ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ประกาศผ่าตัดครั้งใหญ่รับศักราชใหม่ 2018 โดยแผนการเปลี่ยนฟีดข่าวของผู้ใช้ให้มีเนื้อหาจากครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้นและลดเนื้อหาที่เผยแพร่โดยสื่อ ธุรกิจ และสินค้าต่างๆ ให้น้อยลง แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้นำมาซึ่งความไม่ปลื้มของสื่อและธุรกิจ แม้แต่ผู้ใช้เองที่เคยติดตามข่าวสารจากฟีดข่าวของเฟซบุ๊ก
ผลจากการเปิดศึกล้างนิวส์ ฟีด ของเฟซบุ๊กครั้งนี้ ทำให้ทรัพย์สินของนายซัคเกอร์เบิร์ก ลดลงกว่า 3,300ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 1.05 แสนล้านบาท จากมูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กที่ลดต่ำลง เมื่อวันศุกร์ 12 ม.ค. 2018 โดยหุ้นของเฟซบุ๊กที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ลดลง 4.5% หลังจากที่เจ้าพ่อเฟซบุ๊กโพสต์แผนการเปลี่ยนฟีดข่าว
มูลค่าหุ้นที่ลดลงดังกล่าว ผลคือ บัญชีของนายซัคเคอร์เบิร์ก มีมูลค่าลดลงไปเหลือ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในดัชนีทรัพย์สินมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) ทำให้นายซัคเคอร์เบิร์ก เสียฐานะบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลกไป ทำให้มหาเศรษฐีวงการค้าปลีกชาวสเปน “อาเมนซิโอ ออร์เตกา” ขึ้นมาแทนที่
ตัวเลขนี้ถือว่าหักล้างกับความมั่งคั่งที่นายซัคเคอร์เบิร์ก ทำได้ช่วงต้นปีนี้ โดยช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกของปีนายซัคเคอร์เบิร์ก ได้รับอานิสงส์จากมูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กที่พุ่งขึ้น ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเริ่มต้นของปี 2018 จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค. 2018 ก่อนดิ่งลง
เจ้าพ่อเฟซบุ๊ค กำลังคิดวางแผนทำอะไรในระยะยาว ขุมทรัพย์ที่เฟซบุ๊กกำลังขุดใหม่และขุดให้ใหญ่ขึ้นคงมีค่ามหาศาล ถึงได้ยอมสูญเสียทรัพย์สิน(ชั่วคราว)นับแสนล้าน แผนการนี้ผลสะเทือนในวงกว้างทั้งแง่บวกและลบจะกระทบถึงใครบ้าง คำบอกกล่าวถึงเหตุผลที่นายซัคเกอร์เบิร์ก อ้างว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเพราะว่า “เราต้องการให้การใช้เวลาบน Facebook ไม่เพียงแต่มีความสุข แต่ยังต้องมีคุณค่ากับจิตใจของผู้ใช้งานด้วย” น่าเชื่อถือสักเพียงใด
ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ล่าสุดของเจ้าพ่อเฟซบุ๊กคราวนี้ มีบทวิเคราะห์ตามมาต่างๆนาๆ แต่ก่อนอื่นย้อนกลับมาดูต้นตอเหตุผลที่เฟซบุ๊กอธิบายทำไมต้องปรับหน้า News Feed? ตามที่นายซัคเกอร์เบิร์ก ประกาศ แล้วเรื่องนี้มีผลอย่างไรกับพวกเรา?
