โครงการสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช เป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 1,700 ล้านบาท ที่อ้างว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ
เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ทั่วๆ ไป เจ้าของโครงการจะต้องอ้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลข วัดค่าเชิงปริมาณเพื่อให้เห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการเทียบกับเงินลงทุน
นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. บอกว่า กทม.ได้ศึกษาและประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยว เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ได้แก่ ผลประโยชน์จากการลดเวลาการเดินทาง ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการเดินทาง/คน/เที่ยวที่ 8.5 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6.375 บาท/คน/เที่ยว
นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ด้านการจ้างงาน เพราะเมื่อมีสะพานแล้ว จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว สรุปแล้ว โครงการนี้มีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจของโครงการตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ หรือ NPV ที่ 12% หรือเท่ากับ 373.94 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 17.26 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน 9% ต่อปี ถือว่าเป็นโครงการที่ควรพิจารณาให้เกิดขึ้น
นั่นเป็นเรื่องของตัวเลขที่ขึ้นอยู่กับข้อมูล ที่จะป้อนเข้าไปให้โปรแกรมคิดคำนวณ หาคำตอบออกมา ส่วนข้อมูลที่จะใส่เข้าไปให้ออกมาเป็นผลลัพธ์ ก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่า สร้างแล้ว น่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์เท่านั้น เท่านี้ สำหรับคนที่เป็นเจ้าของโครงการ แน่นอนละว่า จะต้องมีคำตอบในใจล่วงหน้าแล้วว่า อยากจะให้ผลที่ได้สนับสนุนความจำเป็น ความมีเหตุมีผลในการสร้าง จึงต้องออกแบบสมมติฐานให้ผลลัพธ์เป็นอย่างที่ต้องการ
แต่การทำโครงการก่อสร้างใดๆ ที่ต้องใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน และมีผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่อาจวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ทัศนียภาพ ความสวยงาม จำเป็นจะต้องคิดให้รอบคอบ และถามตัวเองว่า จำเป็นต้องสร้างไหม สร้างไปแล้วมีประโยชน์ตรงไหน ถ้าไม่สร้าง จะเสียหายอย่างไรบ้าง
ใช้หัวใจไตร่ตรองพิจารณา ไม่ใช่ใช้สมองคิดด้วยตรรกะเศรษฐศาสตร์
บริเวณพื้นที่ที่จะสร้างสะพาน คือ ท่าพระจันทร์ และวังหลัง เป็นจุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีคนข้ามไปข้ามมาจำนวนมาก โดยใช้บริการเรือข้ามฟากที่ให้บริการมาหลายสิบปีแล้ว แน่ละว่า หากมีสะพานให้เดินข้ามโดยไม่ต้องเสียตังค์ คนที่จำเป็นต้องข้ามฝั่งด้วยเรือเป็นประจำ ย่อมจะได้รับความสะดวกจากการที่ไม่ต้องเสียเวลารอเรือ
แต่การข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือข้ามฟากอย่างที่เป็นมาหลายสิบปี เท่าที่เป็นอยู่ ก็ไม่เห็นว่า ผู้ใช้บริการจะเกิดความไม่สะดวกหรือเดือดร้อนตรงไหน ค่าเรือข้ามฟากก็เป็นเงินจำนวนเล็กน้อย และเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้บริการควรรับภาระเอง เป็นเรื่องที่มีความเป็นธรรมมากกว่าการนำเงินภาษีของคนกรุงเทพฯ 1,700 ล้านบาทมาสร้างสะพาน เพื่อให้คนจำนวนหนึ่งน่าจะไม่ถึงสองหมื่นคนในแต่ละวัน ไม่ต้องจ่ายค่าเรือข้ามฟาก
หากจะอ้างว่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สะพานคนเดินข้ามเจ้าพระยาทั้งฝั่งท่าพระจันทร์ และฝั่งศิริราชก็ห่างไกลจากจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวราราม และวัดโพธิ์ จุดขึ้นลงทั้งสองฝั่ง ไม่มีอะไรที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเลย ต่างจากสะพานมิลเลนเนียมที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ที่ผ่านการคิด และออกแบบให้ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ
พื้นที่ตรงปลายสะพานทั้งสองฝั่ง คือ ท่าพระจันทร์ และวังหลังคับแคบมีบ้านเรือนประชาชน วัด มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลตั้งอยู่ ถนนก็เป็นถนนแคบๆ เล็กๆ ยังนึกภาพไม่ออกว่า จะสร้างทางลาดขึ้นลงสะพานอย่างไร ที่บอกว่า จะเป็นสะพานสำหรับจักรยานด้วยนั้น จะขี่จักรยานขึ้นไปบนสะพานตรงไหน
มีคนที่ได้รับเชิญไปแสดงความเห็นต่อแบบสะพานเมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว เล่าให้ฟังว่า สะพานนี้ไม่มีทางลาดขึ้นลงเพราะพื้นที่คับแคบ จึงต้องมีลิฟต์ นอกจากเพื่อคนสูงวัย และคนพิการแล้ว ยังสำหรับคนขี่จักรยาน นำจักรยานขึ้นลิฟต์ไปขี่บนสะพานด้วย
โครงการสร้างสะพานคนเดินข้ามเจ้าพระยา และโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของ กทม.ทั้งคู่เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศไทย กำลังผลักดันให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสะพานพุทธถึงท่าวาสุกรีขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางด้านสิ่งที่มีคุณค่าด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่บริเวณที่จะสร้างสะพานทั้ง 2 ฟากฝั่งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม การสร้างตอม่อสร้างสิ่งแปลกปลอม เปลี่ยนรูปแบบของสิ่งที่มีอยู่เดิม จะเป็นมรดกโลกได้อย่างไร จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานคนเดิน และทางเลียบแม่น้ำซึ่งจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำจะกลายเป็นลำคลอง ศักดิ์ศรีจะหมดไป และกรุงเทพฯ จะไม่เหลืออะไร