ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 15 สิงหาคม 1947 คือ วันประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย หากนับจากปี 1858 เมื่อสหราชอาณาจักรส่งผู้สำเร็จราชการมากำกับแลฮินดูสถาน (Hindustan, ชื่อเรียกอาณาจักรของราชวงศ์โมกุลที่รวมทั้งอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอัฟกานิสถานเข้าด้วยกัน) นั่นก็เท่ากับว่าอินเดียตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรมายาวนานต่อเนื่องถึงกว่า 89 ปี และ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2017 นั่นก็หมายความว่าอินเดียก็จะมีเอกราชเป็นรัฐสมัยใหม่มาต่อเนื่องแล้ว 70 ปี
อินเดียไม่เคยเป็นประเทศๆ เดียว ที่ประชาชนมีอัตลักษณ์ร่วมกัน หากแต่อินเดียเป็นรัฐอิสระจำนวนมากที่ต่างก็มีการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตลอดรวมถึงภาษาที่แตกต่างกันมาโดยตลอด อย่างน้อยก็มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว อย่าลืมนะครับว่าตอนที่เราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาสมัยประถม-มัธยม เราก็รับรู้มาตลอดว่า เจ้าชายสิทธัตถะคือองค์รัชทายาทแห่งประเทศกบิลพัสดุ์ หรือพระเจ้าอโศกเองก็เป็นผู้ปกครองรัฐที่เป็นมหาอำนาจในสมัยนั้น นั่นคือแคว้นมคธ ดังนั้นทั้งกษัตริย์มุสลิม และอังกฤษที่เข้ามาในยุคหลังจึงใช้การเสี้ยมให้แตกสามัคคี การยุให้แตกแยก ทำให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์โมกุล หรือสหราชอาณาจักร ต่างก็สามารถยึดครองแผ่นดินแห่งนี้ได้
คำถามก็คือแล้วใครล่ะที่เป็นผู้ที่ทำให้ชาวภารตะจำนวนนับล้านๆ คนสามารถลุกขึ้นมารวมพลังกัน ยอมรับในความเป็นรัฐชาติร่วมกันและผลักดันให้เจ้าอาณานิคมที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โลกต้องยอมแพ้และมอบเอกราชคืนแก่อินเดีย แน่นอนครับ เครดิตนี้ต้องยกให้แก่ Mohandas Karamchand Gandhi หรือ มหาตมะคานธี ที่พวกเรารู้จักกัน ชายคนนี้เกิดในครอบครัวฮินดูวรรณะแพศย์ เรียนจบกฎหมายจาก Inner Temple, University College London แต่กลับมาเป็นผู้นำการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมโดยใช้หลักการแห่งความจริงและความสันติ (สัตยเคราะห์และอหิงสา) แน่นอนคานธีไม่ใช่คนแรกที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อังกฤษ แต่เขาคือคนแรกที่สอนอังกฤษว่า ต่อให้คุณมีอาวุธ มีกองกำลังใหญ่โตน่าเกรงขามมากเพียงใดก็ตาม คุณก็ไม่มีทางสู้ความจริง ความถูกต้อง และความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนนับล้านๆ คนที่มือเปล่า ไม่ต่อสู่ ไม่ตอบกลับ และ ไม่หนี หากแต่ต้องการพิสูจน์ความจริงด้วยความอดทนอดกลั้นไม่ได้ และชายคนนี้เองที่ทำให้จักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต้องยอมแพ้
แต่กระบวนการสร้างชาติ และเรียกร้องเอกราชคงไม่สามารถสำเร็จได้หากมีเพียงคานธีคนเดียวเท่านั้น แต่เราคงต้องพูดถึงอีก 3 บุคคลซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในกระบวนการนี้ แน่นอนคนที่ 2 ที่ผมจะต้องพูดถึงนั่นก็คือ Jawaharlal Nehru หรือ บัณฑิตเนห์รู เนห์รูเป็นชาวแคชเมียร์ที่เกิดในครอบครัวของนักวิชาการ เนห์รูเรียนจบจาก Trinity College มหาวิทยาลัย Cambridge ทางด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เนห์รูยังสนใจประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครองและเศรษฐศาสตร์ อีกด้วย และเมื่ออินเดียได้รับเอกราช เขาก็เป็นผู้สนับสนุนให้อินเดียเดินหน้ากระบวนการสร้างชาติโดยยึดหลักการของประชาธิปไตยและทำให้อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลักการสันติภาพ เสรีภาพ เสมอภาค และการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายยังคงเป็นค่านิยมหลักของคนอินเดียกว่า 