เฟซบุ๊กเผยแผนปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมเพื่อสนับสนุนเนื้อหาจากเพื่อนและครอบครัว มากกว่าข่าวจากเพจ และแบรนด์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 โดยซีอีโอเฟซบุ๊ก นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทไม่ได้มุ่งให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้ง 2 พันล้านราย ได้เห็นเฉพาะ “เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง” เป็นหลัก แต่ต้องการจัดลำดับความสำคัญของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม “ที่มีความหมาย” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก อธิบายว่า ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้คนติดต่อกัน และนำพาทุกคนให้ใกล้ชิดกับคนที่สำคัญในชีวิต แต่ปัจจุบันเฟซบุ๊กประเมินเสียงตอบรับจากชุมชนผู้ใช้ พบว่า โพสต์สาธารณะจากธุรกิจแบรนด์ และสื่อต่างๆ นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนเริ่มก้าวก่ายช่วงเวลาส่วนตัวที่เป็นช่องทางให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกัน ดังนั้น Facebook จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอัลกอริธึม เพื่อจัดลำดับความสำคัญให้การมีส่วนร่วมและความสนใจของผู้ใช้มีน้ำหนักเหนือการพิจารณาอื่นทั้งหมด
สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ก็คือพื้นที่หน้าแรกของเฟซบุ๊ก หรือ News Feed ของผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่วันนี้เต็มไปด้วยเนื้อหาจากแบรนด์ ธุรกิจ และสื่อใหม่ จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการแสดงผลให้พื้นที่ข่าวนั้นเป็นพื้นที่ของเพื่อนและครอบครัวมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้คล้ายกับการทดลองที่เฟซบุ๊คทำแล้วใน 6 ประเทศ นั่นคือการลบโพสต์จากพลับลิชเชอร์มืออาชีพทั้งหมดออกจากหน้า News Feed แล้วแยกใส่ไว้ในพื้นที่ Feed รองอย่าง “explore”
ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กได้ศึกษาวิจัยทางวิชาการจนได้ข้อสรุปว่า สื่อสังคมออนไลน์จะดีต่อสุขภาพของผู้ใช้ หากทุกคนใช้มันเพื่อ “เชื่อมต่อกับคนที่เราใส่ใจ” การใช้เครือข่ายสังคมแบบอ่านไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย หรือไม่ตอบโต้อาจเป็นอันตราย ดังนั้น จึงเป็นอีกเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง โดยจะส่งเสริมการโพสต์ที่ผลักดันให้เกิดการโต้ตอบ
การลดจำนวนข่าวลง อาจทำให้เกิดประโยชน์อื่นกับเฟซบุ๊กด้วย เพราะการลดอิทธิพลของสื่อข่าว อาจเป็นการหลีกเลี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเรื่องข่าวปลอมที่เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้การเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 พลิกโผ และถูกมองว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ “ข่าวปลอม” ซึ่งช่วยกระจายเรื่องราวที่ผิดพลาดไปนับล้าน เฟซบุ๊กเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งเสริมให้เกิดเนื้อหาจริงที่ได้รับความนิยมในการชมจริง