xs
xsm
sm
md
lg

อำลา-อาลัย นักสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ อาจารย์หลิว เสี่ยวปอ

เผยแพร่:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ในบรรดานักต่อสู้ผู้ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน มั่นคง ยึดมั่นเด็ดเดี่ยวในแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์เพื่อหยุดการเอารัดเอาเปรียบ ทำร้ายร่างกายและจิตใจจากผู้ปกครองที่กดขี่ข่มเหงรังแกเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเหี้ยมโหด เลือดเย็น ขาดมนุษยธรรม ดังเช่น ท่านแมนเดลาที่ต่อสู้กับระบบเหยียดผิวในประเทศแอฟริกาใต้ หรือท่านโซเชน นิสเชน ที่ต่อสู้กับเผด็จการซาลิน USSR หรือท่านอองซาน ซูจี หรือท่านคานธี ที่ใช้อหิงสาในการต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง

มีอยู่ 3 ท่านที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในขณะที่ท่านทั้ง 3 กำลังได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในคุกในประเทศของตนเอง จากคำสั่งของผู้ปกครองมือเปื้อนเลือด ที่ยังไม่ยอมผ่อนปรนเรื่องสิทธิเสรีภาพแม้แต่น้อยนิด

ท่านทั้ง 3 นี้ ไม่สามารถเดินทางไปในพิธีมอบรางวัลโนเบลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ได้ ต้องมีแต่เก้าอี้ที่ว่างเปล่า ที่มีแผ่นประกาศเกียรติคุณวางไว้บนเก้าอี้

คนแรกนั้น ถูกจับโดยจอมเผด็จการฮิตเลอร์ในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ จริงๆ คือความมั่นคงของฮิตเลอร์ และระบอบ NAZI ท่านตายจากการถูกทรมานทารุณกรรมในคุกของฮิตเลอร์ช่วงปี 1935

ท่านที่สอง คืออองซาน ซูจี ก็เช่นเดียวกับท่านแรก คือกำลังอยู่ในคุกด้วยข้อหาปลุกปั่นทำลายชาติ เพียงแต่เธอยังสามารถเดินทางไปรับรางวัลในภายหลัง เมื่อเธอออกมาจากคุกและเริ่มมีการผ่อนปรนในประเทศเมียนมา

ท่านที่สาม คือ อาจารย์หลิว เสี่ยวปอ เป็นทั้งนักวิชาการ, นักคิด, นักเขียน, กวี, นักต่อสู้แนวทางสันติเพื่อสิทธิเสรีภาพ โดยไม่ใช้อาวุธปืนผาหน้าไม้ มีแต่ตัวอักษรอันสละสลวยกินใจที่กลั่นมาจากมันสมองและมโนธรรมสำนึกที่ตกผลึก และมอบทั้งชีวิตจนหยดสุดท้ายเพื่อยืนหยัดในปรัชญาความเชื่อของตน

หลิว เสี่ยวปอ ตายในขณะถูกคุมขัง หลังจากต้องรับโทษในคุกทำงานหนัก ก็ด้วยการพยายามปลุกจิตสำนึกทั้งในบรรดาเพื่อนร่วมชาติที่ยังคงตกระกำลำบาก และในบรรดาชนชั้นปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อการปฏิรูปและผ่อนปรนการบีบบังคับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่ประเทศจีนได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบทุนนิยมตลาดเสรี มีมหาเศรษฐีโลก และข้าราชการที่ชั่วช้ากินบ้านกินเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก

ในขณะที่เขาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยดีเด่นของสหรัฐฯ ที่ NYC คือมหาวิทยาลัย Columbia ให้เป็นนักวิชาการรับเชิญไปสอนที่นั่น ; ในปี 1989 ช่วงสุดท้ายของ Cold War ก็เกิดการเดินขบวนประท้วงใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง เขาได้เดินทางกลับปักกิ่งมาร่วมประท้วงกับนักศึกษาปัญญาชนจำนวนเป็นล้านคน ซึ่งกำลังจะถูกทางการปราบปราม อย่างเช่นกรณี 14 ตุลา 16 ของไทยด้วยแนวคิดว่า การเชือดไก่ให้ลิงดู โดยกำจัดผู้ประท้วงเพียงไม่กี่พันคน ก็ยังดีกว่าการสูญเสียอำนาจรัฐของฝ่ายปกครองและอาจนำสู่การปกครองระบอบที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

อาจารย์หลิว เสี่ยวปอ ได้ร่วมการประท้วงและยึดมั่นในการประท้วงอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ และมีบทบาทสำคัญช่วยเจรจากับฝ่ายรัฐ (ทหาร) เพื่อลำเลียงนักศึกษาออกไปจากการชุมนุมในช่วงวิกฤตสุดท้ายก่อนถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

