xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

CAPD-First ตกลง สปสช. เป็นนักบุญหรือคนบาป สำหรับผู้ป่วยบัตรทอง

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์/นพ.กฤษณพงศ์ มโนธรรม/ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายแพทย์กฤษณพงศ์ มโนธรรม
นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ โรงพยาบาลเลิดสิน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย


โรคไตเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะไตวายเรื้อรังซึ่งมีวิธีการรักษาได้ที่ยืดอายุผู้ป่วยได้สองวิธี วิธีแรกเป็นการล้างไตทางหน้าท้องที่เรียกกันว่า Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD ซึ่งอาศัยผนังในเยื่อบุช่องท้องเป็นเยื่อเมมเบรนในแลกเปลี่ยนและซึมผ่าน (Osmosis) ในกระแสเลือดออกมา โดยการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง วิธีที่สองคือวิธีการล้างไตทางหลอดเลือด (Hemodialysis) เรียกโดยย่อว่า HD ซึ่งต้องนำโลหิตออกมาผ่านเครื่องฟอกไตและไหลกลับเข้าไปใหม่ ต้องอาศัยพยาบาลด้านโรคไตในการควบคุมเครื่องฟอกไตจึงเป็นวิธีการที่ทำที่บ้านไม่ได้ (เดิมนั้นแม้แต่วิธีการ CAPD ก็ทำที่บ้านไม่ได้เช่นกัน)

วิธีการ CAPD นั้น สปสช. กำหนดให้เป็นวิธีการบังคับวิธีแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังก่อนวิธีการอื่นๆ ซึ่งต้องมีความล้มเหลวทางเทคนิค (Technical failure) ก่อน อันได้แก่ การติดเชื้อในหน้าท้อง (Peritonitis) หรือของเสียคั่งจนอ่อนเปลี้ยเสียก่อนจึงจะไปใช้วิธีการอื่นได้ เรียกว่านโยบาย CAPD-First คนไข้หากจะไม่ใช้วิธีการ CAPD แต่แรกต้องสละสิทธิ์บัตรทองและเปลี่ยนมาเสียเงินเองไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิต

สปสช. และสมาคมโรคไต มักอ้างเสมอว่าวิธีการ CAPD-First ได้ผลดีพอๆ กันกับวิธี HD มีอัตราการตายและการติดเชื้อในต่างประเทศน้อย ดูได้จาก “เลขาสปสช.รณรงค์ล้างไตทางช่องท้อง อ้างงานวิจัยตปท.ติดเชื้อต่ำ – พญ.ประชุมพร ประธานสพศท.โต้ให้ข้อมูลไม่ครบ เสี่ยงสูง” http://thaipublica.org/2012/03/nhso-campaign-peritoneal-dialysis/ ซึ่งวิธีนี้ผลการศึกษาในต่างประเทศจำนวนหนึ่งพบว่าได้ผลค่อนข้างดี แต่ในความจริงต้องแยกให้ออกระหว่างวิธี CAPD และ CAPD-First ว่าเป็นคนละวิธีกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการรักษาให้เป็นการบังคับแต่ต้น ไม่เปิดโอกาสให้แพทย์ได้ใช้ศิลปะในการรักษาให้สอดคล้องกับสภาพผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งลางเนื้อชอบลางยามีความแตกต่างและสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน และยังไม่เปิดโอกาสให้คนไข้เลือกวิธีที่เหมาะสมกับชีวิตของเขา