ทำให้เนื้อหาออแกนิกคอนเทนต์ (organic content) มีมากขึ้นบนเฟซบุ๊ก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากสายตาของผู้เผยแพร่โฆษณา และกลุ่มเจ้าของเนื้อหาบางราย มองความเปลี่ยนแปลงนี้ว่าจะต้องมีการเตือนภัย สำนักข่าวหลายสำนัก พบว่า ผู้อ่านลดลงครึ่งหนึ่งในชั่วข้ามคืน เพราะข่าวเหล่านี้อันตรธานหายไปจากสายตาชาวเฟซบุ๊กทั่วโลก โดยองค์กรที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ บริษัทที่ต้องพึ่งพาเฟซบุ๊กอย่างมากเพื่อสร้างทราฟฟิกเข้าสู่เว็บไซต์ แต่องค์กรที่มีแพลตฟอร์มตัวเองอยู่แล้วจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธ.ค. 2013 เฟซบุ๊กก็เคยเปลี่ยนอัลกอริธึมเพื่อโปรโมต “บทความที่มีคุณภาพ” ให้แสดงผลเหนือกว่าภาพฮิตออนไลน์ที่ให้บริการอิงจากเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เฟซบุ๊ก ครั้งนั้นเฟซบุ๊กมุ่งเป้าไปที่ผู้เผยแพร่โฆษณาที่ผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจมากเกินไป ซึ่งทำให้เว็บไซต์ข่าวหลายรายมีการเข้าชมลดลงครึ่งหนึ่งในเดือนหลังจากที่อัลกอริทึมเปลี่ยนไป
ขณะที่หลายปีก่อนหน้า เฟซบุ๊กมุ่งเน้นโปรโมต “บทความที่อ่านได้เลยบน Facebook” หรือ instant articles จากเนื้อหาแบบบทความ เฟซบุ๊กก็เปลี่ยนแปลงเพื่อโปรโมตวิดีโอ จากวิดีโอธรรมดาก็เป็นวิดีโอสด และจากวิดีโอสดก็เริ่มมาโปรโมตกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของบริษัทในการสร้างความรู้สึกของชุมชนที่เข้มข้นขึ้น
ภายหลังการประกาศเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไทยหลายรายบ่นระงมว่า อยากเห็นข่าวมีสาระ หรือเนื้อหาที่สนใจจากเพจ มากกว่าโพสต์เล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเพื่อนหรือครอบครัว ที่เน้นเรื่องความรู้สึกมากเกินไป จุดนี้ผู้ใช้กลุ่มนี้จะต้องกด “See First” หรือตั้งค่าแสดงความจำนงต้องการเห็นโพสต์จากเพจนี้ก่อน เพื่อจะได้ไม่พลาดโพสต์หรือความเคลื่อนไหวจากเพจ หรือแบรนด์ที่สนใจ
ขณะที่ผู้ใช้บางรายมองว่า การปรับครั้งนี้เป็นการดันให้เพจ และแบรนด์ หันมาซื้อโฆษณาให้มากขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ การยกเรื่อง “การตอบโต้ที่มีความหมาย” ระหว่างเพื่อน และครอบครัว ล้วนเป็นแค่ข้ออ้างที่ฟังสวยหรูเท่านั้น
ข้อเขียนของ ธงชัย ชลศิริพงษ์ จากเว็บไซต์ Brandinside ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก Digiday และ The New York Times วิเคราะห์ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังทำไม Facebook ต้องล้างไพ่ News Feed และใครคือผู้แพ้ และผู้ชนะในศึกครั้งนี้ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุที่ Facebook ต้องล้างไพ่ News Feed อาจด้วยเหตุผล 4 ประการคือ หนึ่ง เชื่อว่าทำให้ผู้ใช้งานมีความสุขมากขึ้นจากการที่ไม่ต้องเจอข่าวแบบฮาร์ดนิวส์และโฆษณาทุกวันโดยไม่ตั้งใจ สอง แก้ปัญหาข่าวปลอม Fake News ระบาด ซึ่งหากแยกข่าวออกจาก News Feed ได้ ปัญหานี้ก็จะได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์
