xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ปาร์ซีแห่งอินเดีย : มนุษย์ล่องหนผู้ขับเคลื่อนโลก

เผยแพร่:   โดย: ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

ภายนอกร้าน BRITANNIA & CO และเมนูของร้าน (เครดิตภาพ ผู้เขียน)
ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
คณะนิเทศศาสตร์ และศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สำหรับนักเดินทางที่ได้ไปเยี่ยมเยือนนครมุมไบ หรือที่คนพื้นถิ่นยังเรียกด้วยชื่อเดิมอย่างรักใคร่ว่า “บอมเบย์” หลายคนก็คงจะได้มีโอกาสลิ้มรสข้าวหมกไก่ใส่ผลไม้สีแดงๆ ราดด้วยน้ำแกงรสชาติเข้มข้นที่เป็นส่วนผสมของมะเขือเทศและเครื่องแกงอย่างอ่อนๆ โรยหน้าด้วยเมล็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วและหัวหอมผัดเนย ตามตบท้ายด้วยคาราเมล คัสตาร์ดรสชาติหอมมัน พร้อมกับจิบน้ำมะนาวโซดาอันแสนสดชื่นในร้านกาแฟสุดคลาสสิกอย่าง ร้าน Britannia & Co ร้าน Leopold Cafe หรือ ร้าน Yazdani Bakery and Cafe แต่หากท่านไม่ได้มีโอกาสไปมุมไบ แต่มุ่งที่จะไปใช้เงินรูปีสุดท้ายที่คอนนอทเพลส (Connaught Place) ย่านการค้าใหญ่ใน กรุงนิวเดลี ก็คงจะคุ้นชินกับชื่อถนน ฟิรอซชาห์ (Firozeshah Road) ที่รถโดยสารจะต้องพาเราไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย ทั้งร้านกาแฟในนครมุมไบ และชื่อถนนในกรุงนิวเดลีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมรดกที่คนเชื้อสายปาร์ซี - มนุษย์ล่องหนแห่งเอเชียใต้ - ได้ให้ไว้กับอินเดีย

จากเปอร์เซียสู่ฮินดูสถาน

คนเชื้อสายปาร์ซีคือกลุ่มคนผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่อพยพเข้ามายังเอเชียใต้ ภายหลังจากที่อาณาจักรเปอร์เซียโบราณถูกรุกรานโดยชาวอาหรับและหันไปนับถือศาสนาอิสลามในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๗ หนังสือประวัติศาสตร์ของชาวปาร์ซีที่ชื่อว่า Qissa-i Sanjan หรือ ตำนานแห่งซานจาน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์อพยพลี้ภัยมาจากเมืองซานจานในเขตที่ราบสูงโคราซาน ล่องเรือหาที่พักพิงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเดินทางมาถึงชายฝั่งของรัฐคุชราตในปัจจุบัน ดังนี้