เขาถูกจับเข้าคุกหลายครั้งหลังจากนั้น และเมื่อพ้นโทษก็ได้รับเชิญจากนานาประเทศไปกล่าวปาฐกถา หรือเป็นนักวิชาการรับเชิญ เช่น ที่นอร์เวย์, ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ แต่ทุกครั้งจะกลับไปประเทศบ้านเกิด แม้จะมีโอกาสขอลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ ก็เพื่อกลับไปต่อสู้ในแนวทางสันติที่ประเทศแม่ แทนที่จะลี้ภัยไปอยู่ดูไบ ฝรั่งเศส หรือออสเตรเลีย เหมือนบรรดาแกนนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยบางคนที่สู้แล้วรวย และหลบลี้หายหน้าไปจากประเทศแผ่นดินเกิด ไปแปลงสัญชาติอยู่ต่างประเทศ

ปี 2008 เขาได้ร่วมกับปัญญาชนนักวิชาการคนจีน ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทั้งในและต่างประเทศ ออกแถลงการณ์การปฏิรูปประเทศ โดยมีผู้ร่วมลงนามถึง 300 คน ซึ่งเขาก็ถูกจับและพิจารณาคดีในปี 2009 ถูกพิพากษาจำคุกจากการบ่อนทำลายและยุยงปลุกปั่น (คล้ายกับกบฏ 14 ตุลา 16 เป๊ะ) ถึง 11 ปี

ปี 2010 เขาถูกเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยผู้เสนอมีชื่อเสียงโดดเด่นมากในโลก ซึ่งมีอดีตผู้รับรางวัลนี้หลายคน เช่น สังฆราชเดสมอนด์ ตูตู้ จากประเทศแอฟริกาใต้และองค์ทะไลลามะ

ขณะที่เขาถูกคุมขังในคุกมา 9 ปีเต็ม ก็ปรากฏข่าวตะลึงกันไปทั่วโลก เป็นช่วงประชุม G20 ที่เพิ่งผ่านมาในต้นเดือนนี้เอง ว่าเขาป่วยหนักเป็นมะเร็งที่ตับในขั้นสุดท้าย

ทางการจีนพยายามยื้อชีวิตเขาไว้ในช่วงประชุม G20 เพื่อไม่ให้เกิดข่าวการเสียชีวิตของเขา ขณะที่ประธานาธิบดีสี ของจีนกำลังกระทบไหล่กับผู้นำโลกอีก 19 ประเทศ

อังเกลา แมร์เคิล ได้เรียกร้องพร้อมๆ กับอีกหลายๆ องค์กรและผู้นำโลก ขอให้ส่งเขามารับการรักษาตัวระยะสุดท้ายที่เยอรมนีหรือสหรัฐฯ แต่ทางการจีนไม่ยินยอมเด็ดขาด

เขาจากไปในไม่กี่วัน หลังข่าวนี้ออกมา ท่ามกลางเสียงประณามจากทั่วโลกว่า จีนไม่ได้ดูแลสุขภาพเขาตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นมะเร็ง

ทางการจีนรีบทำพิธีเผาร่างของเขา แล้วนำอังคารไปลอยในทะเล เพื่อไม่ให้มีศาลหรือหลุมศพเก็บอัฐิของเขา เพราะเกรงว่าจะมีผู้คนไปเคารพบูชา

แม้เขาจะเคยถูกทางการจีนกล่าวหาว่า อาจารย์หลิว เป็นผู้นิยมตะวันตก และได้รับการสนับสนุน NED (National Endowment for Democracy ของสหรัฐฯ)

แต่เขาก็ไม่ได้สู้แล้วรวยจนมีบ้านช่องเป็นล้านๆ บาทแบบผู้นำต่อสู้ของไทยบางคน ที่เคยเก็บผักบุ้งริมรั้วมหาวิทยาลัยมากินและกล่าวเหยียดหยามครูบาอาจารย์ของตนว่า ไม่เคยรู้หรอกว่าความรู้สึกเป็นอย่างไรเมื่อได้กำเงินสดๆ ถึง (ร้อยหรือพัน) ล้านบาท แล้วมีบ้านช่องห้องหอที่หามาได้จากการไปหลอกชาวบ้านมาเดินขบวน แล้วแอบยักยอกส่วนแบ่งค่าอาหารหัวละเป็นหลายร้อย (ถึง 1 พันบาท) เพื่อสร้างฐานะตนเองให้ร่ำรวยบนน้ำตาของเพื่อนร่วมชาติที่กำลังรอความหวังที่ถูกหลอกลวง บางคนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หรือร.ร.นานาชาติในประเทศไทย ที่ค่าเรียนแพงหูฉี่ ก็เพราะโกงชาวบ้านที่หลอกมาเดินขบวน

ช่างต่างกับอาจารย์หลิว เสี่ยวปอ อย่างเทียบกันไม่ได้ทีเดียว พวกที่ชอบตบตาโกหกพกลม หลอกลวงประชาชนในแต่ละวันแต่ทำท่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ช่างต่างกับอาจารย์หลิว เสี่ยวปอ ที่อุทิศหมดทุกหยาดหยดจนวาระสุดท้ายเพื่อการต่อสู้หรือเพื่อเพื่อนร่วมชาติของตนเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น