สาม เพื่อหารายได้เพิ่ม ข้อนี้เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์หลายคนให้น้ำหนัก เพราะถ้าแยกข่าวและเนื้อหาบนเพจต่างๆ ออกมาจาก News Feed ได้ จะทำให้ Facebook มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการซื้อโฆษณา (ที่มากอยู่แล้ว) ของเพจและสื่อต่างๆ เช่น ต้องซื้อโฆษณาเพิ่มในกรณีที่อยากให้ข่าวหรือเพจไปแสดงผลใน News Feed แต่การทำแบบนี้จะทำให้ Facebook สะดุดขาตัวเอง เพราะถ้ายังซื้อโฆษณากลับไปแสดงผลที่เดิมได้ แล้วจะแยกตั้งแต่แรกเพื่ออะไร? แต่ถ้า Facebook ยังจะคงโฆษณาไว้ทั้ง 2 แห่ง คือทั้ง News Feed และ Explore Feed นั่นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรไม่น่าจะเป็นผลดีกับตัวของ Facebook เอง
และคำตอบสุดท้าย เพื่อทดลอง Product ใหม่ๆ เพียงแต่ว่าในระหว่างการทดลองอาจทำให้คนทำเพจหลายคนรู้สึกหวั่นไปบ้าง แต่ในท้ายที่สุด อาจได้ Product ใหม่แยกออกมา คล้ายๆ กับ Messenger ที่ตอนนี้ก็แยกออกมาจากตัว Facebook หลักสักพักแล้ว
ส่วนการล้างไพ่ News Feed บน Facebook ใครจะเป็นผู้แพ้ และผู้ชนะนั้น ฟากฝั่งของ ผู้ชนะรายแรก คือสื่อใหญ่ที่มีหลายแพลตฟอร์ม สำหรับสื่อใหญ่ในตะวันตกหลายแห่งเข้าใจดีถึงสภาพอันจำกัดของการพึ่งพาแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เพราะฉะนั้นต่อให้ Facebook ลด Reach หรือการเข้าถึง ผลกระทบที่ได้รับก็ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นกำหนดความเป็นความตาย
Meredith Artley หัวหน้ากองบรรณาธิการ CNN ให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่เก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะการเผยแพร่ข่าวสารต้องอยู่บนแพลตฟอร์มที่ควบคุมได้ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ … ตอนนี้วงการสื่อกำลังช็อกกับการที่ Facebook เปลี่ยนกติกา และกระทบธุรกิจเต็มๆ แต่ฉันจะบอกคุณให้ว่า จะไปคาดหวังอะไรกับเขาได้ ก็เขาไม่ได้อยู่ในธุรกิจสื่อ [ตั้งแต่แรกแล้ว]”
ชัดเจนว่าสื่อใหญ่อย่าง CNN วางหมาก Facebook ไว้เป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งบนสนามการแข่งขัน ไม่ใช่ทั้งกระดาน ผู้ชนะรายแรกจากการลด Reach จึงเป็นสื่อใหญ่ๆ ที่วางหมากเดินเกมไว้อย่างรอบคอบ เช่น การเสิร์ชผ่าน Google หรือลองไปดู Twitter ของ CNN หรือ Rueters และอีกหลายสำนัก
ส่วนสื่อไทย ค่อนข้างจะแตกต่างจากตะวันตก หากดูเพจข่าวเบอร์ต้นๆ ของไทย (สำนักข่าวหัวสีทั้งหลาย) ต่างก็พึ่งพา Facebook เป็นหลัก ช่องทางอื่นๆ เช่น Twitter ก็มีความพยายามในการทำ แต่คำถามสำคัญคือ สัดส่วนตัวเลขการเข้าถึงผู้อ่านเมื่อเทียบกับ Facebook เป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับการเข้าที่หน้าเว็บไซต์โดยตรงคิดเป็นเท่าไหร่ ถ้าสัดส่วนใน Facebook นำมาสูงลิ่ว นั่นก็ถือเป็นสัญญาณอันตราย
