจัดหาหัวรถจักรจำนวน 5 คัน และรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีจำนวน 125 คัน พร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเป็นเวลา 25 ปี และรฟท.จะรับจ้างขนส่งก๊าซแอลพีจีให้ ปตท. โดยใช้หัวรถจักรและรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.จัดหามา ซึ่งทาง ปตท.ได้เปิดประมูลให้เอกชนผู้สนใจมาเป็นผู้จัดหาและซ่อมบำรุงรักษาแทนตนภายใต้โครงการชื่อ "โครงการจ้างผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรถไฟ" ตามประกาศของ ปตท. เลขที่ จคจพ.60164 ลงวันที่ 16 ส.ค. 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่เข้าร่วมประมูล แต่ก็มีเรื่องน่าสังเกตหลายประการ อาทิ การไม่เผยแพร่ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) ซึ่งเอกชนผู้สนใจจะรู้เนื้อหาสาระในทีโออาร์ก็ต่อเมื่อซื้อซองเอกสารประกวดราคาแล้ว ทำให้ยากที่จะจัดเตรียมเอกสารได้ทันเวลาและได้ครบตามที่ทีโออาร์ระบุไว้ อีกทั้งราคากลางอาจสูงเกินความเป็นจริงกว่าความเป็นจริงถึง 1,900 ล้านบาท

"โครงการนี้มีเอกชนผู้สนใจซื้อซองเอกสารประกวดราคาจำนวน 10 ราย แต่สามารถยื่นซองเข้าแข่งขันได้เพียง 2 ราย เท่านั้น คาดว่า ปตท.จะคัดเลือกและทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแล รฟท.และ ปตท.เร่งพิจารณาทบทวนโครงการความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับ ปตท.ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ให้มีราคากลางที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้เอกชนผู้สนใจจำนวนหลายรายได้เข้าแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพกันอย่างจริงจัง เรื่องแค่นี้อย่าให้ต้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) " นายสามารถ ระบุ

อีกด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะลดบทบาทของ ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยทั้ง2หน่วยงานยังคงบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคงได้แก่ ท่อก๊าซ สายส่งไฟ้า สถานีก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และโรงไฟฟ้าหลักที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศจะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง2แห่ง อย่างไรก็ตามสัดส่วนการผลิตไฟและก๊าซฯจะเป็นเท่าใดเพื่อความมั่นคงนั้นคงจะต้องรอให้มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP ) ฉบับใหม่แล้วเสร็จก่อนซึ่งกำหนดที่จะเสร็จในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และไม่ต้องการให้มีคำว่าโควตาการผลิตไฟว่าเป็นของใครแต่ขอให้เป็นสัดส่วนของความมั่นคงและการแข่งขันที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้ราคาค่าไฟถูกลงเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.ไม่เคยได้รับนโยบายที่ให้ลดบทบาทแต่กลับเพิ่มบทบาทที่จะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการลงทุนในเขตนวัตกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi)

ด้าน นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. นี้กฟผ.และปตท.จะทำข้อตกลง(เอ็มโอยู) เพื่อร่วมมือกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ที่จะมุ่งไปสู่การศึกษาและวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น การพัฒนาบุคคลากรร่วมกันไป ร่วมมือในการสร้างโรงไฟฟ้าและการจัดหาก๊าซฯที่เป็นเชื้อเพลิงร่วมกัน ฯลฯ.


กำลังโหลดความคิดเห็น