นอกจากนี้ CAPD ของไทยที่ สปสช. ให้คนไข้ฟอกไตเองที่บ้านวันละ 4 ถุง ถุงหนึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง และต้องมีคนช่วย ทำให้เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อเป็นสี่เท่า นอกจากนี้ยังต้องมีผู้ช่วยทำให้เสียแรงงานไปถึงสองคนเพราะไปทำงานไม่ได้ อันเป็นวิธีการที่ไม่สะดวกต้องทำให้คนสองคนหยุดงานไป 7 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่วิธี HD อาจจะฟอกอาทิตย์ละสองถึงสามวันและยังสามารถไปทำงานได้ในวันที่ไม่ฟอกไต สิ่งที่ต้องแยกแยะอีกประการหนึ่งคือ วิธี CAPD ในต่างประเทศที่ สปสช. และสมาคมโรคไตชอบนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาอ้างอิงนั้น อาจจะไม่ใช่วิธี CAPD เหมือนของไทยประเทศกำลังพัฒนา เพราะของไทยมีถุงน้ำยาล้างไตใส่เข้าใส่ออกวันละ 4 ถุงด้วยตนเอง ส่วนของต่างประเทศใช้วิธี APD หรือ automated peritoneal dialysis: APD วิธี APD นี้ผู้ป่วยไม่ต้องเอาน้ำในถุงน้ำยาล้างไตใส่เข้าออกด้วยมือวันละ 4 ครั้งเหมือนของไทย แต่เสียบสาย APD เข้าท่อแค่ครั้งเดียวในแต่ละวัน โดยเสียบใส่ก่อนนอน หลังจากนั้นเครื่อง APD จะทำงานค่อยปล่อยน้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องและเปิดไหลออกเป็นระยะๆ ไปจนถึงเช้า วิธีนี้น่าจะลดโอกาสในการติดเชื้อลงไปสี่เท่าและยังไปทำงานได้ตามปกติในเวลากลางวัน แต่ในประเทศไทยยังมีการนำเข้ามาใช้น้อยเพราะเครื่องยังมีราคาแพงมากอยู่พอสมควรและสะดวกสบาย ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี และน่าจะมีอัตราการตายน้อยกว่า (ลองดูได้จาก youtube เช่น



ทั้งนี้มี 1) ผลการศึกษาในไทยว่า PD ตายมากกว่าก่อนเริ่มโครงการ CAPD-First โดยสปสช 2) ผลการศึกษาทั่วโลกพบ PD ตายมากกว่า HD และ 3) ผลการศึกษาในไทย พบว่ายิ่งทำ CAPD-First อัตราการตายในผู้ป่วยที่รักษาด้วย PD สูงขึ้น ในขณะที่ HD ไม่พบความแตกต่าง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต ได้แสดงความคิดเห็นที่น่ารับฟังเอาไว้ว่า

การล้างไตทางหน้าท้อง peritoneal dialysis (PD) CAPD หรือ IAPD กันแน่

ได้ไปประชุม ในฐานะที่ผม เป็นปรึกษากรรมมาธิการสาธารณสุข เมื่อวานนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ของ สนช. ไม่ใช่แพทย์ มีผู้เสนอ ท่านหนึ่ง ทาง ส มีการกล่าวว่า ผู้ที่อยากเปลี่ยนจากการทำการล้างไตทางหน้าท้อง (PD) มาเป็นการฟอกเลือด มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผมก็ว่าไม่จริง การให้ข้อมูลของ PD ทำให้ คนเข้าใจผิด ประเด็นอยู่ที่ CAPD first (Continuous ambulatory peritoneal dialysis ไม่มีใครคิดว่าไม่ดี การใช้จะเหมาะสม กับสถานการณ์การ บางคนอาจจะเหมาะ อาจไม่เหมาะกับบางคน การบังคับจึงไม่เหมาะสม การเอาข้อมูลต่างชาติ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาให้ดูดี เป็นการทำให้ผู้ฟัง เข้าใจผิด ในประเทศเหล่านั้น การทำการล้างไต ทางหน้าท้อง เขาทำต่อเนื่อง (continuous) จริง ๆ และผมเชื่อว่า กว่าครึ่งหนึ่งใช้เครื่องอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้แรงงานคน เฝ้าเปิดน้ำเข้าออก ทำอัตโนมัติต่อเนื่องได้ดี ทำกลางคืนเวลาหลับ ตื่นมาไปทำงาน การแทรกซ้อนก็น้อย วันหนี่งมีการต่อท่อครั้งดียว ของเราที่ถูกกำหนดให้เป็น CAPD ก่อน ผมว่าไม่ใช่ continuous เป็น intermittent เพราะไม่ได้ต่อเนื่อง ทำวันละ 4 ครั้ง ครั้งละถุง เป็น 4 เวลา เปิดน้ำเข้าออก วันหนึ่ง เสียเวลาเตรียม ต้องมีผู้ช่วยอีก 1 คน จึงจะทำได้ดี และทำ 4 ครั้งต่อวัน ทำงานนอกบ้าน ไม่ได้แน่นอน จะหาที่สะอาดนอนใส่ท่ออย่างไร อยู่เฝ้าบ้าน ทำงานที่บ้านก็คง OK การใช้ข้อมูลต่างชาติ มาทำให้ดูดี ต่างชาติเป็นต่อเนื่องจริง ๆ และประมาณครึ่งหนึ่ง ใช้เครื่องอัตโนมัติ ประเทศไทย ผมว่าไม่ใช่ เพราะของเรา Intermittent Ambulatory Peritoneal Dialysis (IAPD) มากกว่า