ผู้ชนะรายที่สอง คือ สื่อขนาดกลาง-เล็ก แต่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น ดังนั้น แม้ข่าวสารหรือคอนเทนต์จะไม่ปรากฏในบนหน้า News Feed ให้เห็น แต่ขาประจำเหล่านั้นจะเข้าสู่เว็บไซต์โดยตรงหรือหาช่องทางอื่นๆ เพื่อเข้าถึงข่าวสารหรือคอนเทนต์ของแบรนด์ เพราะฉะนั้น ต่อให้ Facebook ล้างไพ่ News Feed ใหม่ ปรับลดอัลกอริธึ่มอย่างไร ลูกค้าขาประจำเหล่านี้ก็จะตามไปตราบเท่าที่ยังทำคอนเทนต์โดนใจ แต่ข้อน่ากังวลคือ แม้จะชนะอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง คำถามที่ตามมาคือ การขยายฐานลูกค้าขาประจำไปสู่กลุ่มอื่นเป็นกลยุทธ์ที่ต้องวางแผนต่อไปด้วยเช่นกัน
ผู้ชนะรายที่สาม คือวิดีโอบันเทิง-ดาราใน Facebook Watch การล้างไพ่ครั้งนี้ เหมือน Facebook กำลังส่งสารที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ไม่ได้สน “ข่าว” หรือ “สำนักข่าว” อีกต่อไป เพราะดูจะให้คุณค่าไปกับความบันเทิง เรื่องราวไลฟ์สไตล์ ดารา และคนดังทั้งหลาย โดยเฉพาะบน Facebook Watch
ผู้ชนะรายที่ 4 : Twitter ในเมื่อ Facebook ไม่เป็นมิตรกับสำนักข่าว สื่อ เพจ หรือแบรนด์อีกต่อไป แพลตฟอร์มใกล้เคียงที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ หนีไม่พ้น Twitter
ส่วนผู้แพ้หรือได้รับผลกระทบในทางลบ แน่นอนอันดับแรก คือ คนทำเพจตัวเล็กตัวน้อย หากไม่มีฐานลูกค้าขาประจำที่เหนียวแน่นจริงๆ ยากมากที่จะเกิดบนแพลตฟอร์ม Facebook และที่หนักไปกว่านั้นคือ หากใครทำเพจชนิดที่หวังให้เกิดและเติบโตจาก Organic Reach คือไม่ซื้อ หรือไม่จ่ายเงินให้กับ Facebook ต้องบอกว่า หากหวังเติบโตในลักษณะนี้จะมีค่าเท่ากับศูนย์ดังนั้น ทางออกคือ หาฐานที่มั่นใหม่ หรือไม่ก็จ่ายเงินให้กับ Facebook เสียดีๆ
ผู้แพ้อันดับสอง คือ เพจ แบรนด์ และสื่อที่ผูกกับ Facebook เกือบ 100% จุดสังเกตว่ากำลังตกอยู่ในสัญญาณอันตรายหรือไม่ ดูได้จากเมื่อโพสต์คอนเทนต์ลงบนเว็บไซต์ของตนเองไม่สามารถสร้าง traffic ใดๆ ได้เลย จนกระทั่งเมื่อนำมาโพสต์บน Facebook ฐานลูกค้าขาประจำและขาจรก็เริ่มหลังไหลมาสร้าง traffic ให้ ถ้าเป็นแบบที่ว่ามานี้ ให้เตรียมตัวรับผลกระทบไว้ได้
ส่วนผู้พ่ายแพ้อันดับสาม ก็คือ Facebook เองนั่นแหละที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือถูกลดทอนลง ข้อนี้น่าสนใจ เพราะแม้การล้างไพ่ News Feed ในครั้งนี้นายซัคเกอร์เบิร์ก จะให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจนี้จะส่งผลกระทบระยะสั้น แต่จะเป็นผลดีในระยะยาว คำถามคือ จริงหรือ? และคำพูดนี้เชื่อถือได้แค่ไหนกัน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Facebook ใช้บรรดาคนทำเพจ ทำแบรนด์ และทำสื่อเป็นหนูทดลอง
ย้อนไปก่อนหน้านี้ Facebook บอกว่าต้องการคอนเทนต์ที่มีคนแชร์มากๆ จากนั้นทุกเพจ ทุกแบรนด์ ทุกสื่อก็สร้างคอนเทนต์ชนิดที่ทำให้เกิดการแชร์ในวงกว้าง เนื้อหาฉาบฉวย พาดหัวเรียกแขก หรือที่เรียกกันว่า Click-Bait หลังจากนั้นเมื่อ Facebook บอกว่า อยากได้ Live Video ทุกเพจ ทุกแบรนด์ ทุกสื่อก็วิ่งไปถ่ายทำ Live Video กันหมด ล่าสุด บอกว่าอยากให้ทำ Video ขึ้นบน News Feed ก็อย่างที่เห็น ทุกเพจ ทุกแบรนด์ ทุกสื่อก็ปั้นคอนเทนต์ Video ขึ้นกันหมด แต่มาวันนี้ Facebook กลับบอกว่าจะปรับลดความสำคัญของเพจ แบรนด์ และสื่อ เพื่อให้เห็นโพสต์ของเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น