1,200 ล้านคนมาจนถึงทุกวันนี้ แน่นอนในทางเศรษฐกิจเนห์รูนิยมชมชอบระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เน้นการพึ่งพาตนเอง แต่ก็ไม่ลืมที่จะเน้นการพัฒนาในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แน่นอนว่าทุกวันนี้นักคิด นักวิเคราะห์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ของอินเดียทำงานอยู่ทั่วโลก ต้องไม่ลืมนะครับว่า Google บริษัทที่มีเทคโนโลยี AI, Machine Learning, Cloud Computing ฯลฯ ดีที่สุดในโลกก็มี CEO เชื้อสายอินเดียนามว่า Sundar Pichai และก็ต้องไม่ลืมอีกด้วยว่า บนดาวอังคารนอกจากยานสำรวจของสหรัฐอเมริกาแล้ว Mangalyaan หรือมงคลยานของอินเดียก็ลงจอดและกำลังเดินหน้าส่งข้อมูลดาวอังคารกลับมายังโลก
บุคคลที่ 3 ที่ผมคงจะต้องเป็น Dr.Bhimrao Ramji Ambedkar หรือที่คนอินเดียนิยมเรียกว่า Baba Saheb ดร.อัมเบดการ์เกิดนอกวรรณะ ใช่ครับเขาเป็นดาลิต (Dalit หรือที่คนไทยนิยมใช้คำว่า จัณฑาล ซึ่งไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะเป็นคำที่ดูถูกความเป็นคนอย่างยิ่ง) แม้จะยากจนและเป็นที่รังเกียจของคนจำนวนมากมาตั้งแต่วัยเด็กเพียงเพราะเขาเกิดมาเป็นดาลิต แต่ด้วยความที่เป็นคนเก่งและได้รับการสนับสนุนจากมหาราชาแห่งบาโรดาซึ่งเป็นผู้ไม่รังเกียจในเรื่องวรรณะทำให้เขาได้รับทุนและสามารถไปเรียนต่อจนจบระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Columbia แห่งสหรัฐอเมริกา และ London School of Economics แห่งประเทศอังกฤษ แม้ว่าเขาจะกลับมาทำงานในหน่วยงานของสหราชอาณาจักรในประเทศอินเดีย แต่เมื่อถึงเวลาแห่งการสร้างชาติ Ambedkar ก็เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ร่วมกระบวนการเรียกร้องและเป็นผู้ที่เตือนสติให้คานธีต้องมองเห็นความสำคัญของกลุ่มดาลิต ซึ่งคานธีเรียกทวาร หริชน (หรือบุตรของพระเจ้า) Ambedkar คือคนที่เข้าใจในเรื่องของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เข้าใจในการบูรณาการทุกภาคส่วนของสังคมเข้าไว้ด้วยกัน (Inclusive) และเขาคือคนที่เป็นสถาปนิกในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย ซึ่งทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่าเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะในเรื่องของความเสมอภาคและการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีคนกล่าวกันด้วยซ้ำว่า ด้วยความที่เขาเคยทำงานอยู่กับระบบของอังกฤษ เป็นนักวิชาการ เป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก และเขาเคยกล่าวด้วยซ้ำว่า เขาเกิดเป็นฮินดู แต่จะไม่ขอตายโดยเป็นฮินดู เคยมีเรื่องเล่าด้วยซ้ำไปว่า ตะวันตกบางประเทศพร้อมที่จะเสนอชื่อให้เขาเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล ถ้าเพียงแต่เขาเลือกที่จะเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาที่คนตะวันตกนิยมและยอมรับ แต่ Ambedkar เลือกที่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธและเป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญของขบวนการ Dalit Buddhist Movement ที่ทำให้ในปัจจุบันคนดาลิตจำนวนมากในอินเดียนิยมเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาตามแบบของ Dr.Ambedkar
และคนสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงในกระบวนการสร้างชาติที่สำคัญที่สุดอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือ Rabindranath Tagore ที่คนไทยนิยมเรียกเขาว่า รพินทรนาถ ฐากุร Tagore เกิดในวรรณพราหมณ์ที่ร่ำรวยและเป็นกลุ่มที่มีหัวคิดก้าวหน้าทางสังคมและทางวิชาการเพราะครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนกลางของขบวนการ Bengal Renaissance หรือการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของเขตเบงกอลซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอินเดีย แม้ว่าเขาจะถูกเลี้ยงมาแบบพราหมณ์ เคยเดินจาริกแสวงบุญไปหิมาลัยตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะเดียวกันเขาเองก็เคยเดินทางไปเรียนกฎหมายที่ University College London และยังเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกในอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Tagore ก็คืองานเขียน นอกจากกวี บทเพลง บทกลอนที่โด่งไปทั่วแล้ว งานเขียนที่ทรงคุณค่าที่สุดของ Tagore ก็คือการเผยแพร่คำสอนของศาสนาฮินดู Gitanjali หรือ คีตาญชลีให้คนทั้งโลกได้รับรู้ และนั่นทำให้ Tagore เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล
เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องเอกราช และแสดงออกในลักษณะของอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) อาทิ ในช่วงที่เกิดการฆาตกรรมหมู่ที่เมืองอมฤตสาร์ หรือ Jallianwala Bagh Massacre (13/4/1919) เมื่อคนอินเดียนับพันถูกฆาตกรรมโดยกองทัพอังกฤษภายใต้การนำของ Colonel Reginald Dyer และเหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษเริ่มเข้าสู่จุดจบของการปกครองอินเดียแล้ว เพราะพวกเขาต้องใช้อาวุธและความอธรรม ความทารุณโหดร้ายเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่า และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น Tagore เองก็ประกาศขอคือตำแหน่งอัศวิน (Knighthood) และประกาศว่าตนเองละอายเหลือเกินที่จะเป็นส่วนหนึ่งหรือแม้แต่จะรับเกียรติยศจากสหราชอาณาจักร ในปี 1940 Tagore ก็เป็นผู้เชิญ Gandhi ให้ไปปาฐกถาที่ Santiniketan ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนชั้นนำในเขตเบงกอล Tagore คือผู้ที่แต่งเพลงให้การปลุกปลอบใจให้ขบวนการเรียกร้องเอกราชเดินหน้าต่อสู้ และในที่สุดเพลงของ Tagore ก็กลายเป็นเพลงชาติของ 2 ประเทศในโลกนั่นคือ อินเดีย และบังคลาเทศ และงานอีกชิ้นที่ถ้าไม่มี Tagore เป็นผู้ดำเนินการ การสร้างชาติอย่างสมบูรณ์ของอินเดียก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นั่นคือ การเป็นคนกลางในข้อขัดแย้งระหว่าง Gandhi และ Ambedkar ในเรื่องของ ดาลิต หรือ the Untouchables ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและง่ายที่จะให้เกิดการผิดใจระหว่างแกนนำของประเทศในขณะนั้น
Tagore นี้เองคือคนที่ให้สมญานาม Makatma (Great Soul, Saint) หรือ มหาตมะ แด่คานธี และคานธีเองก็เรียก รพินทรนาถ ฐากุร ว่า Gurudev หรือ ครุเทพ
กระบวนการสร้างชาติของอินเดียเมื่อ 70 ปีที่แล้วเกิดจากส่วนผสมที่หลากหลายแต่ลงตัว เกิดความขัดแย้งแต่ก็สามารถเดินหน้าร่วมกันเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ แน่นอนว่ากระบวนการสร้างชาติ สร้างอัตลักษณ์ และเดินหน้าประเทศอินเดียยังคงดำเนินต่อไปและเป็นกระบวนการที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่เชื่อเหลือเกินว่า พวกเราในฐานะคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาเพื่อทำให้ประเทศไทยเดินหน้าก้าวไกลในเวทีโลก และใช้ศักยภาพเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและประเทศมหาอำนาจแห่งนี้
บทความนี้เป็นเพียงความรู้บางส่วนที่ได้จากการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างการนำคณะนิสิตเดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากประเทศอินเดียภายใต้โครงการ “ภารตะสิกขยาตรา” ในระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม 2560 ณ ประเทศอินเดีย โดยการสนับสนุนของศูนย์อาเซียนศึกษา และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย