xs
xsm
sm
md
lg

ฝนหนักเหนือ-อีสานยังวิกฤติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา ที่จ.ร้อยเอ็ด ขณะที่ภาคเหนือฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำล้น “บึงกะโล่” ทะลักท่วมทางหลวงหมายเลข 11 สายเหนือทั้งขาขึ้น-ขาล่อง ยาวกว่า 200 เมตร ขณะที่น้ำเมย ชายแดนไทย-พม่า ปริ่มตลิ่งแล้ว "สกลนคร-กาฬสินธุ์"ยังไม่คลี่คลายหลายอำเภอยังมีน้ำท่วม

วานนี้ (6 ส.ค.) เวลา 10.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน และเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ครอบครัวราษฎรที่ประสบอุทก ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่บ้านเรือนราษฎร พืชผลทางการเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์เสียหาย จำนวน 20 อำเภอ 159 ตำบล 1,766 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 575,350 ไร่ ใน อ.เกษตรวิสัย ได้รับความเสียหาย จำนวน 13 ตำบล 175 หมู่บ้าน จำนวนรวม 2,000 ครอบครัว ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพของประชาชน ให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ยังความปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ภาคเหนือฝนตกหนักท่วมจ.อุตรดิตถ์

นายประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ , พ.ต.อ.ดิษยเดช พัชรภูวดล ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ พร้อมกำลังทหาร , อส. , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ , อาสาสมัครกู้ภัย จ.อุตรดิตถ์ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร บริเวณ -แยกเข้าบ้านไผ่ใหญ่ หมู่ 9 ต.หาดกรวด อ.เมืองอุตรดิตถ์ หรือถนนสาย 11อุตรดิตถ์-พิษณุโลก หลักกิโลเมตรที่ 313-314 ตลอดทั้งวัน หลังเกิดฝนตกหนักตลอดคืนวันที่ 5 ส.ค.ผ่านมา ทำให้น้ำฝนกับน้ำสะสมในบึงกะโล่ ไหลท่วมไหล่ถนนขาล่อง 2 ช่องทางจราจร และขาขึ้นเหนือ 1 ช่องทางจราจร ระดับน้ำสูงราว 30 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาวราว 200 เมตร ทำให้การจราจรติดขัด

ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ต้องระดมเครื่องจักรกลหนัก เพื่อเปิดทางน้ำให้เร่งระบายลงคลองจระเข้ อย่างเร่งด่วน คาดว่าหากไม่เกิดฝนตกลงมาอีก การจราจรช่วงดังกล่าวก็จะเป็นปกติ แต่หากเกิดฝนตกลงมาอีก ก็จะทำให้น้ำท่วมถนน การจราจรก็คงต้องติดขัดกันต่อไป

ส่วนที่ จ.ตาก หลังมีฝนตกพื้นที่ 5 อำเภอแนวชายแดนติดกับเมียนมา ส่งผลทำให้แม่น้ำเมย บริเวณต้นน้ำที่บ้านหมื่นฤาชัย หมู่ที่ 5 อ.พบพระ ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และถนนสายหลักทางเข้าหมู่บ้าน สูงกว่า 40 ซม. รถเล็กไม่สามารถใช้การใดตามปกติ ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างรีบขนย้ายสิ่งของหนีน้ำไปเก็บรักษาไว้บนที่สูง เนื่องจากหมู่บ้านนี้แห่งเคยถูกน้ำท่วมหนักมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน จนทำให้ชาวบ้านหวาดวิตกกันทั้งหมู่บ้าน

ขณะเดียวกัน แม่น้ำเมยที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ได้ไหลลงสู่พื้นที่ อ.แม่สอด ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ โดยที่บริเวณ สะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา ติดด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ระดับน้ำปริ่มแนวตลิ่ง ส่งผลทำให้การขนส่งสินค้า และการสัญจรทางเรือโดยสาร เป็นไปด้วยความยากลำบาก ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด-ปภ. ต้องจัดเจ้าหน้าที่มาเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง

สกลนครยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

ด้านสถานการณ์ในพื้นที่จ.สกลนคร พบว่าหลายพื้นที่ใน อ.พังโคน อ.วานรนิวาส อ.อากาศอำนวย อ.พรรณานิคม อ.โพนนาแก้ว ยังประสบปัญหาน้ำท่วมสูง จากลำน้ำอูนที่ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ไร่นา ที่อยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้น้ำอูนยังระบายไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำอูน เช่น ที่ บ.พอกใหญ่ ต.พอกน้อย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปริมาณน้ำอูนยังสูงเกือบถึงขอบสะพานน้ำอูน น้ำได้ไหลบ่าเข้าท่วมที่อาศัยของชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กจมน้ำบางแห่งระดับน้ำสูงท่วมหัว ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุเนื่องจากต้องติดอยู่ที่อาศัยมานานถึง 10 วัน ไม่มีกระแสไฟใช้ โดยความเดือดร้อนในครั้งนี้มีธารน้ำจากภาครัฐและเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก เช่น วันนี้ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย นำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคและยารักษาโรคมาส่งมอบให้ชาวบ้านจำนวน 1,000 ชุด สมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ จ.ระยอง นำสิ่งของมาเหลืออีกกว่า 2,000 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ส่วนที่จ. กาฬสินธุ์ พบว่าสถานการณ์น้ำยังไม่คลี่คลายเช่นกัน โดยผลกระทบจากพายุเซินกาที่ตกหนักทั้ง 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 18 อ่าง มีปริมาณน้ำจำนวนมาก ขณะที่เขื่อนลำปาวยังมีน้ำไหลหลากเข้าอ่างมากถึง 84 ล้าน ลบ.ม. ผลพวงจากร่องมรสุมทำให้บริเวณเหนือเขื่อนมีฝนตกหนัก โดยปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำที่ 1,711 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 86 จากความจุอ่างเต็มพิกัดที่ 1,980 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีการลดระดับการระบายน้ำจาก 30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเหลือ 25 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม ติดริมตลิ่งและใกล้กับพนังกั้นน้ำ

นายชาลี แสงจันทร์ ชาวบ้านโนนศิลาเลิงกล่าวว่า ตั้งแต่พายุเซินกาเข้ามาและทำให้ฝนตกหนัก น้ำเริ่มเอ่อในหมู่บ้านกระทั่งน้ำเขื่อนได้ระบายทำให้น้ำล้นเอ่อจากลำน้ำปาว และลำน้ำพานไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะถนนสายหลักขณะนี้ระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร ต้องใช้เส้นทางอื่น หรือใช้เรือแทน แต่ยังดีที่ความช่วยเหลือมาไม่ขาดสาย ทั้งข้าวปลาอาหาร และอาหารแห้งต่าง ๆ ส่วนนี้คงจะพอบรรเทาความเดือดร้อนได้ แต่หากน้ำท่วมมีระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็จะเพิ่มความลำบากมากขึ้น เพราะตอนนี้บางรายก็อาศัยอยู่ศูนย์พักพิงวัดบ้านสว่างและวัดบ้านโนนศิลาเลิง บางส่วนก็มาอาศัยญาติพี่น้องที่น้ำท่วมไม่ถึงเป็นภาระและความลำบากที่จะส่งผลกระทบระยะยาวในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น