ผู้บริหารของสื่อสำนักหนึ่ง ถึงกับบอกว่า “ฉันไม่คิดว่า Facebook ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างดี พวกเขาก็แค่พยายามอธิบายอะไรที่มันดูกำกวม เขาใช้คำว่า ‘อยากให้มีส่วนร่วม’ ในขณะที่พยายามกีดกันสื่อออกไปจากหน้า Feed … พวกเขาก็แค่สร้างภาพ และไม่ต้องการให้คุณได้ดีนั่นแหละ”
จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซีอีโอ mgronline เว็บไซต์ข่าวอันดับหนึ่งของประเทศไทยติดต่อกันมายาวนานนับสิบปี ได้สะท้อนถึงความเสื่อมถอยในธรรมาภิบาลของ Facebook ผ่านข้อเขียน “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ตัวอย่างของผู้ที่ลุแก่อำนาจที่คิดว่าตัวเองควบคุมทุกอย่าง หิวกระหายไม่รู้จักพอสักวันเขาจะได้รับบทเรียนที่เจ็บปวด!!” เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561
โดยสรุปรวมความได้ว่า ข้ออ้างสวยหรูของนายซัคเคอร์เบิร์ก ที่ว่าเป็นการ “คืนความสุข” ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ได้อ่านฟีดของเพื่อนและครอบครัวมากกว่า ทั้งที่ก่อนหน้าเพิ่งออกกติกาหากผู้ใช้ยังต้องการพบเห็นคอนเทนต์จากพับลิกเพจที่เลือกติดตามเป็นประจำต้องพยายามกดไลค์โพสต์เหล่านั้นให้ถี่ นโยบายเหล่านี้กับข้ออ้างของนายซัคเกอร์เบิร์ก ท้ายสุดก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การบีบบังคับให้พับลิกเพจทั้งหลายต้องเสียเงินให้เฟซบุ๊กมากกว่าเดิม โดยไม่มีทางเลือกในการที่จะรักษาการพบเห็นให้คงอยู่กับผู้ติดตามเพจตน
ทำไม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ถึงต้องใช้ ม.44 ออกกฎนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่มาตรการส่งเสริมให้มีการกดไลก์และแชร์ดังกล่าวก็น่าจะบีบให้พับลิกเพจต่างๆ ยอมสปอนเซอร์จนรายได้เฟซบุ๊กสูงลิบลิ่วอยู่แล้ว? เหตุผลก็คือนโยบายนี้เอาเข้าจริงสามารถใช้ได้กับพับลิกเพจใหม่ๆ ที่ผู้ติดตามยังไม่ได้ติดลมบนเท่านั้น ตราบใดที่มีสาวกพับลิกเพจที่ติดลมนั้นๆ ยังไลก์และแชร์อยู่ ก็ยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กมากนัก และในทางจิตวิทยาเนื้อหาที่ติดคำว่า sponsor ทางเจ้าของเพจเองก็รู้สึกไม่ค่อยจะแฮปปี้เท่าไหร่
ในขณะที่เฟซบุ๊กได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานไปเรียบร้อยแล้วว่ามีความชอบและสนใจเรื่องอะไร เมื่อถึงจุดที่ไม่ต้องหลอกลวงกันอีกต่อไป จึงใช้ ม.44 กันอย่างโต้งๆ โดยไม่ได้มีความเคารพต่อสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้อันพึงมีโดยชอบธรรม ....
คำถามคือหากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่นายซัคเกอร์เบิร์ก ผลักดันนโยบายพับลิกเพจให้เกิด หรือเป็นยุคที่มี กูเกิลพลัส ประกาศท้ารบอย่างเต็มที่ นายซัคเกอร์เบิร์ก จะกล้าลุแก่อำนาจเช่นนี้ไหม และที่ชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องของความหิวกระหายเงิน ก็เนื่องจากว่าแนวคิดของมาร์คคนเดียวคงไม่สามารถผ่านบอร์ดของบริษัทที่จดทะเบียนได้ ถ้าไม่มีการประมาณการรายได้ที่น่าจะเก็บได้มากขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ....