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เจ้าผู้ครองนครท้องถิ่นยังไม่อนุญาตให้ผู้อพยพกลุ่มนี้นำเรือขึ้นฝั่ง จนกระทั่งผู้นำของผู้อพยพได้ขอเข้าเฝ้าเจ้าผู้ครองนคร โดยนำนมสด ๑ ไหไปเป็นเครื่องบรรณาการ เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าผู้ครองนคร ผู้นำของกลุ่มผู้อพยพก็หยิบน้ำตาลออกมา ๑ ก้อนแล้วใส่เข้าไปในให้นมสดที่นำมาพร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า ชาวปาร์ซีจะปฏิบัติตนเหมือนเช่นดั่งน้ำตาลในไหที่ไม่เพียงแต่จะได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับน้ำนมแต่ก็ยังจะช่วยทำให้น้ำนมนั้นมีรสชาติที่หอมหวานยิ่งขึ้น (บางตำนานก็กล่าวว่าชาวปาร์ซีใส่เพชรพลอยเข้าไปในไหนมเพื่อเป็นการติดสินบนเจ้าผู้ครองนคร คล้ายๆ กับที่ชาวโรฮิงญาจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประเทศหนึ่งจนเป็นข่าวโด่งดังทั่วโลก) และด้วยเหตุนี้เอง ชาวปาร์ซีจึงได้รับอนุญาตให้นำเรือขึ้นฝั่งและตั้งถิ่นฐานในเขตชายฝั่งที่เป็นรอยต่อระหว่างรัฐคุชราตและรัฐมหาราษฏระในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเมืองซานจาน เมืองสุรัต เมืองภารัช และนครบอมเบย์
ครอบครัวปาร์ซีแห่งนครมุมไบ ราว ค.ศ. ๑๘๖๑ (เครดิตภาพ HTTP://WWW.SHORPY.COM/NODE/7241?SIZE=_ORIGINAL/)
จากคำมั่นสัญญาในครั้งนั้น ชาวปาร์ซีจึงหันมาใช้ภาษาและแต่งกายอย่างคนท้องถิ่นในชีวิตประจำวัน และเลี่ยงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในที่สาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น จะไม่มีการเผยแพร่ศาสนาหรือรับคนเปลี่ยนศาสนา ซึ่งก็หมายความว่าชาวปาร์ซีจะต้องแต่งงานกันในกลุ่มชาวปาร์ซีด้วยกันเท่านั้น การประกอบพิธีกรรมแต่งงานก็จะต้องทำกันในที่ลับตาเมื่อพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น หรือแม้กระทั่งศาสนาสถานของชาวปาร์ซีก็จะกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมรอบข้างจนแทบจะมองไม่ออกว่าเป็นวัด เมื่อดูเผินๆ เราจึงแทบจะแยกไม่ค่อยออกว่าใครเป็นชาวปาร์ซีหรือไม่ และด้วยเหตุนี้เองที่ชาวปาร์ซีจึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ล่องหนในสังคมอินเดียและเอเชียใต้

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ล่องหนที่มีจำนวนประชากรเพียงน้อยนิดกลุ่มนี้ กลับเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนเอเชียใต้และโลก ทั้งในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม อย่างตระกูลทาทา (Tata) ตระกูลเปติ๊ด (Petite) ตะกูลวาเดีย (Wadia) ในทางการเมือง อย่าง เซอร์ เฟรอซชาห์ เมห์ธา (Sir Pherozeshah Mehta) นักต่อสู้เพื่อสวัสดิการสังคมและอิสระภาพของอินเดีย ที่เป็นที่มาของชื่อถนนฟิรอซชาห์ในกรุงนิวเดลี หรือในทางวัฒนธรรม อย่าง ซูบิน เมห์ธา (Zubin Mehta) ผู้เป็นวาทยกรระดับโลก โรฮินตัน มิสตรี (Rohinton Mistry) และ บับซี่ สิธวา (Bapsi Sidhwa) นักเขียนระดับนานาชาติ หรือเฟรดดี้ เมอร์คิวรี (Freddie Mercury) นักร้องนำแห่งวงควีนส์ แม้กระทั่งนายเฟรอซ คานธี (Feroze Gandhy) สามีของนางอินทิรา คานธี เองก็เป็นคนเชื้อสายปาร์ซี ซึ่งตำนานรักต้องห้ามระหว่างคนทั้งสองก็เป็นตำนานรักที่มีสีสันไม่แพ้ตำนานรักระหว่างดิน่า จินนาห์ บุตรสาวของมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์กับนายเนวิลล์ วาเดียเลยทีเดียว

กล่าวกันว่า เนห์รูกับจินนาห์อาจจะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาติ แต่กบฏและนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพตัวจริงก็คือลูกสาวของมหาบุรุษทั้งสอง ที่อาจหาญฝ่าฝืนประกาสิตของบิดาเพื่อแต่งงานกับผู้ชายที่ตัวเองเลือก

วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีของชาวปาร์ซี

ผู้คนโดยส่วนมากมักจะเชื่อมโยงศาสนาโซโรอัสเตอร์กับการบูชาไฟ และมักจะเรียกศาสนสถานของศาสนาโซโรอัสเตอร์ว่าวัดไฟ (Fire Temple) แต่จริงๆ แล้วไฟ หรือ “อตาร์” เป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของความบริสุทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์เท่านั้น องค์ประกอบที่สำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่งคือ “อาโป” หรือ น้ำบริสุทธิ์ ซึ่งมักจะปรากฏในรูปน้ำพุหรือสวนน้ำหน้าวิหาร แต่ด้วยเหตุที่ชาวตะวันตกให้ความสำคัญกับกระถางไฟที่มีนักบวชคอยดูแลให้ไฟนั้นส่องสว่างอยู่เสมอ จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์นั้นเป็นลัทธิบูชาไฟ
การประกอบพิธีกรรมภายในศาสนสถานของศาสนิกโซโรอัสเตอร์ สังเกตการคลุมผมและจมูกเพื่อป้องกันมิให้สิ่งสกปรกปนเปื้อนอาหารและกระถางไฟในพิธี (เครดิตภาพ HTTP://ZOROASTRIANISMSCM.WEEBLY.COM/)
ความเข้าใจที่ไขว้เขวอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เรามักเรียกศาสนานี้ว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์ เพราะโซโรอัสเตอร์หรือซาราธุสตรา (Zarathustra) เป็นชื่อของศาสดาที่นำพระวจนะของ อาฮูรา มาซด้า (Ahura Mazda) พระผู้เป็นเจ้าแห่งปัญญาและแสงสว่างมาเผยแพร่แก่มนุษยชาติ ชาวปาร์ซีในอินเดียและปากีสถานและศาสนิกชนที่ยังหลงเหลืออยู่ในอิหร่าน อิรัก และประเทศแถบเอเชียกลางมักเรียกศาสนาของตนว่า มาซด้ายาสนา (Mazdayasana) โดยชื่อของรถยนต์ญี่ปุ่นยี่ห้อมาสด้าก็มาจากชื่อของเทพเจ้าพระองค์นี้

ศาสนาโซโรอัสเตอร์นั้นเป็นศาสนาแรกในโลกที่เชื่อในพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียว โดยนักวิชาการก็จะเชื่อว่า คัมภีร์และธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาโซโรอัสเตอร์นั้นก็จะเป็นที่มาของศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวที่พัฒนาขึ้นมาในยุคหลังๆ ทั้งศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องทูตสวรรค์ โลกหลังความตาย การแบ่งแยกสิ่งที่บริสุทธิ์และสิ่งสกปรก ตลอดจนประเพณีการคลุมผมในการปฏิบัติศาสนกิจ
ฟาราวาฮาร์ สัญลักษณ์ของ การคิดดี พูดดี ทำดี ในศาสนาโซโรอัสเตอร์ (เครดิตภาพ HTTP://WWW.ANOBANINI.COM/FORUM/VIEWTOPIC.PHP?F=37&T=1610)
คำสั่งสอนที่เป็นหัวใจหลักของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่ชาวปาร์ซียึดถือ คือ การคิดดี การพูดดี และการทำดี ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักจะพบคนเชื้อสายปาร์ซีในการทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยในอินเดียและเอเชียใต้นั้นมีคำพูดเปรียบเปรยว่า “ชื่อปาร์ซีนั้นอยู่คู่กับการกุศล” (Parsi, thy name is charity) ในฮ่องกง มหาวิทยาลัยฮ่องกง สถาบันการศึกษาอันมีชื่อเสียงระดับโลกนั้นก็ได้รับการก่อตั้งและสนับสนุนเงินทุนโดยชาวปาร์ซีที่อาศัยอยู่ในฮ่องกง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไปแห่งแรกในสิงคโปร์ก็ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากชุมชนปาร์ซีที่เข้าไปตั้งรกรากในสิงคโปร์

มหาตมะคานธีถึงกับกล่าวไว้ในครั้งหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าภูมิใจในประเทศอินเดียของข้าพเจ้าที่ได้ให้กำเนิดศาสนิกโซโรอัสเตอร์ ที่แม้อาจจะมีจำนวนไม่มาก แต่จิตอันเป็นกุศลและการอุทิศเพื่อสาธารณะประโยชน์ของพวกเขานั้นไม่อาจที่จะมีผู้ใดเทียบทานได้” (I am proud of my country, India, for having produced the splendid Zoroastrian stock, in numbers beneath contempt, but in charity and philanthropy perhaps unequalled and certainly unsurpassed.)

