คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ทำงานกันมาเดือนเศษแล้ว แถลงแนวทางการปฏิรูปมาก็หลายครั้ง แต่ยังไม่มีอะไร “โดนใจ” ประชาชน ไม่มีแนวทางใดที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า การปฏิรูปตำรวจตามเจตนารมณ์ของคนทั้งประเทศจะเกิดขึ้นจริง
การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ทำท่าจะถูกทำให้เรื่องยากไปเสียแล้ว
ถ้าตั้งใจจะปฏิรูปตำรวจกันจริง คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คน แทบไม่ต้องเสียเวลามานั่งถกกันว่า จะปฏิรูปตำรวจในแนวทางไหน และไม่มีโจทย์ใดที่ต้องแก้ไข เพราะประชาชนสะท้อนสิ่งที่ต้องการมาแล้ว
ประชาชนแสดงเจตนารมณ์มาตลอดว่า ต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจไปในแนวทางใด
หลักใหญ่ของการปฏิรูปคือ การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการกระจายอำนาจตำรวจ โดยเป็นตำรวจจังหวัด อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด
สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อไหร่ โพลแทบทุกสำนักระบุเหมือนกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้แยกงานสอบสวนจากตำรวจ และกระจายอำนาจตำรวจ
คัดค้านการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงคนเดียว ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจล้นฟ้า ชี้เป็นชี้ตายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนกว่า 2 แสนราย
และมีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่จะกำกับดูแลผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้
แต่ทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร มักจะเกรงใจตำรวจ กลัวตำรวจ ไม่อยากมีปัญหากับตำรวจ หรืออาจใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม จึงไม่มีใครคิดแก้ไขปัญหาตำรวจ
ตำรวจลอยนวลมาตลอด จะเกิดกรณีข่มเหงรังแกชาวบ้าน จะรับส่วย จะรีดไถ จะเลือกหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะลุแก่อำนาจ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องมัวหมอง ไม่ต้องกลัวใครจะเล่นงาน เพราะจะได้รับการปกป้องจากผู้บังคับบัญชา
ช่วยแก้ต่าง ช่วยแก้ตัว ช่วยฟอกตัว ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผิดให้เป็นถูก จนมีข่าวฉาวโฉ่ตำรวจ “กร่าง” เป็นประจำ
จะมีข่าวรีดไถ จะมีข่าวการซื้อขายตำแหน่ง จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการทุจริตขนาดใหญ่ ซึ่งสวนทางนโยบายการปราบทุจริต รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่เคยแสดงอาการโกรธกริ้วอย่างไรกับพฤติกรรมตำรวจ
ฝ่ายปกครองกับทหาร ประสานกำลังกันทลายบ่อนไม่รู้กี่สิบบ่อน ตรวจจับสถานบันเทิงผิดกฎหมาย เปิดเกินเวลา เป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชนไม่รู้เท่าไหร่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ค่อยกระตือรือร้นกับการปฏิรูปตำรวจแต่อย่างใด
การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ อาจเกิดขึ้นโดยเสียไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะกระแสเรียกร้องของประชาชนไม่ไหว แต่รัฐบาลยังเอาใจตำรวจอยู่ดี เพราะตั้งตำรวจร่วมเป็นกรรมการถึง 15 คน ทั้งที่ควรจะมีตำรวจในคณะกรรมการปฏิรูปฯ ให้น้อยที่สุด
แต่เปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของตำรวจเข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปฯ ให้มากสุด แต่ปรากฏว่า กลุ่มคนที่รู้ปัญหาตำรวจดี กลับได้รับการแต่งตั้งเข้ามาน้อยมาก
ปฏิรูปตำรวจเรื่องง่ายๆ แทบไม่มีโจทย์ให้ต้องคิดมากเลย และแทบไม่ต้องเปิดรับความคิดเห็นประชาชนให้เสียเวลา เสียงบประมาณ
เพราะประชาชนประกาศเจตนารมณ์ตลอดว่า ต้องการให้แยกงานสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องการให้กระจายอำนาจตำรวจ ไม่ต้องการเห็นระบบรวมศูนย์ ผูกขาดอำนาจล้นฟ้าที่ผบ.ตร.เพียงคนเดียว
ถ้ายอมรับความจริงว่า ตำรวจฟอนเฟะจนเกินเยียวยา จำเป็นต้องผ่าตัดครั้งใหญ่ ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อนำสังคมสู่ความสงบสุข และปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่
และถ้าไม่เกรงใจ ไม่เกรงกลัวตำรวจ ไม่มีเหตุผลใดที่พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ ไม่มีเหตุผลใดที่การปฏิรูปตำรวจจะไม่เสร็จสิ้นในรัฐบาลทหาร
เว้นเสียแต่การปฏิรูปตำรวจ จะเป็นเพียงปฏิบัติการ “ปฏิลวง” กลายเป็นรายการ “ปาหี่” ปลิ้นตาใส่คนดูเท่านั้น โดยพล.อ.ประยุทธ์ไม่คิดจะ “แตะ” ตำรวจตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจเท่านั้น
ปฏิรูปตำรวจเรื่องง่ายนิดเดียว จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนต้องเศร้าใจมาตลอด 3 ปี และมีแนวโน้มที่จะต้องเศร้าต่อไปตลอดชาติ
เพราะรัฐบาลทหารอยู่บนเงื่อนไขพร้อมที่สุดแล้วที่จะปฏิรูปตำรวจ ถ้าไม่ทำ จะโยนให้ใครหน้าไหนต้องแบกรับภาระแทนพล.อ.ประยุทธ์ล่ะ