ดังนั้นผมคิดว่าไม่ใช่อ่านหนังสือได้ แต่ต้องอ่านหนังสือเป็น

ไม่มีใครคิดยกเลิกเลย แม้แต่น้อย เพียงแต่ต้องการ ตามความเหมาะสม เดินหน้า รู้ว่าไม่เหมาะ ปรับเปลียน ไม่เสียหน้า มีคนชมเสียอีก ไม่ควรใช้วิธีบังคับ ต้องทำแบบนั้น แบบนี้ก่อน ทั้งที่ราคาค่าใช้จ่าย ไม่แตกต่างกัน เงินจึงไม่เป็นปัญหา ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ควรปรับให้เหมาะกับบุคคล จะเกิดประโยชน์กับคนไข้


วิธีการล้างไตด้วย CAPD-First นั้นมีอัตราการตายที่สูงมากผิดปกติ “นพ.ดำรัส โรจนเสถียร แจงข้อเท็จจริงไตวายเรื้อรังเพิ่ม 800 คน/เดือน จี้ สปสช. ทบทวนล้างไตทางช่องท้อง ชี้เสียชีวิตสูงกว่า 6 พันคน” http://thaipublica.org/2012/05/dumras-tell-the-truth-nephrology/

“องค์การเภสัชกรรม-นพ.ดำรัส โรจนเสถียร แจงโครงการนำร่องลดการตายผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ชี้ตัวเลขไทยสูงปริ๊ด 28% เทียบทั่วโลกอยู่ที่ 5%” http://thaipublica.org/2014/08/dumras-gpo-capd/

“กางข้อมูลสปสช.โต้สปสช. – เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่สปสช.ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด” http://thaipublica.org/2012/03/statistics-patient-died-ambulatory-peritoneal-dialysis/

แม้ว่าวิธี CAPD-First จะมีอัตราการตายที่สูงกว่าแต่ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและ สปสช. กลับอ้างอิงเฉพาะงานวิจัยที่พบว่า CAPD ได้ผลการรักษาที่ดีเท่ากับกันกับ HD และไม่ได้ไปทบทวนว่าในหลายๆ ประเทศนั้น การล้างไตด้วยวิธีการ CAPD มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่า HD มากนัก

ผลการศึกษาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ McDonald, S.P, M. R Marshall, D.W Johnson, and K.R Polkinghorne. 2009. "Relationship between dialysis modality and mortality." Journals of the American Society of Nephrology 20:155-163. โดยพบว่าคนไข้ไตวายที่ฟอกไตด้วย CAPD รอดชีวิตน้อยกว่า HD มาก โดยมี Hazard Ratio ที่ควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วเช่น การเป็นเบาหวาน ระดับ Creatinine เมื่อเริ่มต้นรักษา โดยมี Hazard ratio เท่ากับ 1.35 ดังแสดง Survival Curve ในรูปด้านล่าง ยิ่งโค้งการอยู่รอดอยู่ต่ำแสดงว่ามีอัตราการตายสูงดังเส้นประเป็นอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยไตวายที่ฟอกไตด้วยวิธี CAPD ส่วนเส้นบนอยู่รอดมากกว่าคือการฟอกไตด้วย HD

