xs
xsm
sm
md
lg

โทษของภิกษุทุศีล : พ้นจากภิกขุภาวะ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงปาติโมกข์ ก็ทรงนิ่ง เมื่อมัชฌิมยามล่วงแล้ว พระอานนท์ก็กราบทูลอาราธนาอีก ก็ทรงนิ่ง ครั้นปัจฉิมยามล่วงแล้วจะรุ่งอรุณ พระอานนท์กราบทูลอาราธนาอีก จึงตรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ พระโมคคัลลานะพิจารณาดู ก็ทราบว่ามีภิกษุทุศีลนั่งปนอยู่ในที่นั้น จึงว่ากล่าวและจูงมือเธอออกไปนอกซุ้มประตูใส่ดาลประตูแล้วกราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ท่านทั้งหลายพึงทำอุโบสถแสดงปาติโมกข์กันเองตั้งแต่วันนี้ไป เราจะไม่แสดงปาติโมกข์เพราะมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่พระตถาคตจักแสดงปาติโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์แล้วทรงแสดงความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย 8 ประการเทียบกับความมหัศจรรย์ของมหาสมุทรดังนี้

1. พระธรรมวินัยนี้มีการศึกษา การกระทำและข้อปฏิบัติโดยลำดับ มิใช่เริ่มต้นก็ตรัสรู้อรหัตผล เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีความลุ่มลึกโดยลำดับ มิใช่เริ่มต้นก็ลึกเป็นเหว

2. พระสาวกย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเปรียบเหมือนมหาสมุทร ซึ่งมีความหยุดเป็นธรรมดาไม่ล่วงเลยฝั่งไป

3. สงฆ์ย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลทุศีล ย่อมประชุมกันยกออก (จากหมู่) แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ (ก็ชื่อว่าไกลจากสงฆ์) เปรียบเหมือนกับมหาสมุทรที่ซัดซากศพเข้าสู่ฝั่งโดยพลัน

4. วรรค 4 เมื่อบวชในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมละชื่อและโคตรเดิมถึงการนับว่าสมณศากยบุตรเปรียบเหมือนแม่น้ำ เช่น คงคา ยมุนา เมื่อถึงมหาสมุทรย่อมละชื่อและโคตรเดิมถึงการนับว่ามหาสมุทร

5. แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แต่ความพร่องหรือความเต็มแห่งนิพพานธาตุก็ไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น เปรียบเหมือนความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทร เพราะเหตุแห่งสายน้ำตกลงมาจากอากาศ

6. พระธรรมวินัยมีรสเดียวคือ วิมุตติ (ความหลุดพ้น) เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม

7. พระธรรมวินัยนี้ มีรัตนะเป็นอันมาก เช่น สติปัฏฐาน 4 อริยมรรคมีองค์ 8 และโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เป็นต้น เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีมุกมณี และไพฑูรย์ เป็นต้น

8. พระธรรมวินัยนี้ เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่คือ พระโสดาบัน ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลไปจนถึงพระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผลเปรียบเหมือนมหาสมุทร เป็นที่อยู่ของปลาติมิติมิงคละ นาค และอสูร เป็นต้น นี่คือเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวกับการที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธการแสดงปาติโมกข์ และเป็นที่มาของการตรัสเกี่ยวกับความมหัศจรรย์พระธรรมวินัยดังกล่าวแล้วด้วย

คำว่า ภิกษุทุศีลในความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัยข้อ 3 หมายถึงภิกษุที่ล่วงละเมิดพระวินัยซึ่งมีโทษถึงขั้นพ้นจากความเป็นภิกษุอันได้แก่ ปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งในปาราชิก 4 ประการดังนี้

1. ห้ามเสพเมถุนกับหญิง ชาย แม้กระทั่งกับสัตว์

2. ห้ามมิให้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ราคา 5 มาสกขึ้นไป (ซึ่งเป็นราคาที่พระราชาลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้ลักขโมย)