พิธีกรรมในชีวิตที่สำคัญของชาวปาร์ซีประเพณีหนึ่งก็คือ การประกาศตนว่าเป็นปาร์ซี ที่เรียกว่า นวโชติ (Navjote) เมื่อเด็กเชื้อสายปาร์ซีโตพอที่จะรู้ความ ก็จะถึงเวลาที่เด็กคนนั้นจะต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนศาสนิกโซโรอัสเตอร์หรือไม่ ถ้าเด็กตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เด็กคนนั้นก็จะต้องเรียนบทสวดเพื่อชำระล้างจิตใจและร่างกายให้บริสุทธิ์ เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมพิธี ณ วัดไฟใกล้บ้าน

ในระหว่างการประกอบพิธีกรรม เด็กปาร์ซีก็จะต้องแต่งกายด้วยชุดสีขาว อันประกอบด้วย เสื้อกางเกง ผ้าคลุมไหล่ และหมวกคลุมผม ยืนหันหน้าเข้ากระถางเพลิงที่ไม่เคยมอดดับ พร้อมกับบริกรรมบทสวดที่เตรียมมา ในขณะที่นักบวชนำเชือกสีขาวที่ฝั้นขึ้นมาจากเส้นด้าย ๗๒ เส้น ตามจำนวนบทใน พระคัมภีร์ยาสนา มาพันรอบเอวเด็กคนนั้น จนเมื่อพันได้ครบสามรอบก็จะเป็นเครื่องหมายว่าเด็กคนนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของสังฆะและชุมชน

ในเมืองที่ไม่มีวัดไฟอย่างกรุงเทพฯ คนไทยเชื้อสายปาร์ซีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตนเองและญาติพี่น้องก็จะต้องเดินทางไปที่บอมเบย์เพื่อประกอบพิธีกรรมดังกล่าว โดยส่วนมากก็จะอยู่เรียนหนังสือต่อจนจบการศึกษาก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย
การแต่งงานของชาวปาร์ซีในมุมไบ ราว ค.ศ. ๑๙๒๔ (เครดิตภาพ HTTP://WWW.OLDINDIANPHOTOS.IN/)
จากคำมั่นสัญญาที่ชาวปาร์ซีให้ไว้ว่า จะไม่มีการเผยแพร่ศาสนาโซโรอัสเตอร์บนผืนแผ่นดินฮินดูสถาน การแต่งงานกับคนนอกศาสนานั้นจึงเท่ากับการสิ้นสุดของเชื้อสายปาร์ซีและความเป็นศาสนิกโซโรอัสเตอร์ของทายาท จากการที่ชาวปาร์ซีเชื่อว่าตนเป็นคนหัวสมัยใหม่ ครอบครัวปาร์ซีจึงไม่เชื่อในการคลุมถุงชน แต่ในขณะเดียวกันยังมีความต้องการที่จะให้ลูกสาวหรือลูกชายแต่งงานกับคนปาร์ซีด้วยกัน การหาคู่แต่งงานของชาวปาร์ซีก็จะเป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

กิจกรรมการหาคู่ของชาวปาร์ซีที่น่าสนใจกิจกรรมหนึ่งก็คือการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนสาธารณะเฟรอซชาห์ เมห์ธา หรือที่เรียกกันว่าสวนลอยแห่งเนินเขามลาบาร์ (Hanging Garden of Malabar Hills) คนไทยเชื้อสายปาร์ซีคนเดียวกันได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บิดาของเธอก็ถูกส่งตัวไปจากกรุงเทพฯ เพื่อไปนั่งดูตัวว่าที่เจ้าสาว ณ สวนแห่งนี้ โดยนั่งอยู่ทุกวันเป็นเวลานานหลายอาทิตย์ก็ไม่พบใครถูกใจ จนกระทั่งถึงวันที่จะต้องกลับกรุงเทพฯ ถึงได้พบกับคุณแม่ของเธอจากคำแนะนำของเพื่อน ในปัจจุบัน ถ้าผู้อ่านคนใดได้มีโอกาสไปเยือนสวนแห่งนี้ ก็ขอให้ลองสังเกตกิจกรรมดูตัวของชาวอินเดียเชื้อสายปาร์ซีว่ามีความน่ารักและน่าสนใจเพียงใด
หอคอยแห่งความสงัดบนเนินเขามาลาบาร์ นครมุมไบ (ภาพวาดสีน้ำคริสตศตวรรษที่ ๒๐)
นอกจากนี้แล้ว ใกล้ๆ กันกับสวนลอยแห่งเนินเขามาลาบาร์ก็ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจของชาวปาร์ซีอีกแห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนั้นก็คือ หอคอยแห่งความสงัด (Tower of Silence) อันเป็นสถานที่ที่ชาวปาร์ซีแห่งมุมไบนอนพักกายหลังความตาย จากความเชื่อที่ว่าอำนาจมืดจะเข้ามาแทนที่วิญญาณของมนุษย์เมื่อวิญญาณออกจากร่าง ซากศพจึงเป็นสิ่งที่ไม่สะอาดสำหรับชาวปาร์ซี การฝังศพลงไปใต้พื้นดินหรือการเผาศพด้วยไฟโดยตรงจะเป็นการทำให้ธาตุดินและธาตุไฟอันเป็นแหล่งกำเนิดของพลังงานและชีวิตไม่บริสุทธิ์ไปด้วย ชาวปาร์ซีจึงใช้วิธีการฝังศพในอากาศ โดยให้นกแร้งและแสงอาทิตย์เป็นตัวกำจัดสิ่งที่เน่าเสียและอำนาจมืด ก่อนที่จะนำโครงกระดูกที่สะอาดแล้วไปประกอบพิธีกรรมต่อไป

โดยส่วนมากแล้ว หอคอยแห่งความสงัดนี้มักจะถูกสร้างขึ้นกลางป่าเขาที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัยของผู้คน แต่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วก็ทำให้ หอคอยแห่งความสงัดในมุมไบหรือการาจีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของใจกลางเมือง นอกจากนี้แล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามหลังการขยายตัวของเขตเมือง ก็คือ การลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของประชากรนกแร้ง ในปัจจุบัน ชุมชนชาวปาร์ซีในมุมไบจึงได้ทดลองเพาะพันธุ์นกแร้งไว้สำหรับการฝังศพในอากาศโดยเฉพาะ อีกทั้งได้ค้นคิดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในหอคอยแห่งความสงัดเพื่อเร่งการย่อยสลายของศพ
การจัดเรียงศพเพื่อการชำรพร้างโดยแสงอาทิตย์และนกแร้งภายในหอคอยแห่งความสงัด (ภาพวาดสีน้ำคริสตศตวรรษที่ ๒๐)
ในปัจจุบัน ชาวปาร์ซีในอินเดียส่วนหนึ่งได้หันไปใช้วิธีการฝังหรือเผาศพแทนที่การนำศพไปพักไว้ที่หอคอยแห่งความสงัด อย่างธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนิกโซโรอัสเตอร์ในที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเมืองที่ไม่มีทั้งวัดไฟและหอคอยแห่งความสงัดอย่างกรุงเทพมหานคร

ถึงตอนนี้ ผู้อ่านส่วนใหญ่คงแปลกใจว่า ในเมืองไทยมีคนเชื้อสายปาร์ซีอยู่ด้วยหรือ? ผู้เขียนขอตอบตรงนี้เลยว่า “มี” และคนไทยเชื้อสายปาร์ซีเหล่านี้เองที่มีส่วนช่วยพัฒนาสยามและประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ อย่างที่เราต้องประหลาดใจ

สำหรับบทความในคราวหน้า ผู้เขียนจึงจะขอเขียนอุทิศให้แก่ชาวปาร์ซีแห่งสยามและคุโณปการของประชาชนไทยที่ไม่เคยได้รับการยกย่องกลุ่มนี้
สตรีเชื้อสายปาร์ซีแห่งบอมเบย์ ราว ค.ศ. ๑๘๙๐ ส่าหรีที่เธอห่มนั้นเรียกว่า ปาร์ซีการ่า หรือ ผ้าปักแบบปาร์ซี อันเป็นการผสมลวดลายแบบจีน อินเดียและตะวันตกเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องด้วยพ่อค้าชาวปาร์ซีมีบทบาทสำคัญในการค้าฝิ่นระหว่างเอเชียใต้กับตะวันออกไกล (เครดิตภาพ HTTP://WWW.OLDINDIANPHOTOS.IN/)
กำลังโหลดความคิดเห็น