ไม่แปลกใจที่ในที่สุดเฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของโลกได้ปรับการพบเห็น public page ให้ลดลง โดยใช้ข้ออ้างอันสวยหรูของผู้ก่อตั้งหนุ่มอย่าง นายมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ว่า เป็นการ “คืนความสุข” แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพราะฟีดแบ็กสะท้อนมาว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมีความสุขมากกว่าเวลาได้อ่านฟีดของเพื่อนและครอบครัว
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งจะออกกติกามาแล้วว่าหากผู้ใช้ยังต้องการพบเห็นคอนเทนต์จากพับลิกเพจที่ตนเลือกติดตามเป็นประจำสม่ำเสมอ ต้องพยายามกดไลก์โพสต์เหล่านั้นให้ถี่ๆ
นโยบายเหล่านี้กับข้ออ้างของนายมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ท้ายสุดก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การบีบบังคับให้พับลิกเพจทั้งหลายต้องเสียเงินให้เฟซบุ๊กมากกว่าเดิม โดยไม่มีทางเลือกในการที่จะรักษาการพบเห็นให้คงอยู่กับผู้ติดตามเพจตน
ทำไม มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ถึงต้องใช้ ม.44 ออกกฎนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่มาตรการส่งเสริมให้มีการกดไลก์และแชร์ดังกล่าวก็น่าจะบีบให้พับลิกเพจต่างๆ ยอมสปอนเซอร์จนรายได้เฟซบุ๊กสูงลิบลิ่วอยู่แล้ว?
เหตุผลก็คือนโยบายนี้เอาเข้าจริงสามารถใช้ได้กับพับลิกเพจใหม่ๆ ที่ผู้ติดตามยังไม่ได้ติดลมบนเท่านั้น ตราบใดที่มีสาวกพับลิกเพจที่ติดลมนั้นๆ ยังไลก์และแชร์อยู่ ก็ยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กมากนัก และในทางจิตวิทยาเนื้อหาที่ติดคำว่า sponsor ทางเจ้าของเพจเองก็รู้สึกไม่ค่อยจะแฮปปี้เท่าไหร่
ในขณะที่เฟซบุ๊กได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานไปเรียบร้อยแล้วว่ามีความชอบและสนใจเรื่องอะไร เมื่อถึงจุดที่ไม่ต้องหลอกลวงกันอีกต่อไป จึงใช้ ม.44 กันอย่างโต้งๆ โดยไม่ได้มีความเคารพต่อสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้อันพึงมีโดยชอบธรรม ทั้งๆ ที่นายมาร์กเป็นอเมริกันชนเต็มตัวของประเทศอเมริกาชอบประกาศปาวๆ ถึงสิทธิและเสรีภาพ
ความไม่มีธรรมาภิบาลในเรื่องนี้ของนายมาร์กที่อ้างข้างๆ คูๆ ประเด็นคืนความสุขให้ผู้ใช้ เป็นการอนุมานของนายมาร์กเอง ทั้งๆ ที่นายมาร์กสามารถทำแบบสอบถามผู้ใช้ได้ว่าเห็นด้วยกับนโยบายนี้หรือไม่
ที่จริงเฟซบุ๊กสามารถเขียนโปรแกรมให้แยกฟีดออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนได้ ระหว่างเพจที่เป็นเพื่อนและเพจที่กดติดตาม ซึ่งน่าจะทำให้การคืนความสุขและการเสพข้อมูลมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนสร้างความสะดวกให้ผู้ใช้ด้วยซ้ำ
ทีเวลาไปเสือกกับผู้ใช้ แนะนำให้สร้างหรือแชร์เมมโมรีโน่นนี่นั่นประมวลผลเฟซบุ๊กทำได้ แต่เรื่องที่ไปกระทบสิทธิเขาตรงๆ เหล่านี้นายมาร์กไม่คิดจะทำ
ที่ตลกร้ายก็คือ การกดไลก์หรือกดติดตามพับลิกเพจของผู้ใช้เฟซบุ๊กในการที่จะรับข้อมูลต่างๆ ไม่ได้มีใครเอาปืนไปจ่อหัวใครว่าเธอต้องฟอลโลว์ฉัน และผู้ใช้ก็มีสิทธิจะยกเลิกการติดตามตามสะดวกทุกวินาทีอยู่แล้ว
อันที่จริงผู้ใช้หลายคนก็มีความสะดวกใจไม่เหมือนกันในการที่จะต้องกดไลก์ตลอดเพื่อให้สามารถพบเห็นข้อมูลจากเพจที่ตัวเองติดตาม เพราะในหลายครั้งอยากเห็นแต่ไม่สะดวกจะกดไลก์ก็ถมเถ
หรือแม้แต่เพจธุรกิจเพจพับลิกเมื่อโพสต์ใดเริ่มมีคนกดไลก์กันเข้ามา เฟซบุ๊กจะเริ่มเสนอให้สปอนเซอร์โพสต์นั้นทันที และหลายคนจะมีความรู้สึกว่าการพบเห็นโพสต์ดังกล่าวจะถูกเฟซบุ๊กจับเรียกค่าไถ่
คำถามคือหากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่นายมาร์กผลักดันนโยบายพับลิกเพจให้เกิด หรือเป็นยุคที่มีกูเกิลพลัส ประกาศท้ารบอย่างเต็มที่ นายมาร์กจะกล้าลุแก่อำนาจเช่นนี้ไหม
และที่ชัดเจนว่ามันเป็นเรื่องของความหิวกระหายเงิน ก็เนื่องจากว่าแนวคิดของมาร์กคนเดียวคงไม่สามารถผ่านบอร์ดของบริษัทที่จดทะเบียนได้ ถ้าไม่มีการประมาณการรายได้ที่น่าจะเก็บได้มากขึ้นจากนโยบายดังกล่าว
แน่นอนคงจะไม่มีใครสามารถไปทำอะไรนายมาร์กเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้ใช้ครั้งนี้ได้ เพราะนายมาร์ก ถือว่าได้มีข้อกฎหมายครอบคลุมในการที่ผู้ใช้จะต้องยินยอมรับกฎระเบียบเฮงซวยที่นายมาร์กจะควบคุมโดยไม่มีเงื่อนไขเอาไว้แล้ว เมื่อลงทะเบียนในตอนแรกหรือต่อให้มีแรงต้านทานมากแล้วอย่างไร ในเมื่อเฟซบุ๊กติดลมบนอย่างไร้คู่แข่งไปแล้ว
หวังว่าถ้าการบีบพับลิกเพจด้วยนโยบายนี้ได้ผลดี ก้าวต่อไปของนายมาร์กจะไม่ใช้มาตรการเดียวกันกับ อินสตาแกรม อีกแพลตฟอร์มที่นายมาร์กทุ่มเงินมหาศาลเพื่อบล็อกคู่แข่งของเฟซบุ๊กจนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ตีกระหนาบผู้ใช้ในปัจจุบัน
หลายปีก่อนจนกระทั่งไม่นานมานี้ นายมาร์กยังคงเป็นไอดอลที่หลายๆ คนชื่นชม เพราะสร้างความสุขให้คน สร้างโอกาสให้คน เปลี่ยนโลกให้คนเข้าถึงกันมากขึ้น แต่นับจากวันนี้ไปน่าสนใจว่าจะยังมีเสียงชื่นชมหรือเสียงก่นด่าจากประชาชีจนคะแนนนิยมหดหายหรือไม่ อย่างไร
และเชื่อว่าอีกไม่นาน มุมมืดต่างๆ เบื้องหลังของทั้งเฟซบุ๊กและนายมาร์คจะถูกทยอยขุดออกมาประจานแก่ชาวโลก
หากจะเอา มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก มาเทียบกับสตีฟ จ็อบส์ ผู้วางรากฐานของโลกยุคใหม่ละก็
มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก จะไม่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นผู้เปลี่ยนโลกในระดับเดียวกับ สตีฟ จ็อบส์ อีกต่อไป ถึงแม้สตีฟจะขึ้นชื่อในด้านความก้าวร้าวในการบริหารงานในบริษัทของเขา และระบบ iOS จะเป็นระบบปิดแต่ก็ไม่เคยจะใช้ ม.44 กับผู้ใช้ทั่วโลกอย่างนายมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก
ใครที่เคยดูหนังเรื่องประวัตินายมาร์กคงจะเห็นแล้วว่า มาร์คสร้างเฟซบุ๊กจากการขโมยไอเดียคนอื่นและทรยศผู้ร่วมลงทุน และได้จ่ายค่าชดเชยตามผลการตัดสินของศาลไปแล้ว
ในทฤษฎีสมคบคิดยังมีคนเชื่อว่า เบื้องหลังการลงทุนในธุรกิจ start up ของเฟซบุ๊กรวมถึงกูเกิลมีเงาแฝงการสนับสนุนของหน่วยข่าวกรองอเมริกา ที่มองว่านี่คือหนทางในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและธุรกิจทั่วโลก
ความเชื่อนี้สามารถสะท้อนได้จากจีนเองก็ต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเองอย่าง เถาเป่า เว่ยปั๋ว และวีแชต ไม่ยอมให้เฟซบุ๊กของนายมาร์กเข้าไปกล้ำกราย และนี่คือเหตุผลทางด้านความมั่นคงล้วนๆ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเฟซบุ๊กคิดว่าตนเองมีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ในแพลตฟอร์มของตนในการดูดเม็ดเงินให้มากขึ้นถึงแม้จะละเมิดสิทธิของผู้ใช้ก็ตามแต่
ในมุมกลับกัน เฟซบุ๊กกลับไม่เคยจ่ายภาษีให้กับประเทศใดๆ เลย กับการได้เงินสปอนเซอร์ของเพจต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเม็ดเงินที่ควรจะเข้ารัฐของแต่ละธุรกรรมจากประเทศนั้นๆ มีมูลค่าหลักพันล้านจนถึงแสนล้าน ทั้งๆ ที่เฟซบุ๊กมีสำนักงานอยู่ในทุกประเทศ
เมื่อเฟซบุ๊กมีทัศนคติ และวิธีกอบโกยที่เอาแต่ได้แบบนี้ อาจกระตุ้นกระแสความไม่พอใจต่อผู้ใช้ทั่วโลกจนบานปลายไปสู่การผลักดันให้เฟซบุ๊กต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องให้กับแต่ละประเทศทั่วโลกก็ได้
หากจำไม่ผิดน่าจะมีกรณีนี้เกิดขึ้นมาแล้ว กับประเทศหนึ่งที่เฟซบุ๊กแพ้คดีต่อรัฐและจำต้องจ่ายภาษีแต่ยังไม่ได้กลายเป็นโมเดลของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงบ้านเราเนื่องจากเหตุผลว่าไม่ต้องการมีข้อพิพาทกับสหรัฐอเมริกา
ดูแนวคิดของ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ดูการใช้ ม.44 ของเฟซบุ๊ก แล้วย้อนกลับมาดูบ้านเราก็จะเห็นสัจธรรมที่ไม่ต่างกันว่า ไม่ว่าแต่ก่อนคุณจะมีกองหนุนแค่ไหน หากลุแก่อำนาจ และทรยศต่อวิชาชีพและอุดมการณ์ กองหนุนก็จะไม่เหลือ
จับตาดูอนาคตต่อไปของ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก และ ประยุทธ์ เอ้ยไม่ใช่!! เฟซบุ๊กให้ดี ว่าเขาจะหนีจากกงล้อประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พ้นจากหลักความเสื่อมไปได้หรือไม่.
***หมายเหตุ กรณีเฟซบุ๊กสรุปง่ายๆ คือ ต่อไปเพจที่เราฟอลโลว์จะค่อยๆ หายไป แต่คุณจะเจอการยัดเยียด suggest posted และ sponsor เข้าไปมาฟีดแทน