xs
xsm
sm
md
lg

11 คณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดพลังงานทำสิ้นหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายใหม่ที่ออกในยุค คสช. ต้องการให้มีคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน มาปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

โดยรายชื่อกรรมการแต่ละด้าน ที่ออกมา รวมเบ็ดเสร็จ 120 คน แต่รวมโควต้า ทั้งหมดแล้วยังขาดอีก 45 คน ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ คสช.จะตั้งคนเข้าไปเติมได้อีก หลังจากต้องตั้งไปก่อนล็อตแรก เพื่อให้ไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายที่ต้องตั้งกรรมการภายในไม่เกิน 15 วัน หลังกฎหมายประกาศใช้เมื่อ 31ก.ค. ที่ผ่านมา

ที่ต้องจับตาต่อไป ก็คือการตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน ที่จะเป็นการตั้งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาพร้อมกับกฎหมายปฏิรูปประเทศ

***กรรมการยุทธศาสตร์ชาติหรือซุปเบอร์บอร์ด*** จะต้องทำงานประสานกับ กรรมการปฏิรูป 11คณะ หลายอย่าง โดยเฉพาะงานหลักคือ การนำแผนปฏิรูปแต่ละด้านที่กรรมการแต่ละชุดเสนอมา นำไปเขียนเป็นพิมพ์เขียว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงร่วมกันติดตามว่า

หน่วยงานราชการไหน นำแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปไปปฏิบัติ ขับเคลื่อน แล้วบ้าง และทำไปแล้วผลเป็นอย่างไร หรือหน่วยงานไหน ไม่ทำตาม ก็จะต้องถูกเอาผิดยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิด ฐานเพิกเฉย

ซึ่งตามกฎหมาย ***รัฐบาลบิ๊กตู่*** ก็จะต้องตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิ 17คน ภายในไม่เกิน 31ส.ค.นี้ จากนั้น พอได้กรรมการชุดนี้แล้ว ก็จะไปร่วมประชุมกับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งเช่น นายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ. ผบ.สส. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. ปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อไป กก.ยุทธศาสตร์ชาติโควต้าผู้ทรงคุณวุฒิ นั้นก็จะมีวาระห้าปี นับจากได้รับการแต่งตั้งเช่นเดียวกับ กก.ปฏิรูป ฯ

ข่าวในทางลับ บอกมาว่าตอนนี้ มีการทำโผ กก.ยุทธศาสตร์ชาติ มีการลิสต์ชื่อกันไว้หลายคนแล้ว โดยรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขรายชื่อกันอยู่ หลังมีคนส่งชื่อมาจากฝ่ายต่างๆ เกิน17ชื่อ ทำเอา บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม ปวดหัวพอสมควรเพราะเก้าอี้น้อยแต่คนมากันมาก ต้องมีรายการตัดออกไปแน่

ส่วนกก.ปฏิรูป 11คณะตามชื่อที่ออกมา โดยภาพรวม ก็ต้องบอกว่าไม่ถึงกับ ร้องยี้ เพราะแต่ละชุด ก็ได้คนในสายงานนั้นจริงๆ มานั่งเป็นประธานและนั่งอยู่ในกรรมการ พอสมควร

แม้ว่า อาจมีบางรายชื่อ ดูแล้วไม่น่าเข้ามาได้ แต่ก็ยังเข้ามาได้ เพราะได้ตั๋วดี ตั๋วแข็ง เลยเข้ามาแบบไม่ต้องไปลุ้นมาก แต่ก็มีอีกหลายคน เข้ามาด้วยความเหมาะสม เหมาะกับสายงาน

เช่นประธานชุดต่างๆ ได้เบอร์ใหญ่มาเกือบทุกชุด เป็นต้นว่า ด้านการเมือง อย่าง ***เอนก เหล่าธรรมทัศน์*** คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม. รังสิต -ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มี ***นายกฤษฎา บุญราช*** ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน-ด้านกระบวนการยุติธรรม ***นายอัชพร จารุจินดา*** อดีตเลขาธิการกฤษฎีกาและกรรมการร่างรธน. เป็นประธาน

-ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม***นายรอยล จิตรดอน*** ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เป็นประธานหรือด้าน การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มี ***นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ*** อดีตประธาน ป.ป.ช. เป็นประธาน

พวกที่ยกตัวอย่างมากนี้ ต้องถือได้ว่า ตั้งคนได้เหมาะสมเกินคาด รวมถึงการได้อีกหลายคน มาช่วยงานด้วยเช่น ***ศาสตราจารย์ วิชา มหาคุณ*** อดีตปปช. ที่มาเป็นกก.ปฏิรูปด้านป้องกันทุจริต ร่วมกับทีมเดิมอย่าง ***ปานเทพ และกล้าณรงค์ จันทิก*** ที่อยู่ในชุดนี้

ขณะเดียวกัน การไม่ตั้งคนบางคนเช่น ***พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร*** เป็นประธานปฏิรูปด้านสื่อ ถือว่าทำถูกต้องแล้ว เพราะผลงานที่ผ่านมา สมัยเป็นประธานกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ ของสปท. มีแต่สร้างปัญหา ไม่ได้รับการยอมรับอย่างมาก เช่นเดียวกับที่***พล.ต.ต.พิศิษฐ์ เปาอินทร์*** อดีตสปท.มือขวาของพล.อ.อ.คณิต ที่จ้องแต่จะคุมสื่อแบบไม่มีเหตุผล ที่ชื่อหลุดโผไปแบบพลิกความคาดหมาย

พอมีชื่อ *** จิรชัย มูลทองโร่ย*** ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คนวงการสื่อก็เลยเฮกันได้ ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลตั้งคนจากสื่อค่ายใหญ่ทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน เครือเนชั่น มาเป็นกก.ปฏิรูปสื่อกันครบ ก็น่าจะสะท้อนนัยยะอะไรบางอย่างของคนในคสช.ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

แต่ที่หลายคนผิดหวังมากสุด คงไม่พ้น กก.ปฏิรูปด้านพลังงาน ที่ให้ ***พรชัย รุจิประภา *** อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน แถมด้วยกก.อีกเกือบทั้งคณะเป็นกลุ่มทุนพลังงานเช่น ***มนูญ ศิริวรรณ*** อดีตสปช. และอดีตผู้บริหารบางจาก ดุสิต เครืองาม อดีต สปท.ด้านพลังงาน น้องชาย วิษญุ เครืองาม , ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงานและปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดปตท. มารวมกันอยู่ในกก.พลังงาน ชุดนี้

แน่นอนว่า หลายคนในกก.ชุดนี้ นอกจากไม่มีแนวคิดปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้พลังงานเป็นของประชาชน นอกจากจะไม่ปล่อยปตท.ถูกตรวจสอบได้แล้ว ยังมีแนวคิดออกไปในทางขัดขวางการปฏิรูปพลังงาน แต่สนับสนุนระบบทุนนิยม เข้ามาควบคุมกลไกพลังงานของชาติแบบเบ็ดเสร็จ

***ดูแล้ว เรื่องปฏิรูปพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาสามปีของการยึดอำนาจ เป็นจุดอ่อนของคสช.ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้***

เมื่อมีการส่งไม้ต่อเรื่องนี้ จากสปช.-สปท.มาให้กก.ปฏิรูปพลังงานชุดนี้ แนวโน้มทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานไปในทางที่ประชาชนต้องการ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติบ้านเมืองและคนไทย ก็ส่อว่ายิ่งสิ้นหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น