xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

NGO กับจิตอาสา ได้หน้าและได้เงิน หรือ ได้หน้าและเสียเงิน

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


NGO กับ จิตอาสา นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
NGO เป็นอาชีพ ที่ต้องการเงิน จากการทำงาน NGO แต่ NGO ไม่ใช่จิตอาสา
เพราะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ มีโครงสร้าง มีการว่าจ้าง มีเงินเดือนให้

ทั้งนี้ NGO รุ่นใหญ่ ตระกูล ส อย่างนายนิมิตร์ เทียนอุดม เองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า NGO ต้องกินต้องใช้เงิน ดังบทความ รู้จัก “นิมิตร์ เทียนอุดม” NGO สุขภาพ...แถวหน้า/คอลัมน์...ส่องฅนคุณภาพ ใน http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9550000055988 เอาไว้ในปี 2555 ว่า

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับได้สนุก ได้คิดอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่า สิ่งที่เราทำนั้น มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างฝันให้เป็นจริงขึ้นมา แต่ลักษณะงานจะมีอายุสั้น เป็นโครงการ 1 ปี บ้าง 2 ปี ต้องหาผู้สนับสนุนทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินทุนจากต่างประเทศ เพราะงบประมาณเหล่านี้ นอกจากใช้ในการดำเนินงานต่างๆ แล้วยังเป็นเงินเดือนของคนที่ทำงานด้วย

ในความเป็นจริงประเทศไทย เริ่มเป็นประเทศกำลังพัฒนาก้าวข้ามความเป็นประเทศยากจน เลยทำให้ต่างประเทศให้เงิน NGO ไทยลดลง ทางออกคือการเข้ามาหางบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการทำงานและเป็นเงินเดือนของ NGO แทน ผ่านการผลักดันกฎหมาย ร่างกฎหมาย ใช้อำนาจรัฐโดนการเข้าไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรรมการ สสส. และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ได้เงินมากมายเข้ามูลนิธิตัวเองเพื่อไปเป็นเงินเดือน NGO (อ่านได้จากบทความ : นายหน้าค้าความจนและความตาย : ผลักดันกฎหมาย ร่างกฎหมาย ใช้อำนาจรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อประชาชน? ใน http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9600000006118)

ยกตัวอย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้เงินไปจาก สสส. และ สปสช. ไปนับหลายร้อยล้านบาท โดยมีกรรมการมูลนิธิ ไปเป็นบอร์ด สปสช. และ สปสส. ดังรูปด้านล่างนี้ เรียกว่าได้หน้าและได้เงิน ผมเคยได้ยินชาวสันติอโศกกล่าวคำสอนว่า “เลวที่สุดในแผ่นดินคือหากินกับคำว่าช่วยเขา” แต่จำไม่ได้เสียแล้วว่าใครในชาวอโศกเป็นผู้กล่าวประโยคนี้ อันที่จริง ชาวอโศก ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติเป็นของตนเอง มีแต่สาธารณโภคี ของกลาง แม้กระทั่งเสื้อผ้าก็มาจากขยะหรือของเก่าทั้งหลาย แต่ทำงานเพื่อส่วนรวม น่าจะเป็นตัวอย่างของจิตอาสาที่ชัดที่สุด


จิตอาสา คือคนที่ไม่ได้หวังเงินหรือต้องมีรายได้จากการทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม ทำด้วยใจไม่ได้เงินค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือน หลายๆ คนที่เคยเป็นจิตอาสาคงทราบดีว่าหลายๆ ครั้งได้เสียเงินในการเป็นจิตอาสาควักเงินตัวเอง ส่วนเรื่องได้หน้าก็อาจจะได้บ้าง แต่จิตอาสาที่แท้จริง ย่อม ปิดทองหลังพระ ทำตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖



ในสายตาผม ผมคิดว่า “ครูเชาว์-เชาวลิต สาดสมัย” ครูอาสาศูนย์สร้างโอกาสสะพานพระราม 8 พ่อ หรือฮีโร่ ของเด็กเร่ร่อน เป็นครูข้างถนน ผู้พิการที่เติบโตมาจากบ้านราชาวดี ผู้ถือคติ “ไม่มีใครเห็นคุณค่าของตัวเรา หากเราไม่เริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเอง” เจ้าของรางวัลคนเล็กหัวใจใหญ่ จากรายการคนค้นคน น่าจะเป็นตัวอย่างของจิตอาสาที่แท้จริง (ดูเรื่องของครูเชาว์ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=2YfMD0iSXp4 และอ่านได้จาก
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/256953)



สิ่งที่น่ายกย่องคือ ครูเชาว์ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม เป็นผู้พิการทางสายตา ทางสมอง ร่างกายพิการ แต่จิตใจไม่พิการเลยแม้แต่น้อย และเก็บขยะมาขายเพื่อมาสอนหนังสือเด็กและช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน ครูเชาว์เลือกที่จะออกจากสถานสงเคราะห์ ครูเชาว์กล่าวว่า ผมไม่ชอบอยู่มูลนิธิ มูลนิธิต้องมีจำนวน มีเป้าว่าต้องทำให้ได้เท่าไหร่ ผมชอบเป็นจิตอาสามากกว่า

ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) ดาราฮอลีวู้ดชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อคุณเติบโตขึ้น คุณจะค้นพบว่าคุณมีสองมือ มือหนึ่งสำหรับช่วยเหลือตนเอง อีกมือหนึ่งสำหรับช่วยเหลือผู้อื่น (As you grow older, you will discover that you have two hands, one for helping yourself, the other for helping others.) คนจะเป็นจิตอาสาต้องช่วยเหลือตนเองได้ก่อน

สังคมไปคิดว่า NGO เป็นจิตอาสา พวก NGO ตระกูล ส ไม่ได้เป็นจิตอาสา แต่ทำงานหาเงิน โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้มาจากผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ซึ่งได้ทอนมาจากการที่ สปสช. ซื้อยา

พวกนี้ไม่ได้มีจิตอาสา แต่ว่ามีเงินเดือนตอบแทนให้
จิตอาสาจริงๆ คือทำไปไม่ได้เงิน แต่ได้ความสุขใจ
แยกแยะกันออกไหมครับผม

หลายคนเมื่อเริ่มแรกก็เป็นจิตอาสา ไปๆ มาๆ ทำอาชีพ NGO ทำมาหากิน หาเงินใช้กับอาชีพ NGO

สังคมไทยต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง NGO กับ จิตอาสา อย่างแรกได้หน้าและได้เงิน อย่างหลังอาจจะได้หน้า แต่ต้องมีใจบริสุทธิ์ต้องการปิดทองหลังพระ และอย่างหลังนี้มักจะเสียเงิน ไม่ได้เงินแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น