"คณิศ"เลขาฯอีอีซีเผยการประชุมอีอีซีที่ "อุตตม" เป็นประธาน 31 ก.ค.นี้ เตรียมเคาะแผนพัฒนาเกษตรกรรม 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ห้ามปลูกมั่ว สนองนโยบาย “นายกฯตู่” พร้อมบินโรดโชว์จีน 23-26 ก.ค. เผย 2 บริษัทการบินระดับโลกสนใจลงทุน “แอร์บัส” สร้างศูนย์ซ่อมไตรมาสแรก 2561 พร้อมจีบ “โบอิ้ง” ตั้งศูนย์ฝึกทักษะด้านการบิน
วานนี้ (20 ก.ค.) นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ จะมีประชุมคณะกรรมการอีอีซี ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานโดยที่ประชุมจะหารือถึงแผนพัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายเพื่อให้ชาวบ้านซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการอีอีซี โดยกำลังพิจารณานำแผนพัฒนาจังหวัดมารวมเข้ากับแผนพัฒนาอีอีซี
" นายกฯเองก็ให้มาดูเพราะในพื้นที่อีอีซีมีการทำเกษตรกรรมส่วนหนึ่งอยู่แล้วและตามนโยบายอีอีซีจะก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ ซึ่งอาจมีปัญหาของการแย่งน้ำของภาคเกษตรกรรมหรือไม่ต้องให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ " นายคณิศ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ค.นี้ ทางสำนักงานอีอีซี จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ออกไปโรดโชว์นักลงทุนที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี ตามแผนที่ได้วางไว้ โดยในส่วนของความคืบหน้าการลงทุนของลาซาด้านั้น ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของลาซาด้า กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากจีน เข้าพบรมว.อุตสาหกรรม โดยมารายงานความคืบหน้าโครงการลงทุนอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซในพื้นที่อีอีซี เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี ที่ล่าสุดมีการอบรมเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์แล้ว 1,000 ราย
“เราเองก็เห็นว่าระยะแรกนั้นน้อยเกินไปจึงอยากให้ขยายเพิ่ม ซึ่งลาซาด้าเองก็พร้อมขยายโครงการฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยให้เข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซระยะ 2 โดยปัญหาเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ คือ ผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยไม่มีความรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์ " นายคณิศกล่าว
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนการพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ที่จะเชื่อมโยงไปยัง 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ยังเดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด คาดว่าต้นปี 2561จะมีเอกสารข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง(ทีโออาร์)ของโครงการการทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมอากาศยาน การบินไทยกำลังจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ลงทุนร่วมกับ บริษัทเครื่องบินแอร์บัส ในไตรมาสแรกของ 2561 เพื่อลงทุนในพื้นที่ อีอีซี สร้างศูนย์ซ่อมสร้างและบำรุงรักษาอากาศยานครบวงจร หรือเอ็มโออาร์ ฯลฯ คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่
นอกจากนี้การบินไทยยังมีการเจรจากับบริษัทเครื่องบินโบอิ้งที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และศูนย์ฝึกทักษะด้วยสถานการณ์จำลอง โดยฝึกสอนเกี่ยวกับการบินเพื่อป้อนนักบินสู่สายการบินต่างๆ.
สำหรับกรณีที่เขตศก.พิเศษคุณหมิง ที่จีนต้องการเชื่อมโยงการพัฒนากับพื้นที่อีอีซีของไทย โดยผ่านมายังสะหวันนะเขต สปป.ลาวนั้น ทางรัฐบาลยูนานเองยืนยันว่ายังพร้อมที่จะเดินทางมาไทย เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road )หากแต่ได้แจ้งมายังไทยว่าต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลางก่อน ซึ่งเรื่องดังกล่าว นับเป็นการเชื่อมโยงระบบศก.ของ 3 ประเทศ
"เรายังคงเป้าหมายที่จะดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนยังอีอีซี ในช่วงสิ้นปีนี้ตามที่วางเป้าหมายให้ได้ 30 บริษัท โดยในเรื่องของร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ที่จะเข้ามารองรับการพัฒนาทั้งหมดนั้น คาดว่าจะมีการพิจารณาเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติได้ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้" นายคณิศ กล่าว
**นิคมฯอมตะ-เหมราช ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ
นายคณิศ กล่าวว่าขณะเดียวกันทาง บมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขต จ.ระยอง และชลบุรี รวม บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ก็ได้หารือที่จะขอรัฐในการยกระดับนิคมฯเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ โดยคงจะต้องหารือแต่คงจะไม่สามารถเข้าพิจรณาได้ทันในการประชุมวันที่ 31 ก.ค.นี้ ส่วนรูปแบบจะดำเนินการอย่างไรนั้น คงจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียด
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนเอง มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี จำนวนมาก ทั้งไทยและต่างชาติ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายกำลังรออยู่คือ การมีพ.ร.บ.อีอีซี รองรับซึ่งเดิมรัฐบาลประกาศจะแล้วเสร็จในช่วงมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ได้มีการเลื่อนออกมาว่าจะเสร็จในช่วงต.ค.นี้ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่น