ผลการศึกษาในเกาหลีใต้ Kim, Hyunwook, Kyoung Hoon Kim, Kisoo Park, Shin-Wook Kang, Tae-Hyun Yoo, Song Vogue Ahn, Hyeong Sik Ahn, Hoo Jae Hann, Shina Lee, Jung-Hwa Ryu, Seung-Jung Kim, Duk-Hee Kang, Kyu Bok Choi, and Dong-Ryeol Ryu. 2014. "A population-based approach indicates an overall higher patient mortality with peritoneal dialysis compared to hemodialysis in Korea." Kidney International 86:991–1000. พบว่าในคนไข้ที่อายุมากกว่า 55 ปี หากป่วยด้วยไตวายและฟอกไตด้วย CAPD จะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าการฟอกไตด้วย HD เท่ากับ 1.3 เท่าดังแสดงในรูปด้านล่างนี้

เช่นเดียวกับผลการศึกษาระดับชาติในเกาหลีใต้ Lee, Shina, Jung-Hwa Ryu, Hyunwook Kim, Kyoung Hoon Kim, Hyeong Sik Ahn, Hoo Jae Hann, Yongjae Cho, Young Mi Park, Seung-Jung Kim, Duk-Hee Kang, Kyu Bok Choi, and Dong-Ryeol Ryu. 2014. "An assessment of survival among Korean elderly patients initiating dialysis: a national population-based study." PLoS One 9:1-8. ก็พบเช่นเดียวกันว่าผู้ป่วยโรคไตวายที่ฟอกไตด้วย CAPD รอดชีวิตน้อยกว่าดังรูปด้านล่างนี้ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดต่ำกว่าและมี Hazard Ratio เท่ากับ 1.33

ผลการศึกษาในสิงคโปร์ โดย Yang, Fan, Lay-Wai Khin, Titus Lau, Horng-Ruey Chua, A. Vathsala, Evan Lee, and Nan Luo. 2015. "Hemodialysis versus Peritoneal Dialysis: A Comparison of Survival Outcomes in South-East Asian Patients with End-Stage Renal Disease." PLoS One 10:1-10. พบว่าคนไข้โรคไตวายที่ฟอกไตด้วย CAPD มีการรอดชีวิตน้อยกว่าการรักษาด้วย HD มี Hazard Ratio เท่ากับ 2.0 และโค้งการอยู่รอดแสดงดังรูปด้านล่างนี้ โดยเฉพาะ Figure 1b ที่ใช้วิธีการ propensity score matching เพื่อควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วก็ยังพบว่าการรักษาฟอกไตด้วย CAPD รอดชีวิตน้อยกว่า HD มาก

ซึ่งต้องย้ำว่าตัวเลขเหล่านี้มาจากประเทศแถบเอเชียที่มีจำนวนคนไข้ CAPD ไม่น้อยและต่างกับที่ สปสช. อ้างตัวเลขของยุโรปหรืออเมริกาที่เขาทำ CAPD น้อย เฉพาะคนไข้ที่พร้อมทำจริง ๆ ถึงเลือกทำ CAPD

การศึกษาในประเทศไทยในปี 2540 ก่อนมี สปสช. และโครงการ CAPD-First โดยสปสช. ซึ่งบังคับให้ผู้ป่วยต้องรักษาด้วย CAPD จนเกิดปัญหาแล้วจึงไปใช้ HD เมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ทำในโรงพยาบาลแทบทั้งหมดโดยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ส่วน CAPD-First นั้นทำโดยผู้ป่วยเองที่บ้านทั้งหมด ผลการศึกษาแรกนี้เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยพิจารณา ศรีวาจนะ พยาบาลแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เปรียบเทียบการรอดชีพของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดและวิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างต่อเนื่อง: โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยมี ศาสตราจารย์ ร้อยเอก นายแพทย์ ดร.ชยันตร์ธร ปทุมมานนท์ และพันโท นายแพทย์อินทรีย์ กาญจนกูล เป็นกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ พบเช่นเดียวกันว่าผู้ป่วยไตวายที่รักษาด้วยการฟอกเลือด (HD) หรือรักษาด้วย CAPD มาก่อนจนเกิดปัญหาเช่นการติดเชื้อในช่องท้องแล้วจึงเปลี่ยนมารักษาด้วยการฟอกเลือกในภายหลัง (CAPD+HD) มีอัตราการอยู่รอดดีกว่าการฟอกไตทางช่องท้อง โดยมี Hazard Ratio เท่ากับ 2.17 เท่า ดังแสดงโค้งการอยู่รอดในรูปด้านล่างนี้

ผลการศึกษาในประเทศไทยในปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นมีโครงการ CAPD-First โดยสปสช. โดยรัตนา บุตรสิงห์ เป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตทางสถิติศาสตร์ชื่อ “การวิเคราะห์ถดถอยแบบค็อกซ์และการประยุกต์” โดยเก็บข้อมูลการอยู่รอดของผู้ป่วยไตวายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วินัย โพธิสุวรรณเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มีพันโทนายแพทย์อินทรีย์ กาญจนกูลและ พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ราม รังสินธุ์ เป็นกรรมการ และศึกษาเปรียบเทียบอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วย CAPD กับ HD พบว่าแม้จะควบคุมตัวแปรอื่นๆ เช่น อายุ เพศ การเป็นเบาหวาน การเป็นโรคความดันโลหิตสูง การเป็นมะเร็ง และการเป็นโรคหัวใจแล้วก็ตาม การฟอกเลือดด้วย CAPD ก็ยังคงให้ผลการรักษาที่แย่กว่า โดยมีอัตราการอยู่รอดน้อยกว่าการรักษาโรคไตวายด้วยการฟอกเลือด HD ดังแสดงในโค้งการอยู่รอดด้านล่างนี้

ผลการศึกษาล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งทำหลังจากมีโครงการ CAPD-First โดย สปสช. แล้ว โดย นายแพทย์กฤษณพงศ์ มโนธรรม และคณะ ในปี 2560 โดยเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาหกปี และโทรติดตามกับญาติผู้ป่วยโรคไตวายครบทุกคนเพื่อให้มั่นใจถึงการอยู่รอดและวันที่เสียชีวิต เก็บข้อมูลจากเวชระเบียนคนไข้ที่โรงพยาบาลเลิดสินและโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์จำนวนกว่า 613 ราย

พบว่าอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่ฟอกไตด้วย CAPD ต่ำกว่า HD อย่างมาก การวิเคราะห์โดยรวมผู้ป่วยที่ยังไม่พ้นช่วงสามเดือนแรกหลังไตวายมี Hazard Ratio สูงถึง 9.25 เท่า แม้จะควบคุมตัวแปร Creatinine และ Blood Urea Nitrogen หรือ BUN ซึ่งวัดภาวะการทำงานของไตก่อนเริ่มการฟอกไต การเป็นเบาหวาน และ อายุ แล้วก็ตาม ผู้ป่วยที่ใช้การฟอกไต CAPD ก็ยังเสียชีวิตมากกว่า และเมื่อศึกษาเฉพาะผู้ป่วยไตวายที่อยู่รอดหลัง 90 วันหลังการเริ่มต้นฟอกไตก็ยังคงพบว่าอัตราการอยู่รอดที่ได้ควบคุมตัวแปรอื่นๆ แล้วนั้นก็ยังพบว่า CAPD มีอัตราการอยู่รอดต่ำกว่า HD เป็นอย่างมาก โดยมี Hazard Ratio เท่ากับ 3.82 ดังแสดงโค้งการอยู่รอดในรูปด้านล่าง โดยที่รูปด้านซ้ายคือการวิเคราะห์ที่ไม่ได้แยกผู้ป่วยไตวายที่เสียชีวิตภายใน 90 วันหลังฟอกไตเป็นครั้งแรก และรูปด้านขวาวิเคราะห์เฉพาะผู้ป่วยที่อยู่รอดมาแล้วหลัง 90 วัน

นายแพทย์กฤษณพงศ์ มโนธรรมและคณะยังค้นพบว่าเมื่อผู้ป่วยสปสช ปฏิเสธ CAPD-First แล้วมารักษาด้วย HD ก็กลับมีการอยู่รอดที่ดีขึ้นดังแสดงในรูปด้านล่างนี้

กราฟด้านล่างนี้สรุปผลการศึกษาจากทั้งในต่างประเทศและไทย โดยแสดงอัตราการอยู่รอดในการศึกษาต่าง เส้นล่างสุดคืออัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่รักษาด้วย PD เมื่อผ่านไป 2 ปี เส้นบนขึ้นมาคืออัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่รักษาด้วย PD เมื่อผ่านไป 1 ปี เส้นรองจากเส้นบนสุดคือ อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่รักษาด้วย HD เมื่อผ่านไป 2 ปี และเส้นบนสุดคือ อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่รักษาด้วย HD เมื่อผ่านไป 1 ปี อันเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นผลการวิจัยที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

หลายท่านอาจจะโต้แย้งว่าผลการวิจัยในต่างประเทศ หลายชิ้นพบว่า CAPD ไม่ได้แตกต่างจาก HD แต่คำถามสำคัญกว่าคือแล้วนั่นคือผู้ป่วยคนไทยหรือไม่ วิธีการรักษาหรือสภาพแวดล้อมต่างกันหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้ Automated PD ไม่ใช่ CAPD แขวนถุงวันละ 4 ถุงที่บ้าน ซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก!

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 51-61 ได้บัญญัติมาตรา 55 เอาไว้ว่า

มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคและส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คำถามคือ หากวิธีการรักษาสองวิธีมีค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่วิธีหนึ่งตายมากกว่าอย่างชัดเจน ผลลัพธ์ของการรักษาไม่ดีเลย แต่หน่วยงานของรัฐยังคงเลือกให้ใช้วิธีการนี้เป็นวิธีการแรกในการรักษาเสมอ ถือว่าเป็นการพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขอให้ผู้อ่านเลือกที่จะตอบคำถามนี้ด้วยตนเองก็แล้วกัน

ทั้งนี้นักกฎหมายระดับครูท่านหนึ่ง “ถึงกับเอ่ยปากว่า CAPD-first นั้นผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ป่วย เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียม (Unfair treatment and discrimination) ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ปี 2550 ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน หากมีผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิ์บัตรทองไปฟ้องร้องที่ศาลปกครองว่าสปสช ทำผิดรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียม โอกาสจะชนะมีสูงมากที่สุด”

แล้วทำไม สปสช. จึงยังยืนยันที่จะใช้ CAPD ทั้งที่เมื่อของบประมาณไปยังรัฐบาล สปสช. ทราบว่า CAPD ค่าใช้จ่ายแพงกว่า โดยของบสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วย CAPD ไป 175,796 บาท ต่อคนต่อปี และของบสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วย HD ไปเพียง 169,605 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งต่างกันประมาณหกพันบาทต่อคนต่อปี ถ้าหากสำนักงบประมาณและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของชาติก็ควรถาม สปสช. ว่าจะกลับมาใช้ HD ให้มากที่สุดได้หรือไม่เพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้

มีคำถามที่น่าจะต้องถามหลายคำถามเช่น
1. ถ้า สปสช ให้ องค์การเภสัชกรรมจัดซื้อน้ำยาล้างไต CAPD ปีละ 25 ล้านถุง ในการตรวจรับ จะต้องตรวจสภาพทุกถุงในเวลาจำกัด ถ้าเสียหายเช่นในรูปก็จะทำให้การรักษาไม่ได้ผลเกิดผลแทรกซ้อน และอาจถึงตายได้จะต้องใช้ เภสัชกรกี่คนในการตรวจสอบสภาพ ถุงน้ำยาขณะรับสินค้า และ อภ มีบุคลากรเพียงพอหรือไม่

สมมติ ขนส่งสัปดาห์ละครั้ง ครั้ง ละ 5 แสนกว่าถุง ตรวจถุงละนาที คน ๆ เดียวต้องใช้เวลา 1 ปี
หมายความว่า ต้องมี คนประมาณ 700 คนถึงใช้เวลาตรวจเต็มวันเวลาทำงาน สมมุติว่ามีการสุ่มตรวจแทนการตรวจทุกถุง มี sampling plan ในการสุ่มตรวจอย่างไรกับการจัดซื้อกันมากมหาศาลขนาดนี้

2. การขนส่งน้ำยามีการควบคุมอุณหภูมิดีพอหรือไม่ น้ำยาล้างไต CAPD จะเสื่อมคุณภาพหรือไม่

