xs
xsm
sm
md
lg

ซัดรัฐบาลออกกม.ไม่รอบคอบ ทำแรงงานต่างด้าวป่วนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"ไก่อู"ยันรัฐบาลใส่ใจปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว พร้อมรับฟังความเห็นผู้ประกอบการ แนะต้องร่วมกันแก้ไขทั้งระบบ ยืนยันดูแลแรงงานไทยเท่าเทียม วอนอย่าหลงเชื่อวาทกรรมโจมตีรัฐ "องอาจ"แนะรัฐบาลเร่งคุยเพื่อนบ้าน ลดขั้นตอนทำแรงงานให้ถูกกม. "อุเทน" ชี้ออก ม.44 เว้นบางมาตราในพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว สะท้อนความสะเพร่าของฝ่ายกฎหมาย-เนติบริกร ทำ คสช.ต้องขายขี้หน้าอีกครั้ง แรงงานพม่ายังคงเดินทางกลับบ้านเกิดผ่านด่านฯ แม่สอด-เมียวดี ต่อเนื่องวันละเป็นหมื่นๆ คน ทั้งกลับไปร่วมงานบุญเข้าพรรษา หนีผลกระทบกฎหมายแรงงานใหม่ไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา (1-2 ก.ค.)บรรดาแรงงานชาวพม่า จากพื้นที่ชั้นใน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มหาชัย แหล่งจ้างงานคนงานต่างด้าว ต่างพากันเดินทางกลับบ้านเกิด ผ่านด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก-เมียวดี ประเทศพม่ากันอย่างต่อเนื่อง วันละไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 คน ทั้งเพื่อหนีผลกระทบจาก กม.แรงงานฉบับใหม่ และกลับไปร่วมเทศกาลงานบุญเข้าพรรษา กับญาติพี่น้อง

พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผกก.ตม.แม่สอด พ.ต.อ.ภาสกร กลั่นหวาน ผกก.สภ.แม่สอด พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองได้นำอาหาร น้ำดื่ม ขนมไปมอบให้แก่แรงงานชาวพม่า ที่ด่านตม.แม่สอด ก่อนที่จะมีการส่งกลับไปยังประเทศพม่า ตามหลักสิทธิมนุษยชน

พ.ต.อ.แมน กล่าวว่า ไทย-พม่า ได้มีความร่วมมือกันเพื่อให้การเดินทางกลับของแรงงานชาวพม่าเป็นไปอย่างเรียบร้อย นับจากวันนี้ไป จะมีการเดินทางกลับทางช่องทางด่านถาวร สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 ด่านแม่สอด-เมียวดี ตามขั้นตอนทางกฎหมายทุกอย่าง ก่อนจะส่งให้ด่านตม.เมียวดี รับตัวไป

**อย่าดึงปัญหาแรงงานเป็นเรื่องการเมือง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงข้อกังวลของภาคเอกชน เกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยจะใช้ ม.44 ชะลอ หรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน 120 วัน เพราะนายจ้าง และลูกจ้าง เตรียมตัวไม่ทัน แต่มาตราที่เหลือ ยังคงบังคับใช้อยู่โดยในสัปดาห์นี้ทุกอย่างจะเรียบร้อย ขอทุกฝ่ายอย่าได้กังวล แรงงานต่างด้าวยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

"ยืนยันว่า รัฐบาลเคารพในพันธะกรณีที่ทำไว้กับประเทศต่างๆ และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ให้การใช้ หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.คนต่างด้าว เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามการออกกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ"

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานทุกคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย หรือแรงงานต่างด้าว ภายใต้หลักมนุษยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงฝากให้สติแก่สังคมว่า อย่าหลงเชื่อวาทกรรมที่กล่าวอ้างว่า รัฐบาลเอาใจแรงงานต่างด้าว ไม่สนใจแรงงานไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานไทยราว 38.3 ล้านคน ทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ 17 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 21.3 ล้านคน ไม่นิยมทำงานบางอย่าง ทำให้แรงงานขาดแคลน เช่น งานกรรมกร ก่อสร้าง ประมง เกษตร คนรับใช้ในบ้าน ฯลฯ จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำแทน ดังนั้น ไม่อยากให้มองการแก้ปัญหา เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรมองถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ พันธะสัญญาต่างๆ ที่แต่ละประเทศมีร่วมกัน และเราจะต้อง เดินหน้าแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

** แนะรัฐบาลร่งคุยกับเพื่อนบ้าน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้ารัฐบาลจัดให้มีศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่รัฐบาลได้ออกมายืนยันว่า จัดตั้งไม่ได้ เพราะขัดต่อบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา รวมไปถึงพันธสัญญาไอยูยู จะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย

"แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนนับล้านคน จะสามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในระยะเวลา 120 วัน ได้ทันหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้ต้องกลับไปยังประเทศของตน เพื่อทำเรื่อง และผ่านเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน และมีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 20,000 บาท"

สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในขณะนี้ คือเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งเร่งเจรจาแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อขจัดข้อยุ่งยากต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว สามารถกลับเข้ามาทำงานกับนายจ้างคนเดิมได้ เพราะถ้าต้องดำเนินการตามกฎหมาย และต้องใช้เวลา 1-2 เดือน นายจ้างอาจไม่สามารถรอได้

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเข้มงวดไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานเข้าไปหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยให้มีการหาประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเวลานี้ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก

** ลุกลี้ลุกลนออกกม.จนต้องขายหน้า

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ได้ว่าสร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว จำนวนมาก จึงมีการใช้อำนาจ มาตรา 44 หักล้างกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้ โดยอ้างว่าเพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัวนั้น สะท้อนว่า การเขียน และประกาศใช้ พ.ร.ก.ครั้งนี้ ขาดการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เป็นการเขียนกฎหมายแบบคิดเอง เออเอง จนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ หรือเศรษฐกิจอย่างมากในเวลาเพียงไม่กี่วัน

การที่รัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ เพื่อหวังเอาใจทางสหรัฐอเมริกา ทั้งในการปรับสถานะประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report)ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น หรือเพื่อภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก เพราะนายกฯมีกำหนดการไปเยือนสหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า ทั้งในส่วนของรายงานค้ามนุษย์ ก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายอย่างเร่งรีบ กระชั้นจนเกินไป จึงไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว กลับมีผลกระทบในภาคธุรกิจ จนต้องใช้ มาตรา 44 ซ้อนมาอีก กลายเป็นเล่นตลกให้นานาชาติหัวเราะ เมื่อเป็นเช่นนี้นายกฯ ก็ต้องเตรียมคำอธิบายในการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯให้ดี

"ต้องโทษทั้งคนให้นโยบาย และผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะพวกเนติบริกร ที่รับผิดชอบในการออกร่าง และออกตัวบทกฎหมาย ที่ทำให้ คสช.ต้องขายหน้า เสื่อมศรัทธาอีกครั้ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น