นอกจากนั้น ในทฤษฎีสมคบคิดยังมีคนเชื่อว่า เบื้องหลังการลงทุนในธุรกิจ start up ของเฟซบุ๊กรวมถึงกูเกิลมีเงาแฝงการสนับสนุนของหน่วยข่าวกรองอเมริกา ที่มองว่านี่คือหนทางในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและธุรกิจทั่วโลก ความเชื่อนี้สามารถสะท้อนได้จากจีนเองก็ต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเองอย่าง เถาเป่า เว่ยปั๋ว และวีแชต ไม่ยอมให้เฟซบุ๊กของนายมาร์คเข้าไปกล้ำกราย และนี่คือเหตุผลทางด้านความมั่นคงล้วนๆ
หลายสำนักจึงค่อนข้างเห็นไปในทางเดียวกันว่า เฟซบุ๊ก ต้องการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มความสุขให้เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก บอร์ด และผู้ถือหุ้น หาใช่ผู้ใช้อย่างที่กล่าวอ้าง และบรรดาเอเยนซีก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงขึ้น และหากไม่ซื้อโฆษณา ไม่โปรโมทเพจ เส้นทางการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์ม Facebook คงใกล้ดับสูญไปทุกที ดังที่ ธงชัย ชลศิริพงษ์ จาก Brandinside ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก Digiday ระบุว่า ขณะที่ในแถลงการณ์ปรับ News Feed อย่างเป็นทางการ John Hegeman ผู้บริหารฝ่าย Product Manager ของ Facebook ได้พูดไว้ว่า “โฆษณาบน Facebook จะไม่ได้รับผลกระทบ”
แต่ Doug Baker ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ AnalogFolk บริษัท Agency โฆษณา บอกว่า นี่คือฟางเส้นสุดท้ายของ Organic Reach เพราะต่อไปแบรนด์ต่างๆ ต้องจ่ายเงินซื้อโฆษณาบน Facebook เพิ่มขึ้น หากต้องการรักษายอดเดิมเอาไว้ ส่วน Agency รายอื่นอย่าง Jellyfish เห็นว่าการปรับ News Feed กระทบโฆษณาเต็มๆ เพราะ Organic Reach ของโพสต์ต่างๆ ในช่วงหลังมานี้ลดลงไปถึง 2% และที่สำคัญคือ Facebook Ads ไตรมาสล่าสุดปรับราคาสูงขึ้นถึง 35%
จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ของ Edie Greaves นักวางกลยุทธ์อาวุโสของ Possible บริษัท Agency เขาเชื่อว่า หลังจากนี้ Facebook น่าจะหาช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ให้กับแบรนด์อย่างแน่นอน โดยหนึ่งในช่องทางก็คงไม่พ้นการจ่ายเงินให้กับ Facebook เพิ่มเพื่อให้ไปแสดงผลบนหน้า News Feed
แต่ถ้าพูดกันในแง่โมเดล ไม่แน่ว่า Facebook อาจเดินตามแนวทางของการโฆษณาแบบโมเดล WeChat ของบริษัท Tencent จากจีน ที่จะให้แบรนด์ต่างๆ มาสร้างฐานการโฆษณาอยู่ในแอพพลิเคชั่นที่ใช้สนทนา ซึ่งในกรณีของ Facebook ก็คือ Messenger และเวลานี้ผู้ใช้ Messenger เริ่มได้เห็นโฆษณาในแอพนี้กันแล้ว
สำหรับ WeChat ของ Tencent บริษัทใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของจีน แอพแชทอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันมีคนเปิดแอพ WeChat ใช้ทุกวันถึง 768 ล้านคน เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 700 ล้านคน จากจำนวน 1,388 ล้านคน คนจีนไม่ได้ใช้ WeChat เพื่อส่งข้อความ หรือโทรหากัน แต่ยังนิยมใช้ WeChat เพื่อเรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร โอนเงิน ซื้อของออนไลน์ ซื้อตั๋วหนัง หรือกระทั่งซื้อตั๋วเครื่องบิน WeChat จึงไม่ใช่แค่แอพแชทยอดนิยม แต่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวจีนในปัจจุบัน
เวลานี้ เฟซบุ๊ก ได้ WeChat เป็นพันธมิตรบุกตลาดแดนมังกรอีกรอบ หลังจากถูกบล็อกไปตั้งแต่ปี 2009 (ยกเว้นเขตการค้าเสรีในเซี่ยงไฮ้) จากการจลาจลในอูรุมซี ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง และความพยายามนั้นสำเร็จเมื่อเดือนส.ค. 2560 โดยเฟซบุ๊ก ส่งแอปพลิเคชันแชร์รูป Colorful Balloons ไปประเดิมตลาด
ในโลกดิจิตัล ทุกอย่างมาเร็ว ไปเร็ว เพราะสุดท้ายดูเหมือนว่า “เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก” จะยอม “ถอย” แบบเงียบๆ เพราะเมื่อพิจารณาสถานการณ์หน้าฟีดข่าว ทุกอย่างจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่ “มาร์ค” ประกาศไว้เท่าใดนัก จะด้วยเป็นเพราะเหตุ “หุ้นตก” หรือไม่ต้องการทำแบบกระโตกกระตากจนสร้างความหงุดหงิดใจให้กับบรรดาผู้ใช้และอาจจบลงแบบ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็เป็นได้
อีกไม่นานคงรู้กัน...