ลองค้นคำตอบใน google ดูพบว่ามีการให้รับเหมาช่วงต่อ ทำงานร่วมกันกับศูนย์ไปรษณีย์บางนา หาคนงานที่มีรถ (มีตู้เย็นควบคุมอุณหภูมิหรือไม่)


3. การอ้างงานวิจัยในระดับโลกว่าการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD-First) ดีกว่าการล้างไตทางหลอดเลือด (Haemodialysis) อ้างสารพัดงานวิจัยระดับโลก แต่สถิติคนไข้โรคไตในประเทศไทยตายมากกว่ามาก กลับไม่สนใจ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำหรือไม่?

อยากให้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อทรงประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคตว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

4. เมื่อค่าใช้จ่ายของ CAPD แพงกว่า HD ทำไมจึงยังดึงดันที่จะใช้ ทั้งๆ ที่ผลการรักษาไม่ได้ดีกว่า ตายมากกว่า ตายไวกว่า ทำไมต้องรอนสิทธิ์ผู้ป่วยด้วยเงินที่ใช้ไม่ได้หนีกันมากหรือแทบจะเท่ากันระหว่างการล้างไตทางหน้าท้องและการล้างไตทางหลอดเลือด เดือนหนึ่งค่าใช้จ่ายพอๆ กัน น้ำยาล้างไตถุงละ 150 บาทรวมค่าส่ง ใช้วันละ 4 ถุง เดือนละ 18,000 ฟอกไตทางหลอดเลือดอย่างหนักเลยอาทิตย์ละสามวัน อัตราคือ 1500 บาท ก็ตกเดือนละ 18,000 เท่าๆ กัน ทำไมไม่ให้แพทย์เลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน

เรื่องนี้ คุณลุง สุบิน นกสกุล นักต่อสู้เพื่อผู้ป่วยโรคไตผู้ล่วงลับ ได้ฝากไว้ก่อนเสียชีวิตกว่า

การทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีทางเลือกว่าจะล้างไตผ่านหน้าท้องหรือฟอกไตด้วยเครื่องที่จ่ายเงินสมทบ 500 บาท ไม่ใช่การบังคับเหมือนขณะนี้ แต่ให้ผู้ป่วยเป็นคนเลือกเองว่าจะล้างไตแบบใด แต่ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการตัดสินใจ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันไประดับหนึ่งแล้วกับทาง สปสช. และมีโอกาสเป็นไปได้https://www.hfocus.org/content/2012/05/107

ลุงสุบินครับ ถ้าลุงสุบินยังมีชีวิตอยู่แล้วเห็นผลการศึกษาว่าคนไข้ที่ล้างไตทางหน้าท้องตายมากมายกว่าคนไข้ล้างไตทางหลอดเลือด และสปสช บังคับให้ล้างไตทางหน้าท้องเท่านั้น เราอยากรู้เหมือนกันว่า ลุงจะลุกมาต่อสู้กับ สปสช และหมอโรคไต เหล่านี้หรือไม่

ถ้าวิญญาณลุงมีจริง ช่วยทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนไข้โรคไต ไม่ให้ถูกรอนสิทธิ์ และช่วยให้แพทย์ใช้ศิลปะในการรักษาโรคตามเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนด้วยครับผม

กราบคารวะดวงวิญญาณของคุณลุงสุบิน อย่าให้คนตายโดนหลอก และอย่าให้คนไข้โรคไตที่ยังเป็นโดนหลอกไปตาย

โปรดช่วยแชร์บทความนี้เป็นการคารวะดวงวิญญาณของคุณลุงสุบิน นกสกุล ผู้ล่วงลับผู้ต่อสู้เพื่อคนไข้โรคไตด้วย โปรดวิงวอนให้ สปสช. เลิกรอนสิทธิ์คนไข้ โดยการบังคับให้รักษาด้วย CAPD-First ก่อน ให้ตัดคำว่า First ออกไป และให้แพทย์ได้ใช้วิจารณญาณและศิลปะในการรักษาโรคตามความเหมาะสมของแต่ละคนเพื่อช่วยชีวิตคนไทยได้ดีมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น