3. ห้ามฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า

4. ห้ามอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้วแม้ออกตัวสารภาพผิดทีหลังก็ไม่พ้นผิด

ใน 4 ข้อดังกล่าว แม้ภิกษุล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็มีโทษถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุ และจะเข้าร่วมสังฆกรรมกับสงฆ์ไม่ได้ เนื่องจากพ้นจากความเป็นภิกษุ และมีสถานภาพเป็นคฤหัสถ์ไปแล้ว และนี่เองคือเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ยอมแสดงปาติโมกข์ ณ วันนั้น

แต่ในปัจจุบันนี้ วงการสงฆ์ในประเทศไทย มีภิกษุทุศีลปะปนอยู่ส่วนหนึ่งถึงแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าพระภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนกัน แต่ก็มากพอจะทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา แต่ก็มีปัญหาในการจัดการแก้ไขและป้องกัน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังนี้

1. ประชาชนคนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปไหนทุศีล และไม่ทุศีลในเมื่อนุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนศีรษะเหมือนกัน แถมบางรูปสังกัดวัดใหญ่โต และมีสถานภาพทางสังคม มีสมณศักดิ์สูงส่งเป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป

2. การทุศีลด้วยการล่วงละเมิดปาราชิกข้อที่ 4 คือการอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนเกิดขึ้นได้ในกรณีพระภิกษุที่ทำตนเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงยากที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะแยกออก พระทุศีลกับไม่ทุศีล

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้เอง พระทุศีลจึงดำรงอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าชาวพุทธศึกษาและทำความเข้าใจด้วยพระธรรมวินัยให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะรู้ได้ว่าพระภิกษุรูปใดเป็นผู้มีศีลและทุศีล ถ้าสามารถแยกพระดีและพระเลวออกจากกันได้ ก็ช่วยให้การทำทานได้บุญมาก และเป็นไปตามหลักทานสมาบัติคือการให้ทานแล้วได้บุญมาก 3 ประการคือ

1. เขตตสมบัติคือ ปฏิคาหกหรือผู้รับทานปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยธรรม

2. ไทยทานสมบัติคือ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้มาโดยชอบธรรม

3. จิตตสมบัติคือ ให้ด้วยความตั้งใจ มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาลคือก่อให้ใจยินดี ขณะให้จิตผ่องใส และให้แล้วใจเบิกบาน

ถึงแม้ว่าประชาชนจะรู้ว่าภิกษุรูปใดทุศีล ก็ใช่ว่าจะจัดการแก้ไขโดยการกำจัดให้พ้นไปจากภิกขุภาวะ ถ้าภิกษุรูปนั้นดื้อรั้นและแถมมีผู้หนุนหลัง จะด้วยศรัทธาจริตคือเชื่อว่าเป็นคนดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือจะด้วยศรัทธาอาศัยคือ แสวงหาประโยชน์ร่วมกันอยู่ก็ตาม การจัดการให้ภิกษุเช่นนี้พ้นไปจากพระธรรมวินัยทำได้ยาก ดังที่เกิดขึ้นในหลายๆ กรณี และกรณีของพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย ดูเหมือนจะเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด

ดังนั้น การที่ดีเอสไอนำตัวเณรคำจากประเทศสหรัฐอเมริกามาดำเนินคดีในประเทศก็ดี และการที่เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษมีคำสั่งให้เณรคำสึกก็ดี จึงเท่ากับกำจัดภิกษุทุศีลออกจากพระธรรมวินัยได้ส่วนหนึ่ง และจากกรณีนี้น่าจะทำให้พระภิกษุทุศีลที่เหลืออยู่ และกำลังหลบหนีหมายจับของศาลคงหนาวๆ ร้อนๆ ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ก็ควรจะได้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 157 กับสงฆ์ฝ่ายปกครองในระดับเจ้าคณะจังหวัด เขตปกครองที่พระธัมมชโยสังกัดอยู่ด้วย ก็จะช่วยให้วงการสงฆ์หมดจดเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น