รองหัวหน้าพรรค ปชป. มอง รบ. เร่งคลอด พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ส่งผลกระทบวงกว้าง จนต้องใช้ ม.44 แก้เฉพาะหน้า กังวล 120 วัน ให้จดทะเบียนทันหรือไม่ แนะเร่งเจรจาเพื่อนบ้านลดขั้นตอน แก้กฎต่างๆ ขจัดข้อยุ่งยาก เพื่อให้ต่างด้าวกลับมาทำงานตามเดิม เข้ม จนท. ห้ามหาผลประโยชน์
วันนี้ (2 ก.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทลงโทษที่สูงเกินไป มีผลใช้บังคับทันทีจ่อว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มวิถีชุมชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว จนรัฐบาลต้องใช้คำสั่งคสช. ตาม ม.44 ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 120 วัน ในมาตรา 101, 102, 122 เพื่อให้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องว่า
ถ้ารัฐบาลจัดให้มีศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่รัฐบาลได้ออกมายืนยันว่าจัดตั้งไม่ได้ เพราะขัดต่อบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา รวมไปถึงพันธสัญญา ไอยูยู จะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย
ตนมีความกังวลว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนมากนับล้านคน จะสามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในระยะเวลา 120 วัน ได้ทันหรือไม่ เพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ต้องกลับไปยังประเทศของตนเพื่อทำเรื่อง และผ่านเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1 - 2 เดือน และมีค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 20,000 บาท
สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในขณะนี้ ก็คือ เร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งเร่งเจรจาแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อขจัดข้อยุ่งยากต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยอยู่แล้วสามารถกลับเข้ามาทำงานกับนายจ้างคนเดิมได้ เพราะถ้าต้องดำเนินการตามกฎหมาย และต้องใช้เวลา 1 - 2 เดือน นายจ้างอาจไม่สามารถรอได้ และงานบางประเภทก็ไม่มีคนไทยสนใจจะทำ
นอกจากนั้น รัฐบาลต้องเข้มงวดไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานเข้าไปหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยให้มีการหาประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเวลานี้จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายหนักขึ้น เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว